ต้องยอมรับว่าความเจริญก้าวหน้าของศิลปวิทยาการและศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่บนโลก เกิดจากการที่มนุษย์มีการสร้างอารยธรรมบนดินแดนถิ่นที่อยู่ของตนเอง อารยธรรมต่างๆ ล้วนมีรากเหง้ามาจากการที่ในสังคมหนึ่งเกิดนักคิดที่สนใจศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในศาสตร์ด้านต่างๆ มีการประดิษฐ์คิดค้นตกผลึกเป็นผลสำเร็จจนนำไปสู่การสร้างความเจริญทางสังคม และมีการขยายขอบเขตความรู้นั้นๆ ออกไปสู่วงกว้างจนกลายเป็นที่ยอมรับจากสังคมอื่น ส่งผลให้มีการรับเอาอิทธิพลทางอารยธรรมนั้นๆ ไปใช้อย่างกว้างขวาง การสร้างอารยธรรมจึงมิใช่แค่การรวมตัวกันเป็นครอบครัว ชนเผ่า หรือแค่การสร้างวัฒนธรรมประเพณีเพื่อสร้างอัตลักษณ์ในท้องถิ่นของตนแต่เพียงเท่านั้น
มีนักคิดจำนวนมากบนโลกที่ผลงานของพวกเขาเหล่านั้นทรงอิทธิพลต่อสังคมทั้งในยุคร่วมสมัยตนและยุคต่อๆ มา ซึ่งเราสามารถรับรู้และศึกษาได้จากผลงานตำราวิชาการที่พวกเขาเขียนขึ้น หรือได้จากร่องรอยของสถาปัตยกรรมที่พวกเขาสร้าง หรือแม้กระทั่งเป็นวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมาและยังคงดำรงอยู่ในสังคมจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสดามุฮัมมัดคือในหนึ่งในบรรดานักคิดที่มีอิทธิพลต่อผู้คนจำนวนมากตั้งแต่ยุคสมัยของท่านจวบจนปัจจุบัน เพราะในแต่ละวันจะมีผู้คนจำนวนเกือบสองพันล้านคนทั่วโลกเอ่ยนามของท่านวันละ 5 เวลาในขณะที่ทำการนมาซ ศาสดามุฮัมมัดคือบุรุษผู้ที่ใช้คำสอนทางศาสนาในการวางรากฐานอารยธรรมอิสลาม แม้ว่าท่านจะถือกำเนิดจากแผ่นดินที่ไร้อารยธรรม อีกทั้งยังมิได้รับการศึกษามาจากผู้ใด แต่สามารถทำให้ศาสนาอิสลามคือ 1 ใน 3 ศาสนาหลักที่สำคัญของโลกในยุคปัจจุบันได้อย่างภาคภูมิ
อารยธรรมอิสลามที่มีรากฐานมาจากศาสนาอิสลามหาใช่ก่อกำเนิดแนวความคิดทางด้านปรัชญาเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถผลิตนักปราชญ์นักวิชาการในด้านศาสตร์วิชาการต่างๆ เช่น Jabir Ibn Hayyan (ค.ศ.721 – ค.ศ.813) ที่มีงานเขียนหลากหลายในภาษาอาหรับและครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย เช่น จักรวาลวิทยา ตัวเลขวิทยา โหราศาสตร์ การแพทย์ และปรัชญา, Muhummad Ibn Zakariya Al – Razi (ค.ศ.854 – ค.ศ.925) เป็นนักปราชญ์ที่เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การแพทย์ และยังเขียนตำราด้านตรรกะวิทยา ดาราศาสตร์และไวยากรณ์ และยังเป็นผู้ค้นพบแอลกอฮอล์อีกด้วย, Abu Ali Sina หรือที่รู้จักกันในนาม Avicenna (ค.ศ. 980 – ค.ศ.1037) ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแพทย์ที่สำคัญที่สุด เป็นนักดาราศาสตร์ นักคิดนักเขียนแห่งยุคทองของอิสลาม และเป็นบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ , Al -Biruni (ค.ศ.973 – ค.ศ.1050) ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่และมีความเชี่ยวชาญในด้านฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา อีกทั้งยังโดดเด่นในฐานะนักประวัติศาสตร์และนักภาษาศาสตร์ , Ibn Al – Haytham (ค.ศ.965 –ค.ศ.1040) เป็นนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ของยุคทองของอิสลาม ถูกยกย่องให้เป็น “เป็นบิดาแห่งทัศนศาสตร์สมัยใหม่” เขามีส่วนสำคัญกับหลักการของทัศนศาสตร์และการรับรู้ภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเขาคือตำรา “Kitab Al – Manazir “Book of Optics” เขียนในช่วงปีค.ศ. 1011–1021 เขายังมีงานเขียนด้านปรัชญาเทววิทยาและยารักษาโรคอีกด้วย , Nasir Al-Din Al-Tusi (ค.ศ.1201-ค.ศ.1274) เป็นนักปรัชญา แพทย์ นักวิทยาศาสตร์และนักการศาสนา เขามักถูกมองว่าเป็นผู้สร้างวิชาตรีโกณมิติ และยังเป็นนักดาราศาสตร์ที่สร้างหอดูดาวขึ้นในเมืองมะรอเกฮ์ (ซึ่งอยู่ในประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) Ibn Battuta (ค.ศ.1304 – ค.ศ. 1377) เป็นมุสลิมชาวเบอร์เบอร์โมร็อกโกเป็นนักภูมิศาสตร์ , ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือและนักสำรวจที่เดินทางไปทั่วโลกทั้งดินแดนที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม รวมไปถึงเอเชียกลาง อินเดีย จีน จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือที่มีชื่อเสียงของเขาชื่อ”อัตตุห์ฟะฮ์” Ibn Khaldun ( ค.ศ.1332 – ค.ศ.1406) นักวิชาการชาวตูนิเซียเชื้อสายอันดาลูเซีย เป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ เขาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้บุกเบิกสาขาวิชาสมัยใหม่ของนักประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography) เศรษฐศาสตร์ประชากรศาสตร์ และสังคมวิทยา ซึ่งได้นำเสนอแนวคิดด้านสังคมวิทยาไว้ก่อน ออกุสต์ กองต์ (Auguste Comte ค.ศ. 1798 – ค.ศ. 1857 นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส) บุคคลผู้ที่ถูกรู้จักในนามของบิดาแห่งสังคมวิทยาในโลกตะวันตก
อารยธรรมคืออะไร
(อารยธรรม civilization) หมายถึงความเจริญก้าวหน้าซึ่งเกิดจากการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมเมืองของมนุษย์ มีการศึกษาด้านวิชาการต่างๆ มีการสร้างขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีให้ยึดถือปฏิบัติร่วมกัน มีโครงสร้างของสังคมที่เป็นระเบียบ มีกฎเกณฑ์ให้สมาชิกในสังคมปฏิบัติตาม มีความก้าวหน้าเกี่ยวกับทักษะทางด้านเทคนิคต่างๆ เช่น การใช้โลหะ การสร้างสถาปัตยกรรม และประติมากรรม จนกลายเป็นสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองและสร้างอิทธิพลจนสามารถส่งต่ออารยธรรมนั้นไปสู่ดินแดนอื่นๆ ได้ กล่าวกันว่าอารยธรรมยุคแรกเริ่มของโลกหรืออารยธรรมสมัยโบราณมักเกิดในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ เช่นในบริเวณราบลุ่มแม่น้ำใหญ่ 4 แห่งสำคัญคือ
1.ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ – แหล่งกำเนิดอารยธรรมอียิปต์โบราณ
2.ที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส – แหล่งกำเนิดอารยธรรมเมโสโปเตเมีย
3.ที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห(แม่น้ำเหลือง) -แหล่งกำเนิดอารยธรรมจีน
4.ที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ – แหล่งกำเนิดอารยธรรมอินเดีย
ภูมิศาสตร์คาบสมุทรอาหรับและอารยธรรมที่รายล้อม
คาบสมุทรอาหรับ (Arabian Peninsula) มีชายฝั่งทางตะวันตกติดกับทะเลแดงและแหลมซีนาย ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ติดกับทะเลอาหรับ (ส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย) ทางตะวันออกเฉียงเหนือติดอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน ทางทิศเหนือติดกับอิรักและจอร์แดน กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอาหรับ มีวิถีชีวิตแบบอิสระ เป็นสังคมแบบชนเผ่าและย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายและภูเขา จึงจำเป็นต้องใช้สภาพภูมิอากาศเป็นเกณฑ์ในการเคลื่อนกองคาราวานของชนเผ่าต่างๆเพื่อใหัเอื้อต่อการทำการเกษตรและการเลี้ยงปศุสัตว์ (ปัจจุบันคือประเทศซาอุดีอาระเบีย เยเมน โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน คูเวต)
หากเรามองตามที่ตั้งในแผนที่ ดินแดนที่รายล้อมคาบสมุทรอาหรับทั้งในยุคร่วมสมัยและในยุคก่อนหน้า ล้วนแล้วแต่มีสังคมที่พัฒนาจนกลายเป็นการสร้างอารยธรรมที่เจริญก้าวหน้าในดินแดนของตนเองแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotemia) หรือ “ดินแดนระหว่างแม่น้ำ” (land between the rivers) มีที่ตั้งระหว่างแม่น้ำไทกริส (Tigris) ทางตะวันออก และแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) ทางตะวันตก เริ่มต้นเมื่อ4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช (B.C.) ครอบคลุมดินแดนในประเทศอิรักและซีเรียในปัจจุบัน มีอารยธรรมที่เป็นที่รู้จัก เช่น การประดิษฐ์ตัวอักษรรูปลิ่ม (คูนิฟอร์ม-Cuneiform) ของชาวสุเมเรียน , “ประมวลกฎหมายแห่งฮัมมูราบี” (Code of Hammurabi) ที่มีลักษณะการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน , “สวนลอยแห่งเมืองบาบิโลน” (The hanging gardens of Babylon) ที่ถือเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ
อารยธรรมอียิปต์โบราณ (Ancient egyptian civilization) เริ่มขึ้นประมาณ 3,150 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา เป็นอารยธรรมที่มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ เช่นความเจริญทางด้านวิชาการ ด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ด้านการแพทย์ และมีพัฒนาการสืบเนื่องต่อมาหลายพันปี ซึ่งมีมหาพีระมิดแห่งกิซ่า (The Great Pyramid of Giza สร้างเมื่อ2,600 B.C.) ที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นอารยธรรมที่มีรากเหง้าสืบย้อนไปถึงเรื่องราวของศาสดาโมเสสในศาสนายูดาห์ ผู้นำบัญญัติ 10 ประการจากพระผู้เป็นเจ้ามาเผยแผ่ ตามคำบอกเล่าในคัมภีร์ฮิบรู (พันธสัญญาเดิม – Old Testament ในบท Exodus ซึ่งเป็นคัมภีร์ของวงศ์วานอิสราเอลโบราณ และเป็นส่วนแรกของคัมภีร์ไบเบิ้ล New Testment)
อารยธรรมกรีกโบราณ (Civillization of Ancient Greece) ก่อกำเนิดขึ้นครั้งแรกคืออารยธรรมอีเจียนเมื่อประมาณ 3,000-1,550 ปีก่อนคริสต์ศักราช พัฒนามาเป็นอารยธรรมกรุงทรอยหรืออารยธรรมโฮเมอร์เมื่อประมาณ 900 ปีก่อนคริสต์ศักราช (เนื่องจากการศึกษาอารยธรรมช่วงนี้มีเพียงบทประพันธ์ของโฮเมอร์คืออีเลียดและโอดิสซี) แต่เป็นที่รู้จักทั่วไปจริงๆ คืออารยธรรมกรีกยุคคลาสสิค (ประมาณ 750 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเอเธนส์ (Athens) เมืองหลวงของประเทศกรีซในปัจจุบัน ช่วง 500 ปีก่อนคริสต์ศักราชถือเป็นยุคทองแห่งเอเธนส์ เนื่องจากมีการสร้างสรรค์ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรมที่โด่งดังมากมาย ในยุคนี้มีนักปราชญ์ที่โด่งดังของโลก เช่น เฮโรโดตุส Herodotus 484-420 B.C.) ,โซเครตีส( Socrates 470-399 B.C.) , เพลโต (Plato 328-247 B.C.) , อริสโตเติ้ล (Aristotle 384-322 B.C.) มีจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่คือพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great, 356-323 B.C.) ผู้มีชื่อเสียงในด้านการสงครามและสามารถพิชิตดินแดนออกไปได้อย่างกว้างขวาง
อารยธรรมเปอร์เซีย (Persian Empire / Persia Civilization 539 ปีก่อนคริสตกาล) มีศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศอิหร่านในปัจจุบัน มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของความเจริญรุ่งเรืองของโลกยุคโบราณมีอิทธิพลและสามารถขยายดินแดนได้อย่างกว้างขวางภายใต้การปกครองของพระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great; ประสูติราวปีที่ 600 หรือ 576 ก่อนคริสตกาลสวรรคต 530 ก่อนคริสตกาล) เป็นปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิอาคีเมนิค Achaemenid Empire) รุ่งเรืองที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าดาไรอัสมหาราช (Darius the Great 550 – 486 ปีก่อนคริสตกาล) และ พระเจ้าเซอร์ซีสมหาราช (Xerxes the Great 519 – 465 ปีก่อนคริสตกาล) ผู้ที่ถือว่าเป็นศัตรูคนสำคัญของรัฐกรีกโบราณ อารยธรรมเปอร์เซียได้พัฒนาความคิดความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าขึ้นได้เป็นระบบศาสนาขึ้นมา คือ “ศาสนาโซโรอัสเตอร์” (Zoroaster) ศาสนาโซโรอัสเตอร์นี้บางครั้งเรียกว่า “ลัทธิบูชาไฟ” โบราณสถานสำคัญที่เป็นหลักฐานยืนยันความยิ่งใหญ่คือ Persepolis ตั้งอยู่เมือง Shiraz ในประเทศอิหร่าน
