ชายที่อายุมากที่สุดในกาซ่า : “ย้อนกลับไปในวันเก่า บ้านของคุณเป็นของคุณ”

ในบ้านของผู้ลี้ภัยทุกคนในฉนวนกาซ่า มีเรื่องราวของหลายครอบครัวที่ถูกบีบให้ต้องทิ้งบ้านเรือนของพวกเขา ทรัพย์สิน และแม้กระทั่งลูกๆ ของพวกเขาเอง

(ภาพ) รอญับ อัล-ทูม ชายที่อายุมากที่สุดในปาเลสไตน์, 127 ปี, อาศัยอยู่ในเมืองจาบาเลียทางตอนเหนือของฉนวนกาซ่า

middleeasteye – ในวัยหนุ่ม รอญับ อัล-ทูม ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นชายที่มีอายุมากที่สุดในฉนวนกาซ่า เคยท่องเที่ยวไปอย่างอิสระทั่วปาเลสไตน์และซีเรียด้วยอูฐ ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของกาซ่า เขาอายุ 127 ปี เขาได้เห็นการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมาน การอยู่ใต้อาณัติของอังกฤษ การแบ่งแยกปาเลสไตน์ออกเป็นสามส่วน (ฉนวนกาซ่าภายใต้การปกครองของอียิปต์, เวสต์แบงก์ ภายใต้การปกครองของจอร์แดน และเยรูซาเล็ม อยู่ในการดูแลของสหประชาชาติ) การสร้างรัฐอิสราเอลในปี 1948 และการปกครองของคณะปกครองปาเลสไตน์ ที่ตามมาด้วยการปกครองของฮามาส

เมื่อครั้งที่เขาเป็นชายหนุ่ม อัล-ทูตเคยเดินทางจากปาเลสไตน์ไปซีเรียและเลบานอนด้วยอูฐของเขา ในสมัยนั้น ราวๆ ปลายศตวรรษที่สิบเก้า ดินแดนแห่งนั้นมีชื่อว่า มหาอาณาจักรซีเรีย (Greater Syria) “ผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจาบาเลีย ทางตอนเหนือของฉนวนกาซ่า ไปซื้อของจากมักดาลา ในฤดูหนาว ผมเดินทางไปทำงานเป็นชาวไร่ที่เบียร์ชีบา ในฤดูร้อน ผมเคยเดินทางไปไฮฟาเพื่อไปหาผู้หญิงที่ผมรัก”

อัล-ทูตเล่าว่า “ผมสามารถเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งได้อย่างสะดวกง่ายดายมากๆ มันไม่มีเขตแดนระหว่างเมืองต่างๆ ของปาเลสไตน์หรือประเทศเพื่อนๆ บ้านอื่นๆ ไม่ว่าผมจะไปที่ไหน ผมจะได้พบกับเสรีภาพและสันติภาพ” เขาบอกกับสำนักข่าว MEE

อัล-ทูมเคยเดินทางไปทั่วปาเลสไตน์ด้วยเท้าโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาต ไม่เหมือนทุกวันนี้ “ผมเคยเดินไปทั่วทุกเมืองของปาเลสไตน์โดยไม่พบเห็นจุดตรวจหรือด่านข้ามเขตแดนเลยสักแห่งเดียว ไม่มีทหารอิสราเอลที่คอยดูหมิ่นชาวปาเลสไตน์ ทุกวันศุกร์ผมเคยไปละหมาดที่เยรูซาเล็ม ตอนนี้ผมต้องขออนุญาตจากผู้ยึดครอง” เขากล่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้า

อัล-ทูมมีหลานชาย 300 คน และเขาใช้เวลาของเขาไปกับการเล่าให้พวกเขาฟังถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ปาเลสไตน์เคยเป็น “ย้อนกลับไปในวันเก่า บ้านของคุณยังเป็นของคุณ ลูกๆ อยู่รอบตัวคุณ และพวกเขามีความหวังสำหรับอนาคต แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว คุณอาจจะสูญเสียทุกอย่างไปในนาทีใดก็ได้โดยไม่มีเหตุผลใดๆ” ชายชรากล่าว

