ผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิเข้าขอขมา “จุฬาราชมนตรี” ย้ำไม่ติดใจเอาความ

ผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิเข้าพบจุฬาราชมนตรี ขอขมากรณีเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตรวจค้น ซึ่งถูกระบุว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและกระทำเกินกว่าเหตุ จุฬาราชมนตรี ย้ำไม่ได้ถือสาติดใจเอาความ

วานนี้ (4 มิ.ย.) นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และผู้บริหาร บริษัท ล็อกซเลย์ เข้าพบนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เพื่อขอขมาถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตรวจความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ทำการตรวจค้น จุฬาราชมนตรีซึ่งนั่งอยู่บนรถเข็นโดยใช้เครื่องมือตรวจที่ศีรษะและผ้าสะระ บั่น (ผ้าโพกศีรษะ) ของท่านจุฬาราชมนตรี ซึ่งถูกระบุว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและกระทำเกินกว่าเหตุ

นายอาศิส จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น ตนไม่ได้ถือสาติดใจเอาความ และขอขอบคุณทางท่าอากาศยานไทย ที่มาพบตนเพื่อขอโทษ สำหรับภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไป ซึ่งมีชาวมุสลิมหลายคนมองว่าเป็นภาพไม่เหมาะสม เป็นการไม่ให้เกียรติจุฬาราชมนตรีนั้น แต่สำหรับตนไม่คิดอะไร เพราะเข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่นายประสาน ศรีเจริญ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยืนยันว่าท่านจุฬาราชมนตรีไม่ได้ถือโทษหรือถือสาหาความแต่อย่างใด รวมทั้งภาพที่แพร่ออกไปตามโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้น ทางสำนักจุฬาราชมนตรีไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ แต่อาจมาจากพี่น้องชาวมุสลิมที่เห็นเหตุการณ์ได้บันทึกภาพไว้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในลักษณะนี้ คือเจ้าหน้าที่สนามบินได้ตรวจผ้าโพกศีรษะท่านจุฬาราชมนตรี ได้เกิดขึ้นมาแล้วถึง 4 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ท่านจุฬาราชมนตรีใช้หลักศาสนาอิสลามในการให้อภัยมาตลอด

“ทั้งนี้ ผ้าสะระบั่นถือเป็นสัญลักษณ์ของคนที่มีคุณธรรม เป็นผ้าที่ใช้สำหรับพันศีรษะ ซึ่งถือว่าเป็นของสูงของชาวมุสลิม เมื่อของสูงสิ่งนี้มาอยู่บนศีรษะของผู้นำศาสนา จะยิ่งมีความสูงส่งมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกของชาวมุสลิมในประเทศไทย และได้รับสถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นายประสานกล่าว

ทางสำนักจุฬาราชมนตรียืนยันว่าหลังจากมีการขอขมาแล้วก็ต้องการให้ปัญหาดัง กล่าวยุติด้วยดี เพื่อไม่ให้มีการนำประเด็นนี้ไปขยายผลใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวไม่ ว่าทางการเมือง ศาสนา หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลใด

นอกจากนี้ ทางสำนักจุฬาราชมนตรียังฝากประเด็นสำคัญขอให้ ทอท.รับไปดำเนินการปรับปรุง โดยเฉพาะในส่วนของการจัดพื้นที่สำหรับละหมาดของชาวมุสลิมในท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่ง ขอให้มีพื้นที่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาเพียงพอและเหมาะสม เนื่องจากปลายปีนี้ซึ่งประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคจะก้าวสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งประชากรในภูมิภาคที่มีประมาณ 600 ล้านคนนั้น ในจำนวนดังกล่าว 300 ล้านคนก็เป็นชาวมุสลิม ดังนั้น เมื่อมีการเดินทางผ่านเข้าประเทศไทยก็จำเป็นต้องมีพื้นที่ในการทำกิจกรรม ด้านศาสนาด้วย

ด้านนายนิตินัย กล่าวว่า ทางท่าอากาศยานไทยถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนสำหรับการให้บริการสำหรับผู้ที่นับถือต่างศาสนา ซึ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอาจไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่ท่าอากาศยานไทยยินดีจะกลับไปปรับปรุงการทำงานในรายละเอียดทางศาสนาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อีกทั้ง ท่าอากาศยานไทยได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวมาก หลังจากนี้คณะผู้บริหารจะหารือในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป