“การก่อการร้าย” : ความหมายอันคลุมเครือ (ตอน3-จบ)

บทความ ชิ้นนี้จะเป็นตอนสุดท้าย ที่จะเขียนถึงความยากลำบากในการแสวงหานิยามร่วมกันต่อคำว่า “การก่อการร้าย” จนกระทั่งคำๆ นี้ดูจะมีความหมายกำกวมคลุมเครือ ยากต่อการชี้ชัด และเปิดช่องโหว่ต่อการที่กลุ่มฝ่ายต่างๆ ทางการเมืองจะหยิบฉวยไปตีความใช้สอยตามเป้าประสงค์ในการต่อสู้ของตนเอง

ความยากประการที่สาม ของการนิยามคำว่า “การก่อการร้าย” เป็นปัญหาในเชิงปรัชญา กล่าวคือ การที่ “การก่อการร้าย” ถูกเอาไปใช้เพื่อลดทอนความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ อย่างกว้างขวางหลากหลาย นั่นแปลว่า ความหมายของคำๆ นี้ มีลักษณะเป็นอัตวิสัย (subjective) คนซึ่งแตกต่างกันย่อมมีมุมมองต่อความหมายของคำๆ นี้แตกต่างกัน ว่าอะไร หรือใครบ้างที่จัดเป็น “การก่อการร้าย/กลุ่มก่อการร้าย”

ด้วยเหตุนี้ การจะแสวงหานิยามสากลร่วมกันเกี่ยวกับคำว่า “การก่อการร้าย” ชนิดที่ทุกฝ่ายยอมรับ

จึงเป็นเรื่องที่มิอาจกระทำได้เหมือนกับการแสวงหาข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ผ่านกระบวนการสำรวจตรวจสอบอย่างเข้มข้น

ทั้งนี้ ก็เพราะนิยามของ “การก่อการร้าย” รวมไปถึงบรรดาคำสำคัญอีกหลายคำในแวดวงสังคมศาสตร์ มีลักษณะพลวัต ไม่นิ่ง ผันแปรเปลี่ยนแปลงตามบริบทของพื้นที่และเวลา

ความหมายของคำว่า “การก่อการร้าย” จึงมิได้ดำรงอยู่ในธรรมชาติเหมือนกับน้ำ อากาศ แรงโน้มถ่วง คลื่นแม่เหล็ก ฯลฯ หากแต่เป็นผลผลิตของกระแสการเมืองและประวัติศาสตร์ ผนวกกับการรับรู้ ระบบความเชื่อ และค่านิยมที่ปัจเจกบุคคล/กลุ่มสังคมหนึ่งๆ ยึดถือ

ใครและอะไรบ้างที่จัดเป็น “การก่อการร้าย” จึงเป็นความจริงเชิงอัตวิสัย ที่ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนมอง และมองจากมุมใด ไม่ใช่ความจริงเชิงภาววิสัย ที่ไม่ว่าใครก็ล้วนมองเห็นความจริงข้อนี้ตรงกัน

ดังนั้น จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่แปลกนักว่า กระทั่งประเทศพันธมิตรใกล้ชิดกันอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย แม้จะมีนิยามความหมายที่ใกล้เคียงกันต่อคำว่า “การก่อการร้าย” แต่ประเทศเหล่านี้กลับพิจารณาไม่เหมือนกันว่า องค์กรใดบ้างที่จัดอยู่ในลิสต์บัญชีกลุ่มก่อการร้ายของพวกเขา

ความยากลำบากประการสุดท้าย ในการนิยามคำว่า “การก่อการร้าย” อยู่ที่คำนี้มันมีการเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปจากแรกเริ่มที่มันถูกใช้เรียกเป็น ครั้งแรก กล่าวคือ คำว่า “การก่อการร้าย” นั้น ในครั้งแรก มิได้ถูกใช้เรียกการกระทำของกลุ่มตัวแสดงที่มิใช่รัฐ เช่น อัลกออิดะห์ หากแต่เป็นคำที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นในช่วงสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อใช้ สื่อความถึงการกระทำอย่างเหี้ยมโหดของรัฐฝรั่งเศสที่ against dissident และ dissenters ใน populations ของพวกเขาเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ในการใช้คำว่า “การก่อการร้าย” ในช่วงเริ่มต้นนี้ ก็ไม่ได้ฉาบเคลือบไปด้วยการสื่อความหมายเชิงลบและ pejorative เหมือนในปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง คำๆ นี้ได้ถูกเอาใช้เรียกสื่อถึง “แนวทางการต่อสู้” ของขบวนการต่อต้านปลดแอกอาณานิคมในเอเชีย แอฟริกา และอีกหลายแห่ง โดยปราศจากซึ่งการผูกโยงเข้ากับคุณค่าเชิงลบว่า “แนวทางการต่อสู้” แบบดังกล่าวจะต้องขับเคลื่อนด้วย “เจตนา” ร้าย หรือ “ความไม่ชอบธรรม” ของการต่อสู้ เหมือนที่สังคมโดยทั่วไปรู้สึกเกี่ยวกับคำว่า “การก่อการร้าย” อยู่ในปัจจุบัน