ปี 1948 เป็นความทรงจำที่ร้ายกาจสำหรับชาวปาเลสไตน์ทุกคน บางคนถูกบีบให้ต้องทิ้งที่ดินของตัวเองเพราะกลัวว่าจะถูกยิง และคนอื่นๆ ก็จะให้ที่ดินของตัวเองแก่ผู้ลี้ภัยรายใหม่ที่ทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลังเพื่อเอาชีวิตรอด “ผมเห็นจาบาเลียถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน เมื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์เข้ามาตั้งค่ายผู้ลี้ภัยแห่งแรก” อัล-ทูมกล่าว “ชาวกาซ่าเสนอให้ทุกอย่างที่พวกเขาสามารถให้ได้เพื่อช่วยเหลือพวกเขา ขณะที่สหประชาชาติไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาในทุกด้านที่จำเป็นได้”

(ภาพ) พวงกุญแจที่ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ได้เก็บรักษาไว้จากบ้านของพวกเขาที่ถูกยึดไปในปี 1948
(ภาพ) พวงกุญแจที่ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ได้เก็บรักษาไว้จากบ้านของพวกเขาที่ถูกยึดไปในปี 1948

ประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะในเรื่องราวส่วนใหญ่ที่เราได้อ่าน มันเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่เริ่มต้นของกาลเวลา และไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะต่อชาติพันธุ์หนึ่ง ศาสนา หรือความขัดแย้งใดโดยเฉพาะ สำหรับชาวปาเลสไตน์ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ถูกเขียนที่ผู้สูงวัยยังคงจำได้อย่างชัดเจนเป็นความมืดมัวสำหรับเราทุกคน คนรุ่นก่อนหน้าเราได้เห็นประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปทีละปีด้วยตัวเอง เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาไม่ใช่บทตอนที่พวกเขาถูกสอน แต่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับมัน ก่อนจะเริ่มมีการถอนหายใจและน้ำตา คุณสามารถมองเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของนักปราชญ์เหล่านี้เมื่อถามถึงบ้านและชีวิตอันสงบสุขก่อนเหตุการณ์นัคบาในปี 1948

ประวัติศาสตร์ปาเลสไตน์ผ่านจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งเมื่อผู้สูงวัยเล่าเรื่องราวของครอบครัวให้หลานๆ ของพวกเขาฟัง ซึ่งพวกเขาก็จะเล่าให้ลูกๆ ของพวกเขาต่อไป ในบ้านผู้ลี้ภัยทุกคนในฉนวนกาซ่า มีเรื่องราวของหลายครอบครัวที่ถูกบีบให้ต้องทิ้งบ้านเรือนของพวกเขา เพื่อนบ้าน ทรัพย์สิน และในบางรายที่เร่งรีบถึงขนาดทิ้งลูกๆ ของตนไว้

จากสถิติของสหประชาชาติ 66เปอร์เซ็นต์ของชาวพื้นเมืองปาเลสไตน์ถูกบีบให้ทิ้งบ้านเรือน หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่นซีเรีย เลบานอน จอร์แดน และแน่นอน ฉนวนกาซ่าของปาเลสไตน์ ปัจจุบัน 67เปอร์เซ็นต์ของชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าคือผู้ลี้ภัยที่ต้องการจะกลับบ้านของพวกเขา

ความทรงจำอันเจ็บปวด

ซาเดีย ทาร์ทูรี, 83, เป็นผู้ลี้ภัยชาวปาเลไสตน์จากหมู่บ้านฟาลูจา ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองกาซ่าซิตี้ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร เพียงแค่ข้ามเขตแดนปัจจุบันของอิสราเอลไป เธอเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงชีวิตของเธอในฟาลูจาเมื่อเธอครั้งที่เธอยังเนเด็กหญิงตัวเล็กๆ ประมาณ 10 ขวบ ด้วยรอยยิ้มที่สดใส เธอจำเพื่อนชาวยิวของเธอได้ ที่เป็นลูกชายของช่างทองในท้องถิ่น “อ๋อ อบูเดวิด เขาเป็นเพื่อนที่ใจดี เขาเคยให้ช้อคโกแลตฉันทุกครั้งที่แม่ของฉันไปที่ร้านของพวกเขาเพื่อซื้อเครื่องเพชร เขาไม่ได้แสดงออกกับฉันถึงสิ่งใดเลยนอกจากความรัก” ซาเดียพูด

(ภาพ) ซาเดีย ทาร์ทูรี ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ อาศัยอยู่ในฉนวนกาซ่า
(ภาพ) ซาเดีย ทาร์ทูรี ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ อาศัยอยู่ในฉนวนกาซ่า

