10 เหตุผลการแยกตัวของสกอตแลนด์

บทความชิ้นนี้เรียบเรียงขึ้นจากข้อเขียนที่ชื่อ “Why vote YES for Scottish Independence?” ในเว็บไซต์ Independent Scotland ซึ่งรวบรวมฐานข้อมูล ทรรศนะ ความเห็น บทวิเคราะห์ ฯลฯ อันจำเป็นต่อการพิจารณาประเด็นเรื่องการแยกตัวของสกอตแลนด์ฯ อย่างรอบด้าน

ผมมุ่งหมายที่จะเขียน บทความนี้ขึ้นอย่างกะทันหัน (ซึ่งหากมีข้อผิดพลาดส่วนใดก็ขออภัยล่วงหน้า) เพื่อร่วมทำความเข้าใจสถานการณ์ของประเด็นนี้ และ “อ่านประสบการณ์” บางแง่มุมที่สกอตแลนด์ผ่านพบ ก่อนที่พวกเขาจะร่วมกันลงประชามติเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชจากสหราช อาณาจักรในวันพฤหัสฯ ที่จะถึงนี้ (18 กันยายน 2557)

ข้อเขียน  “Why vote YES for Scottish Independence?” ที่ผมหยิบยกขึ้นมานี้ อธิบายว่า มีเหตุผล ของการโหวต “YES” หรือลงประชามติให้แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรอยู่อย่างน้อย 10 ข้อด้วยกัน ดังนี้

1. ชาวสกอตสามารถยึดกุมความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองตนเองได้มากขึ้นผ่านการยักย้ายอำนาจปกครองมาไว้ที่สกอตแลนด์

การแยกตัวเป็นเอกราช หมายถึง โอกาสที่เปิดกว้างต่อการถ่ายโอนภารกิจหน้าที่บริหารบ้านเมืองเข้ามาอยู่ใน อำนาจของประชาชนท้องถิ่นมากขึ้นในกรอบประชาธิปไตย แทนที่จะต้องยอมรับชะตากรรมจากแผนการ/นโยบายที่กำหนดจากรัฐสภาแห่งสหราช อาณาจักรส่วนกลางเป็นหลักดังที่เป็นมา การที่อำนาจปกครองทั้งหมดเคลื่อนคายมาสู่สกอตแลนด์ ไม่ใช่เพียงการกระจายอำนาจในรูปของรัฐบาลท้องถิ่นดังที่เป็นอยู่ ก็หมายถึง โอกาสที่ชาวสกอตจะสามารถกำหนดชะตาอนาคตของตนเองในการสร้างสกอตแลนด์ที่เป็น ธรรมมากขึ้นกว่าเก่าได้

2. ชาวสกอตจะได้รัฐบาลที่ตนเองเลือก

ในการเลือกตั้งทั่วไป สหราชอาณาจักรครั้งล่าสุด นำมาซึ่งรัฐบาลผสมที่มีพวกอนุรักษ์นิยมเป็นแกนนำ แม้ชาวสกอตส่วนใหญ่จะลงคะแนนให้กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ปัญหาไม่ใช่ว่าตัวแทนของสกอตแพ้การเลือกตั้งระดับชาติ แต่ปัญหาอยู่ที่ต่อให้รวบรวมคะแนนเสียงเป็นเอกภาพเพียงใดก็ไม่อาจเอาชนะ เสียงของพวกอังกฤษได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสัดส่วนประชากรสกอตนั้นมีจำนวนน้อยกว่าอังกฤษอยู่มาก ถึง 1 ต่อ 10 (ประชากรอังกฤษมีอยู่ราว 53 ล้านคน ส่วนสกอตมีอยู่ราว 5 ล้านคน) ดังนั้น มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์ของชาวสกอตจะได้ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นตัวแทนเรียกร้องสิ่งที่สกอตแลนด์ต้องการ

3. ไม่ต้องสร้างอาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไป

ภายใต้สนธิสัญญาไม่ แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ สหราชอาณาจักรคาดหวังให้ประเทศอื่นทุกประเทศลงนามในข้อตกลงเพื่อปลดอาวุธ นิวเคลียร์ เว้นแต่ตัวเองที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทดสอบอาวุธ ครั้งแรกใน ค.ศ. 1952 และก็มีแผนที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มในสกอตแลนด์ ความไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่แคมเปญโหวต “YES” ชูขึ้นนำเสนอ