อารยธรรมโรมัน (Roman Civillization) มีที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปยุโรป (กรุงโรม ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน) อารยธรรมโรมันได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมกรีก และผสมผสานกับวิชาการความรู้ของตนเองโดยที่พยายามคิดค้นและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้จักรวรรดิโรมันเจริญก้าวหน้าทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ในยุคจักรวรรดิโรมันสามารถขยายอาณาจักรไปได้กว้างไกล เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกเสื่อมลงในคริสตวรรษที่ 3 จักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine the Great ประมาณค.ศ. 272 – ค.ศ. 337) จึงย้ายเมืองหลวงไปทางฝั่งตะวันออก ก่อตั้งเป็นจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) ที่มีการปกครองต่อเนื่องยาวนานถึง 1,123 ปี
อารยธรรมอินเดีย หรือ “แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ” (Indus Civilization) เป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ มีต้นกำเนิดเมื่อประมาณ 2,500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นการสร้างอารยธรรมของชนพื้นเมืองเดิม ที่เรียกว่า “ทราวิฑ” หรือพวกดราวิเดียน (Dravidian) จนถึง 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราชเมื่อพวกชนกลุ่มอินโด–อารยัน (Indo-Aryan) อพยพเข้ามาอารยธรรมในดินแดนนี้ได้มีพัฒนาการจนกลายเป็นแบบแผนของคนในอนุทวีปอินเดียสืบต่อมาโดยมีการพบหลักฐานเป็นซากเมืองโบราณ 2 แห่ง ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ คือ เมืองโมเฮนโจ ดาโร (Mohenjo Daro) ทางตอนใต้ของประเทศปากีสถาน , เมืองฮารับปา (Harappa) ในแคว้นปันจาบประเทศปากีสถานในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (Brahmin – Hinduism ประมาณ 1,500-2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ศาสนาพุทธ (Buddhism ประมาณ 588 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และศาสนาเชน Jainism) ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดียเป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้งหก ที่เกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า อีกยังมีพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมริยะ (Ashoka the Great, Indian Emperor of the Maurya Dynasty 304 – 232 BC.) บุคคลที่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่
อารยธรรมจีนเกิดขึ้นครั้งแรกที่ลุ่มแม่น้ำฮวงโห (Yellow River) และแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze river) หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าอารยธรรมจีนในยุคต้นๆ ถือกำเนิดในช่วง 2,100-1,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีการสถาปนาราชวงศ์ต่างๆ ขึ้นมาปกครอง รากฐานที่สำคัญของอารยธรรมจีนคือ การสร้างระบบภาษาเขียน และการพัฒนาแนวคิดลัทธิขงจื๊อหรือศาสนาขงจื๊อ (Confucianism – 551 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เน้นด้านคุณธรรม – จริยธรรม และปรัชญาของจีน ซึ่งพัฒนาจากการสอนของนักปรัชญาชาวจีนนามว่าขงจื๊อ (551 – 479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) , ลัทธิเต๋า หรือ ศาสนาเต๋า (Taoism) เป็นปรัชญาและศาสนาที่เน้นการใช้ชีวิตกลมกลืนกับเต๋า ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในสำนักปรัชญาจีนส่วนใหญ่ เน้นความเรียบง่ายไม่เน้นเรื่องพิธีกรรมซับซ้อนและระเบียบสังคมอย่างลัทธิขงจื๊อ ศาสนาเต๋ากำเนิดขึ้นราวศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราชโดยรับแนวคิดทางจักรวาลวิทยาจากสำนักหยินหยาง และแนวปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับวัฏจักรของธรรมชาติตามคัมภีร์อี้จิง ตัวอย่างความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมจีน เช่น ในยุคของฉินซีฮ่องเต้ (Qin Shihuang 260 – 210 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีการบูรณะและสร้างกำแพงเมืองจีน (Great Wall of China) เพื่อป้องกันศัตรูจนได้รับการบันทึกเป็นสิ่งมหัศจรรย์1ใน7ของโลกยุคกลาง
ศาสดามุฮัมมัดกับศาสนาอิสลามบนคาบสมุทรอาหรับ
ศาสดามุฮัมมัดประสูติเมื่อปี ค.ศ.570 ที่เมืองมักกะฮ์ บิดาชื่ออับดุลลอฮ์ แห่งตระกูลนบีฮาชิม สืบเชื้อสายมาจากเผ่ากุเรชซึ่งเป็นเผ่าที่มีอิทธิพลและเป็นที่รู้จักกว้างขวางในเมืองมักกะฮ์ บิดาของท่านถึงแก่กรรมก่อนที่ท่านศาสดาจะประสูติ เมื่ออายุได้ 6 ปีมารดาก็ถึงแก่กรรม ท่านจึงต้องไปอาศัยอยู่กับปู่ หลังจากที่ปู่เสียชีวิตท่านก็ได้ไปอาศัยอยู่กับลุงซึ่งเป็นพ่อค้า และได้ติดตามลุงของท่านไปค้าขายยังสถานที่ต่างๆ แม้ท่านจะมิได้รับการศึกษาจากอาจารย์หรือสถาบันใด แต่การเดินทางทำให้ท่านได้ประสบการณ์และความรู้มากมาย เนื่องจากได้พบปะผู้คนหลากหลาย เมื่อท่านศาสดาเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มได้ไปทำงานกับท่านหญิงคอดียะฮ์ ที่อายุแก่กว่าท่าน 15 ปี ท่านหญิงเป็นสตรีที่มั่งคั่ง และมีจิตใจดี เมื่อท่านศาสดาแสดงความสามารถในการทำงานเป็นอย่างดี รวมทั้งมีความซื่อสัตย์ ทำให้ท่านหญิงคอดียะฮ์มีความชื่นชมเลื่อมใส จึงตกลงแต่งงานด้วยในขณะที่ท่านศาสดามีอายุได้ 25 ปี ท่านศาสดาเป็นบุคคลที่ชอบครุ่นคิดเกี่ยวกับวิถีชีวิตและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้ท่านศาสดามักจะหาที่สงบๆ เพื่อตรึกตรองถึงสิ่งต่างๆ ซึ่งสถานที่ท่านไปเป็นประจำคือถ้ำบนยอดเขาฮีรอ เมื่อท่านอายุ 40 ปีในวันหนึ่งขณะที่ท่านศาสดากำลังวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านศาสดาก็ได้รับประกาศิตมาแจ้งให้ท่านทราบว่าแท้จริงแล้วท่านคือ ”รอซูล” หรืออัครทูตของพระผู้เป็นเจ้าที่ถูกส่งมาเพื่อนำพามนุษยชาติให้รอดพ้นจากหายนะและชี้ทางนำไปสู่ความผาสุกที่แท้จริงโดยมีวิวรณ์จากฟากฟ้า (วะฮ์ยู) ที่มีการแจ้งตามวาระต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 23 ปี โดยโองการเหล่านี้ถูกรวบรวมขึ้นเป็นเล่มเรียกว่า “คัมภีร์อัลกุรอาน”
ในคาบสมุทรอาหรับขณะนั้น ผู้คนส่วนใหญ่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบที่ต่างกัน ทั้งบรรดาเจว็ดรูปเคารพจากชนเผ่าต่างๆ หรือพระเจ้า 360 องค์ที่อยู่ในสถานกะบะฮ์ การที่จะให้ผู้คนที่มีความเชื่อความศรัทธาที่ต่างกันหันมานับถือพระเจ้าองค์เดียวเป็นเรื่องที่ยากมาก ท่านศาสดาจึงเริ่มจากการเผยแผ่ศาสนาให้กับคนใกล้ตัวโดยเริ่มจากคนใกล้ชิด บุคคลแรกที่เข้ารับอิสลามคือท่านหญิงคอดียะฮ์ ภรรยาของท่านและท่านอาลี (ลูกพี่ลูกน้องและบุตรเขยของท่านศาสดาในเวลาต่อมา) และยังมีท่านอบูบักร ท่านอุมัรที่ถือเป็นสาวกในช่วงแรกๆ ของการเผยแผ่ศาสนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ผ่านไป 3 ปีท่านศาสดาจึงเริ่มเผยแผ่ศาสนาต่อผู้คนในวงกว้าง ทำให้ท่านได้รับผลกระทบจากเผ่ากุเรซที่เสียผลประโยชน์จากการควบคุมดูแลสถานกะบะฮ์ อันเป็นสถานที่ที่ชนเผ่าในคาบสมุทรอาหรับจากทั่วทุกสารทิศในช่วงเวลานั้นต้องมาทำพิธีกรรมแสดงความเคารพต่อพระผู้เป็นเจ้าที่แต่ละชนเผ่าเลื่อมใสศรัทธา