ก่อนเหตุการณ์นัคบาของปาเลสไตน์ ชาวมุสลิม ชาวคริสเตียน และชาวยิว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขโดยไม่มีภัยอันตรายใดๆ “พวกเราเป็นชาวนาชาวไร่และคนงานธรรมดาๆ ที่ไม่จำเป็นต้องถือปืน แต่ในวันนัคบา กลุ่มชาวยิวเริ่มโจมตีเราบนที่ดินของเราเอง ขู่ว่าจะฆ่าเราถ้าเราไม่ออกไป ชาวปาเลสไตน์ป้องกันตัวเอง แต่ไม้กับมีดจะไปสู้อะไรกับปืนได้?” ซาเดียกล่าว

ซาเดียเป็นลูกสาวคนเดียวของแม่ และเป็นเจ้าหญิงของครอบครัว พ่อของเธอมอบต้นอ่อนของต้นไม้ให้เธอต้นหนึ่ง และตั้งชื่อมันตามชื่อเธอ เธอปลูกมันที่หน้าบ้านของเธอในอัล-ฟัลลูจา

ในฐานะเด็กคนหนึ่ง ซาเดียได้เห็นฉากต่างๆ ที่แย่งความไร้เดียงสาของเธอไป ซาเดียต้องใช้เวลานานเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะนึกถึงความทรงจำของช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของเธอ “ฉันมองเห็นจุดเริ่มต้นของความแตกร้าวเมื่อคนกลุ่มใหม่เข้ายังที่ดินของเราและฆ่าโดยไม่สะทกสะท้าน ฉันเห็นผู้หญิงชาวปาเลสไตน์ซ่อนตัวอยู่กับฝูงสัตว์เลี้ยงเพื่อพวกเธอจะไม่ถูกข่มขืน ฉันเห็นคนหนุ่มขุดโพรงในพื้นดินและซ่อนตัวอยู่ใต้ดินเพื่อที่พวกเขาจะไม่ถูกฆ่า และฉันเห็นบางคนที่ทุ่มตัวไปอยู่กับศพของชาวปาเลสไตน์คนอื่นๆ” เธอแทบจะพูดไม่ได้อีกขณะที่น้ำตาไหลพราก ความปวดร้าวของความทรงจำเหล่านี้รู้สึกได้ชัดเจนในน้ำเสียงของเธอ

“เมื่อสงครามเริ่มขึ้น แม่และฉันเก็บรวบรวมทองเพื่อเอาไปด้วย แต่พ่อของฉันบอกว่าคงจะไม่กี่วันหรอกแล้วเราจะกลับมา เราซ่อนทองไว้ในเหยือกและฝังมันไว้ ไม่กี่วันหลังจากนั้น ฉันพบว่าตัวเองอยู่ในฉนวนกาซ่าในฐานะผู้ลี้ภัย ฉันรู้ในตอนนั้นว่าฉันได้เสียบ้านของฉันไปแล้ว” ซาเดียกล่าว

ชาวปาเลสไตน์หลายพันคนหนีไปฉนวนกาซ่าหลังวันนัคบา โดยทิ้งทรัพย์สินของพวกเขาไว้ เพราะคิดว่าอีกไม่นานพวกเขาจะได้กลับบ้าน “ฉันมาถึงกาซ่าเหมือนคนอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่มีอะไรเลยนอกจากเสื้อผ้าที่สวมอยู่ สำหรับครอบครัวของฉัน คุณสามารถพูดได้ว่าถึงอย่างไรเราก็โชคดีที่มีญาติในกาซ่าให้ปลอบประโลมหัวใจที่แตกสลายและความเศร้าเสียใจของเรา แต่เราเป็นครอบครัวที่จำเป็นต้องหาทางเอาชีวิตรอด แม่และฉันเคยไปที่เมืองคานยูนิสทางตอนใต้ของฉนวนกาซ่าเพื่อรับนมและอาหารหนึ่งมื้อต่อคนต่อวันจากสหประชาชาติ พี่น้องผู้ชายของฉันไปเป็นชาวประมง และความทุกข์โศกได้พรากพ่อของฉันไป” ซาเดียกล่าว

palestine4_0
(ภาพ) เอกสารหลักฐานของซาเดียที่เป็นหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของบ้าน 700 หลังในอัล-ฟาลูจา ของพ่อ