4. ปกป้องน้ำมันสำรองในทะเลเหนือ

มีข้อมูลที่พอยืนยัน ได้ว่า น้ำมันสำรองในทะเลเหนือ (North Sea Oil) แถบสกอตแลนด์นั้นมีอยู่ในปริมาณมาก ทว่ารายได้จากน้ำมันส่วนใหญ่กลับส่งต่อโดยตรงกลับไปยังรัฐบาลส่วนกลาง มีการประมาณการณ์ว่า ใน ค.ศ. 2008 รัฐบาลกลางเก็บเกี่ยวรายได้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปจากพื้นที่สกอตแลนด์เป็น มูลค่าถึง 129,000 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินต่อหัวประชากรก็คือ ตกคนละ 2,300 ปอนด์ จริงๆ ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่ถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนการต่อสู้ ก่อนหน้านี้ ในทศวรรษที่ 1970 พรรคชาตินิยมสกอต (Scottish National Party) ก็เคยชูประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชมาแล้วเช่นกัน ภายใต้สโลแกนว่า “มันเป็นน้ำมันของสกอตแลนด์(ว้อยย)” (It’s Scotland’s Oil) และมีการอ้างกันว่า หากสกอตแลนด์เป็นเอกราชและบริหารจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเอง พวกเขาจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในยุโรปเลยทีเดียว

5. สกอตแลนด์มีทรัพยากรและแหล่งรายได้ที่ถึงพร้อมสำหรับพึ่งพาตนเอง

ในช่วงที่ผ่านมา มีมายาคติค่อนข้างมากที่ถูกตอกย้ำจากฝ่ายรณรงค์โหวต “NO” ไม่แยกตัวว่า หากสกอตแลนด์ประกาศเอกราช จะไม่สามารถดูแลพึ่งพาตนเองได้ในทางการคลังการงบประมาณ แต่ฝ่ายรณรงค์โหวต “YES” ตามที่ข้อเขียนชิ้นนี้กล่าวถึง ก็ได้แก้ต่างโดยข้อมูลชุดต่างๆ และอ้างว่า แม้กระทั่งฝ่ายสหภาพแรงงานก็เห็นด้วยว่าสกอตแลนด์มีความถึงพร้อมทางการเงิน ที่จะประกาศเอกราช ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นเอกราชยังจะทำให้ชาวสกอตมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

6. ความเชื่อว่าเอกราชจะนำมาซึ่งการจ้างงานที่มากขึ้น

ด้วยสถานการณ์ความ ต้องการใช้พลังงานและไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในยุโรป สกอตแลนด์มีศักยภาพที่จะเป็นประเทศผู้นำการขายในระดับโลกได้ โดยพวกเขามีทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถแปลงเปลี่ยนไปเป็นพลังงานยั่งยืนอยู่ มาก ซึ่งการผลิตก็จะช่วยสร้างการจ้างงานได้เยอะ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสกอตแลนด์เป็นเอกราช บรรดาสำนักงานจัดบริการสาธารณะและสำนักงานอื่นๆ ของรัฐ ก็จะต้องถูกก่อตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นอีกช่องทางสำหรับการขยายตัวของการจ้างงานให้กับชาวสกอต

7. ความเชื่อว่าสกอตแลนด์และชาวสกอตแต่ละคนจะได้รับประโยชน์มากขึ้น

นอกจากเรื่องของการ จ้างงาน ผู้สนับสนุนให้โหวต “YES” จำนวนหนึ่งยังเชื่อว่า รัฐบาลใหม่แห่งสกอตแลนด์ที่เป็นเอกราชได้มีแผนโครงการเรียบร้อยแล้วในการ พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข และยกระดับสถานการณ์ความเป็นอยู่ของผู้รับเงินบำนาญและกลุ่มบุคคลที่มีลูก ต้องเลี้ยงดู โดยออกมาตรการต่างๆ อาทิ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น

8. ความเชื่อว่าค่าจ้างจะมีความเสมอภาคมากขึ้น

ระดับความแตกต่างของ ค่าจ้างระหว่างในลอนดอนกับในสกอตแลนด์นั้นแตกต่างกันอย่างมหาศาล ช่องว่างตรงนี้ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ และในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน กลุ่มคนที่ร่ำรวยก็มีแนวโน้มจะรวยมากขึ้น ส่วนกลุ่มคนที่ยากจนก็มีแนวโน้มจะจนลงไปกว่าเดิม ผู้สนับสนุนให้โหวต “YES” อีกจำนวนหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นกลุ่มเดียวกับข้อ 7) มีความหวังว่า การประกาศเอกราชจะนำมาซึ่งอิสระในการกำหนดแนวทางต่อเรื่องนี้ใหม่ให้มันถูก ต้อง โดยการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้หดแคบลง ด้วยหวังใจว่า รายได้ที่ไม่เหลื่อมล้ำกันมากนักจะไม่นำมาซึ่งความโลภ ความริษยาที่มากเกินไประหว่างผู้คน (อันนอกจากจะเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาชญากรรมแล้ว ยังเป็นปัจจัยตัดสะบั้นสายสัมพันธ์ของสังคม)

9. ความเชื่อว่า สกอตแลนด์กับอังกฤษ มีมุมมองทางสังคมและการเมืองตรงข้ามกันคนละขั้ว

ตามที่กล่าวมาทั้ง 8 ข้อ ก็พอจะเห็นภาพมุมมองของกลุ่มผู้สนับสนุนโหวต “YES” อยู่พอสมควรแล้วว่า พวกเขามองจุดยืนทางการเมืองของตนเองไปในเชิงมุ่งเน้นสร้างสังคมที่เสมอภาค มากขึ้น และเป็นธรรมมากขึ้นต่อสังคมโดยรวม หรือพูดง่ายๆ ว่า มีกลิ่นไปของพวกฝ่ายซ้ายเสียมาก ขณะที่ก็มองว่าสังคมการเมืองที่ดำรงอยู่ของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะที่ถูกกำหนดชี้นำจากเสียงข้างมากของอังกฤษ ไม่สามารถตอบโจทย์ความมุ่งหมายประการดังกล่าวของพวกเขาได้ อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของมุมมองการเมืองชนิดตรงกันข้ามกันที่กล่าวถึงนี้ แม้จะเป็นเหตุผลข้อหนึ่งของการสนับสนุนการแยกตัว แต่กลุ่มผู้สนับสนุนโหวต “YES” ก็ยืนยันชัดเจนว่า มิได้เป็นปัจจัยที่จะต้องเอาไปเกลียดชังกัน พวกเขายืนยันว่า ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ความแตกต่างของมุมมองทางการเมืองทำให้กระบวนการ บริหารจัดการเรื่องสาธารณะต่างๆ จำต้องประนีประนอมระหว่างกลุ่มก้อนอุดมการณ์ต่างๆ ในสังคมเสียเยอะเกินไป สังคมก็เลยเดินรุดหน้าไปได้ไม่รวดเร็วนัก พวกเขาจึงโยนคำถามไปว่า เช่นนั้นแล้ว ทำไมไม่ต่างคนต่างเดินไปตามทางของตน เพื่อจะตัดสินใจนโยบายตามหลักการ ฐานคิดของตนเองอย่างเต็มที่เสียเลยล่ะ? โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ยังเคารพกันและกัน สกอตแลนด์กับอังกฤษจะยังคงเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันได้ต่อไป

10. ความเข้าใจว่าการโหวต “NO” จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงกว่าเดิม

ไม่ว่าจะโหวต “YES” หรือ “NO” ความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเกิดขึ้นอยู่ดี การโหวต “NO” จะนำมาซึ่งการไร้อำนาจควบคุมความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ ที่ยังคงผูกติดอยู่กับรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร การโหวตโนเป็นการแสดงออกถึงความไม่มั่นใจในรัฐบาลท้องถิ่นสกอตแลนด์ที่ดำรง อยู่ และจึงอาจนำไปสู่เหตุผลข้ออ้างของรัฐบาลกลางในการริบอำนาจกลับไปมากขึ้น หากการแยกตัวไม่สำเร็จ ผู้คนในสกอตแลนด์จึงอาจไม่ได้กลับไปมีอำนาจปกครองตนเองเท่าเก่า แต่อาจจะน้อยลงกว่าเก่าเลยก็ได้ในแง่นี้

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ เหตุผล 10 ข้อ ซึ่งบางข้อก็เป็นความเชื่อ ความเข้าใจ ที่มาจากประสบการณ์ของสกอตแลนด์ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐบาลกลางแห่งสห ราชอาณาจักร บางข้ออาจดูไม่สมเหตุสมผล บางข้ออาจดูเป็นความตื่นตระหนกกังวล แต่บางข้อก็ดูมีน้ำหนักน่าคิดเลยทีเดียว

แต่ไม่ว่าผลการลง ประชามติในวันพฤหัสฯ นี้จะออกมาเป็นเช่นไร เชื่อได้ว่า กรณีสกอตแลนด์ย่อมกระพือกระแสข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจปกครองตนเองของเขต พื้นที่ต่างๆ ให้คึกคักกันมากขึ้นแน่นอน

และ เป็นหนึ่งในกรณีที่สมควรนำมาศึกษาถอดบทเรียนเชิงลึกให้มากขึ้น เผื่อเอาไว้ในคลังความรู้สำหรับบางประเทศที่ “การลงประชามติแยกประเทศ” เป็นภาพความเป็นไปได้ (Scenario) อันหนึ่งของสถานการณ์ปัญหายุ่งยากที่พวกเขาเผชิญมายาวนาน