ดังนั้นจึงมีการกีดกัน กลั่นแกล้ง ข่มเหง ต่อต้านไม่ทำการค้ากับผู้ที่เข้ารับอิสลาม มีการใช้ความรุนแรงทารุณกรรมต่อบรรดาสาวกของท่าน ทำให้ท่านศาสดาต้องแนะนำให้สาวกจำนวนหนึ่งที่ตกเป็นเป้าการปองร้ายหลบหนีไปยังอบิสซีเนีย (ประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน) เนื่องจากท่านศาสดาทราบข่าวว่ากษัตริย์ชาวคริสต์ผู้ปกครองที่นั่นมีความเมตตา และมีความยุติธรรม ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีที่ 5 ของการประกาศศาสนา
ในปีที่ 13 (ค.ศ. 622) หลังจากถูกแต่งตั้งเป็นศาสดา สถานการณ์ในมักกะฮ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากการต่อต้านการเผยแผ่ศาสนาอิสลามของกลุ่มต่างๆ จนถึงขั้นมีการวางแผนลอบสังหารท่านศาสดา ทำให้ศาสดาต้องอพยพไปเมืองมะดินะฮ์ (ชื่อเดิมคือเมืองยัซริบ เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีชาวเมืองมะดินะฮ์ที่มาเคารพสักการะสถานกะบะฮ์ ได้ฟังเสียงอ่านคัมภีร์อัลกุรอานของท่านศาสดาจึงเกิดความเลื่อมใส เมื่อกลับไปยังเมืองมะดินะฮ์จึงได้เล่าต่อๆ กันถึงความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าและบอกเล่าเรื่องราวของศาสดามุฮัมมัดผู้ส่งสาส์น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวเมืองมะดินะฮ์ต้องการให้ท่านศาสดาไปเป็นผู้ชี้นำทางศาสนาที่นั่น ท่านศาสดาจึงได้ส่งมุศอับ ไปมะดินะฮ์เพื่อทำหน้าที่สอนบทบัญญัติอิสลามและอัลกุรอานที่เมืองมะดินะฮ์และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี) โดยคืนที่ท่านศาสดาอพยพ ท่านอาลีได้นอนแทนที่ท่านศาสดาเพื่อถ่วงเวลาให้ท่านศาสดาล่วงหน้าออกจากเมืองไปก่อนและทำให้กลุ่มคนที่จะลอบสังหารเข้าใจว่าท่านศาสดายังพำนักอยู่ในบ้าน (ในช่วงเวลาของการอพยพนี่เองที่นับเป็นปีที่ 1 ของฮิจเราะฮ์ศักราช)
การลงหลักปักฐานศาสนาอิสลามในเมืองมะดินะฮ์ของท่านศาสดามีรากฐานที่มั่นคง โดยใช้คัมภีร์อัลกุรอาน ที่มิได้เป็นเพียงบทบัญญัติทางศาสนา แต่ยังเป็นประมวลกฎหมายที่ใช้วางบทบัญญัติทางสังคม ทำให้นอกจากท่านศาสดาจะเป็นประมุขทางศาสนาแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้ปกครองเมืองอีกด้วย ในเวลาต่อมาหลังจากที่มีความพร้อมในทุกด้านแล้ว ท่านศาสดาจึงยกทัพไปที่เมืองมักกะฮ์ (หลังจากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มคนที่ไม่พอใจการประกาศศาสนาของท่านศาสดารวบรวมกองกำลังและยกทัพมาทำสงครามที่เมืองมะดินะฮ์หลายครั้งเพื่อป้องกันมิให้ศาสนาอิสลามที่ท่านศาสดานำมาเผยแพร่ได้รับความนิยมมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองท่านศาสดาจึงจำเป็นต้องทำสงครามเพื่อปกป้องศาสนาอิสลามจากผู้รุกราน ) เมื่อได้รับชัยชนะในเมืองมักกะฮ์ท่านศาสดาสั่งให้ทุบทำลายบรรดาเจว็ด เทวรูป ที่รายล้อมสถานกะบะฮ์ และให้มีการทำนมาซ โดยให้บิลาล ทาสผิวสีทำการอาซานเชิญชวนให้ผู้คนเข้าร่วมนมาซ นั่นแสดงให้เห็นว่าศาสนาอิสลามให้ความเสมอภาคโดยไม่แบ่งชนชั้นและชาติพันธุ์ และการเข้ายึดครองนี้ทำให้สถานกะบะฮ์กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามเนื่องจากสถานกะบะฮ์ถือเป็นรากเหง้าของศาสนาอิสลามที่มีที่มาเกี่ยวเนื่องกับศาสนาอัมบราฮัมก่อนหน้านี้ (ศาสนาอัมบราฮัม Abrahamic religions ที่มีความเชื่อร่วมกันว่าพระเป็นเจ้ามีองค์เดียวได้แก่ศาสนายูดาห์ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม ทั้งสามศาสนาถือว่าอับราฮัมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสนาตน) ภายหลังจากนั้นยังมีการทำสงครามอึกหลายสิบครั้งกับกลุ่มต่างๆ ที่สูญเสียประโยชน์จากการประกาศศาสนาของท่านศาสดา โดยเป้าหมายหลักคือการปกป้องศาสนา จนกระทั่งศาสนาอิสลามสามารถขยายตัวและทำการเผยแผ่ได้อย่างกว้างขวาง ท่านศาสดาเสียชีวิตในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 11 (ค.ศ. 632) ใชัเวลา 23 ปี (มักกะฮ์ 13 ปี มะดินะฮ์ 10 ปี) หลังจากได้รับภารกิจจากพระผู้เป็นเจ้าในการประกาศศาสนาอิสลามให้เป็นที่รู้จัก สร้างรัฐที่มั่นคงในเมืองมะดินะฮ์และทำให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ได้รับการยอมรับไปทั่วทั้งคาบสมุทรอาหรับ