พี่ชายของซาเดียจัดการให้เธอได้รับอนุญาตจากอิสราเอลให้ไปเยี่ยมบ้านของเธอในช่วงปี 1970s เธอต้องการจะไปที่นั่นเหลือเกิน “ฉันวิ่งไปหาที่ตั้งของบ้านเรา และสิ่งแรกที่ฉันเห็นคือต้นไม้ที่ฉันปลูก มันกลายเป็นต้นไม้ใหญ่แล้ว ฉันนั่งลงใต้ร่มเงาของมันและรู้สึกสงบ” ซาเดียกล่าวพร้อมรอยยิ้มกว้างบนใบหน้า “แต่ความรู้สึกนั้นหายไปเมื่อฉันเห็นว่าบ้านของฉันถูกรื้อไปแล้ว”

บทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมในการรักษาประวัติศาสตร์บอกเล่า

เรื่องราวที่สะท้อนถึงเหตุการณ์จริงของประวัติศาสตร์ปาเลสไตน์ การยึดครองของอิสราเอล และชีวิตก่อนเหตุการณ์นัคบาปี 1948 ถูกต้องจัดเก็บเป็นเอกสารในหนังสือเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต แต่กระทรวงวัฒนธรรมของปาเลสไตน์ปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ ในการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าจากผู้สูงอายุที่ได้ประสบเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยตัวเอง

(ภาพ) หนังสือที่รวมเรื่องราวของชาวปาเลสไตน์หลายพันคน และบทความจากหนังสือพิมพ์ที่รวบรวมโดยศูนย์ประวัติศาสตร์บอกเล่าของปาเลสไตน์ (Palestinian Centre for Oral History)
(ภาพ) หนังสือที่รวมเรื่องราวของชาวปาเลสไตน์หลายพันคน และบทความจากหนังสือพิมพ์ที่รวบรวมโดยศูนย์ประวัติศาสตร์บอกเล่าของปาเลสไตน์ (Palestinian Centre for Oral History)

“กระทรวงวัฒนธรรมปาเลสไตน์ไม่มีบทบาทใดๆ ในการเก็บรักษาประวัติศาสตร์บอกเล่า” มุสตอฟา อัล-ซาวาฟ ปลัดกระทรวงบอกกับ MEE “มีองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้” เขากล่าวเสริม

คอลิด อัล-คอลิดี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ปาเลสไตน์ที่มหาวิทยาลัยอิสลามในกาซ่า และหัวหน้าศูนย์ประวัติศาสตร์บอกเล่าของปาเลสไตน์ บอกกับ MEE ว่า ทางศูนย์ได้ดำเนินการสัมภาษณ์ชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคนเพื่อสำรวจสิ่งที่พวกเขาเคยได้ประสบพบเห็นมา

“เราเริ่มต้นโครงการนี้ในปี 1999 เราได้ออกอากาศการสัมภาษณ์ประชาชนหลายร้อยคนที่ต้องหลบหนีออกจากบ้านของพวกเขาและเข้ามายังกาซ่า เราสัมภาษณ์บุคคลสำคัญทางการเมืองด้วย เช่น เชคอาห์เมด ยัซซีน ในการออกอากาศ 35 ชั่วโมง” เขากล่าว

palestine5
(ภาพ) การสัมภาษณ์ออกอากาศผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่เล่าถึงสิ่งที่เขาได้เห็นระหว่างเหตุการณ์นัคบา โดยศูนย์ประวัติศาสตร์บอกเล่าของปาเลสไตน์

ศาสตราจารย์อัล-คอลิดีมีบทบาทสำคัญในการรักษาประวัติศาสตร์บอกเล่าของปาเลสไตน์ “ผมขอให้นักศึกษาของผมสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในฉนวนกาซ่าเพื่อนำข้อมูลใหม่มาให้ผมเป็นรายงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาของพวกเขา” อัล-คอลิดีกล่าว
อัล-คอลิดีชี้ให้เห็นว่านัคบาเป็นปีสำคัญอย่งไรสำหรับชาวปาเลสไตน์เมื่อเขาสัมภาษณ์พวกเขาจำนวนมาก เขากล่าวว่าเขาสังเกตเห็นวิธีการที่ชาวปาเลสไตน์เปลี่ยนจากเจ้าของที่ดินผู้ร่ำรวยมาเป็นคนขออาหารเนื่องจากสงครามและการยึดครอง

 

—-

แปลจาก http://www.middleeasteye.net/in-depth/features/palestinian-oral-history-978259534