ศาสดามุฮัมมัดคือบุรุษผู้ที่รับภารกิจที่ยากที่สุดในบรรดาศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า
ในขณะที่สังคมกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่มืดบอดหลงทาง คำสอนของศาสนาอิสลามที่เน้นหนักในด้านความศรัทธา การปฏิบัติ การใช้ความคิด ตลอดจนด้านการขัดเกลาจิตวิญญาณได้สั่นสะเทือนรากฐานของสังคมและได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าที่ป่าเถื่อนไร้อารยธรรมบนคาบสมุทรอาหรับ (เช่น มีความเชื่อเรื่องการฆ่าฝังดินบุตรสาวหลังการถือกำเนิด) แสงสว่างแห่งทางนำที่ถูกจุดขึ้นบนผืนทะเลทรายที่แห้งแล้งไร้อารยธรรมเปรียบเสมือนเป็นการปฏิวัติทางด้านจริยธรรมและมโนคติทั้งหมดของมนุษย์อย่างลึกซึ้งภายใต้ร่มเงาของเอกเทวนิยม
ศาสนาอิสลามมีการปฏิรูปสังคมที่ลึกซึ้ง ซึ่งมีจุดเริ่มมาจากบุคคลท่านเดียว บุคคลผู้ไม่มีแหล่งวัตถุดิบที่อยู่ภายใต้การควบคุม บุคคลผู้ไม่เคยเกี่ยวข้องกับศาสตร์วิชาการความรู้ในด้านต่างๆ บุคคลผู้ไม่เคยศึกษาเรียนรู้สิ่งใดจากผู้อื่น แต่สามารถนำพาศาสนาอิสลามให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง หากมองในเชิงประวัติศาสตร์สังคมวิทยา ไม่มีการปฏิวัติใดที่ประสบความสำเร็จหากขาดปัจจัยเบื้องต้นที่กล่าวมา แต่การปฏิวัติสังคมของท่านศาสดากลับบรรลุผลทั้งๆ ที่ขาดปัจจัยที่เอื้ออำนวย นั่นย่อมบ่งบอกถึงคุณลักษณะพิเศษของท่านศาสดาในฐานะศาสนทูตท่านสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า
เปรียบเทียบภารกิจของท่านศาสดามุฮัมมัดกับบรรดาศาสดาและนักคิดคนสำคัญของโลก
หากเราศึกษาชีวประวัติของบรรดาศาสดาที่อุบัติขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธ มหาวีระในศาสนาเชน พระเยซูในศาสนาคริสต์ โมเสสในศาสนายูดาห์ หรือแม้แต่บรรดานักคิดคนสำคัญของโลก เช่น เล่าซือ ขงจื๊อ โซเครติส เพลโต อริสโตเติ้ล ที่ล้วนมีแนวคิดที่ตัองการปฏิรูปสังคม ทุกท่านที่เอ่ยนามมามีการทำงานที่หนักหน่วงและยากลำบากแทบทั้งสิ้นกว่าที่แนวคิดของพวกท่านเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับ แม้จะพบเจอกับอุปสรรคนานับปการแต่การทำงานนั้นยังเป็นการทำงานบนดินแดนที่มีอารยธรรมรองรับ บนพื้นฐานที่ผู้คนมีการศึกษา มีศิลปวิทยาการที่ยิ่งใหญ่ จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าศาสดามุฮัมมัดคือบุรุษผู้ที่ได้ทำภารกิจที่ยากที่สุดในการปฏิรูปสังคม และตามทัศนคติของผู้ที่เชื่อในพระเจ้า ท่านได้นำสาส์นของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นสาส์นสุดท้ายลงมาเผยแพร่ให้กับมวลมนุษยชาติ เป็นภารกิจที่เริ่มต้นการทำงานบนแผ่นดินที่ไร้อารยธรรม ต้องต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการกว่าที่ศาสนาอิสลามจะยืนหยัดอย่างมั่นคงเป็นที่ยอมรับและสามารถขยายอิทธิพลในยุคต่อๆมาได้อย่างกว้างขวาง เช่น ดังจะเห็นได้จาก ในยุคราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ( ค.ศ.661 – ค.ศ.750) ที่ศาสนาอิสลามเข้าไปมีอิทธิพลแคว้นกอร์โดบาในสเปน , ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และแอฟริกา – ในยุคราชวงศ์อับบาสิต (ค.ศ.749 – ค.ศ.1258) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่แบกแดด ก็มีนักปราชญ์ นักวิชาการอิสลามที่มีความเชี่ยวชาญในด้านศาสตร์ๆต่างเกิดขึ้น เช่น Muhummad Ibn Zakariya Al – Razi (ค.ศ.854 – ค.ศ.925) , Ibn Al – Haytham (ค.ศ.965 –ค.ศ.1040) , Abu Ali Sina หรือ Avicenna(ค.ศ.980 – ค.ศ.1037) , Al -Biruni (ค.ศ.973 – ค.ศ.1050) ซึ่งแสดงออกให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการศึกษาและการเรียนรู้สิ่งต่างๆตามคำสอนของศาสดามุฮัมมัดที่กล่าวว่า “จงแสวงหาความรู้ตั้งแต่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ / จงแสวงหาความรู้แม้ว่าจะไกลถึงเมืองจีน” – ในยุคราชวงศ์ฟาติมียะฮ์ (ค.ศ.909 – ค.ศ.1171) ที่มีศูนย์กลางในไคโร มีอำนาจการปกครองทางภาคเหนือของแอฟริกาและเอเชียตะวันออกกลางรวมถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ได้มีการสถาปนามหาวิทยาลัยอัล อัสฮัร (Al Azhar) ที่ถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่สร้างขึ้นเมื่อปีฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 359 (ค.ศ. 970) – จักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire ค.ศ.1453 – ค.ศ. 1916) ที่สร้างความยิ่งใหญ่โดยสามารถล่มสลายจักรวรรดิไบเซนไทน์ (Byzentine Empire) ลงได้ปิดฉากจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่ครองอำนาจมากว่า1,123 ปีอย่างสมบูรณ์ จากนั้นอารยธรรมที่มีรากฐานมาจากศาสนาอิสลามยังสามารถขยายอิทธิพลไปยังดินแดนอนุทวีป เอเชียกลาง จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยในช่วงเวลาต่อมาอีกด้วย
ย้อนไปเมื่อกว่า 1,400 ปีที่แล้ว มีบุรุษผู้หนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นมาบนดินแดนที่ไร้ซึ่งอารยธรรม บิดามารดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก มิได้รับการศึกษาจากผู้ใดและสถาบันใด ดำเนินชีวิตท่ามกลางทะเลทรายที่แห้งแล้งภายใต้สังคมที่ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ มีแต่ความป่าเถื่อน วุ่นวาย วันหนึ่งบุคคลผู้นี้ได้รับภารกิจในการส่งสาส์นเพื่อชี้นำทางมวลมนุษยชาติไปสู่ความผาสุกที่แท้จริงจากพระผู้เป็นเจ้า ก็ต้องพบเจอกับบททดสอบและอุปสรรคมากมายจากผู้ที่ต่อต้านกว่าที่ภารกิจจะได้รับการยอมรับ เนื่องจากเป็นภารกิจที่ปฏิบัติบนดินแดนที่ไม่มีอารยธรรมรองรับ ไม่มีพื้นฐานการศึกษาของคนในสังคม เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ลงบนผืนดินที่เสื่อมโทรมแห้งแล้ง ขาดน้ำ ขาดปุ๋ย ซึ่งเป็นงานที่ยากและต้องใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าจะเห็นผล แต่บุรุษที่มีนามว่า ”มุฮัมมัด” สามารถทำภารกิจนี้ได้สำเร็จ
การสร้างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่บนโลกส่วนใหญ่มุ่งเน้นการฉายภาพให้เห็นเด่นชัดในด้านวัตถุ เช่น การสร้างสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และการสร้างความเจริญทางสังคม เมื่อกาลเวลาผ่านไปอารยธรรมเหล่านั้นก็เสื่อมโทรมลง สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นล้วนกลายเป็นซากปรักหักพัง กลายเป็นห้องเก็บของที่ใช้คำสวยหรูเรียกกันว่าพิพิธภัณฑ์ แต่ศาสนาอิสลามที่เป็นรากฐานของอารยธรรมอิสลามมิได้มุ่งเน้นแค่เพียงความเจริญทางด้านวัตถุและสังคมเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นในด้านการขัดเกลาจิตวิญญาน มุ่งเน้นในเรื่องการสร้างศีลธรรมและจริยธรรมที่ต้องมีต่อสังคม เพื่อนำพามวลมนุษยชาติไปสู่จุดหมายปลายทางที่สูงส่ง คำสอนของท่านศาสดาแห่งอิสลามที่ได้รับสาส์นมาจากพระผู้เป็นเจ้าคือสาส์นที่เป็นดั่งรากฐานของอารยธรรมที่ก่อขึ้นภายใต้มโนสำนึกของผู้ศรัทธาทุกคน คืออารยธรรมที่ไม่มีวันเสื่อมสลาย คืออารยธรรมที่จะเจริญงอกงามในหัวใจไปชั่วนิรันดร์…….