การเปลี่ยนรูปแปลงร่างของความหมายคำว่า “การก่อการร้าย” หรือการที่ความหมายลื่นไหลดิ้นได้ เป็นการย้ำเตือนให้เราๆ ท่านๆ จำต้องตระหนักและระวังอยู่เสมอว่า “การก่อการร้าย” เป็นสิ่งประดิษฐ์สร้างทางสังคม (social construction) เป้าที่มันสื่อความออกมานั้น เป็นผลผลิตของน้ำมือมนุษย์ผู้เข้าถึง (หรือกระทั่งผูกขาด) อำนาจในการบัญญัติความหมายของมัน ไม่ใช่ผลผลิตของธรรมชาติที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาละและเทศะ ดังนั้น การจะทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “การก่อการร้าย” จึงแยกไม่ขาดจากการที่จะต้องเข้าใจบริบทแวดล้อมที่คำๆ นี้มันปรากฏ/เผยกายออกมาด้วย เช่น

เราไม่อาจเข้าใจความหมายของคำว่า “การก่อการร้าย” ที่ถูกใช้เรียกกลุ่ม นปช. (บางส่วน) โดยอาศัยเพียงบัญญัตินิยามคำว่า “การก่อการร้าย” จากมติของสหประชาชาติ หรือพจนานุกรมเล่มใดๆ เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเข้าใจบริบทสถานการณ์ทางการเมืองที่แวดล้อมการที่คำๆ นี้ถูกผลิตขึ้นเรียกกลุ่ม นปช. ด้วย เพราะ ขอบเขต “ความเป็นกลุ่มก่อการร้าย” ของ นปช. ย่อมไม่เท่ากับ “ความเป็นกลุ่มก่อการร้าย” ของอัลกออิดะห์ ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุที่สถานการณ์แวดล้อมนั้นคลุมเงื่อนไขความหมายแตกต่างกัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว บทความเรื่องนี้ทั้ง 3 ตอน มุ่งนำเสนอให้เห็นว่า การแสวงหานิยามสากลที่ยอมรับได้ร่วมกันเกี่ยวกับคำว่า “การก่อการร้าย” นั้น มีความยุ่งยาก ลำบาก อยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ ทั้งในมิติอำนาจ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้

• การแขวนป้ายเชิงลบให้กับคำ: ทำให้มิอาจนิยาม/ เรียกได้อย่างเป็นกลางจริง

• การเป็นคำที่ดึงดูด เร้าอารมณ์ จึงถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เลอะเทอะ

• ความเป็นอัตวิสัย: แต่ละคน/ แต่ละกลุ่ม-ฝักฝ่ายมอง และให้ความหมายไม่เหมือนกัน

• ความมีพลวัต: การเปลี่ยนรูปแปลงร่างของความหมาย

เป้าหมายของการเขียนเรื่องนี้ มิได้ประสงค์ยับยั้งความพยายามของหน่วยงาน สถาบันใดที่กำลังง่วนกับการหาคำนิยามที่ตกผลึกร่วมกันเกี่ยวกับคำว่า “การก่อการร้าย” หากแต่หมายใจมากกว่าที่การย้ำเตือนทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่อง การก่อการร้าย ตลอดจนเราๆ ท่านๆ ที่นั่งเกาะดูอยู่ข้างขอบสนามของสถานการณ์โลก ให้ระลึก ระวังอยู่เสมอถึงความไม่นิ่ง ไม่แน่ และความลื่นไหลดิ้นได้ของความหมายคำๆ นี้ ตลอดทั้งตระหนักถึงสถานะของคำ ที่เป็น “ผลผลิตประดิษฐ์สร้าง” จากสังคม ไม่ใช่ “ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ”

————-

* ผู้สนใจอย่างละเอียด โปรดอ่านเพิ่มเติมใน Richard Jackson, Lee Jarvis, et al. Terrorism: A Critical Introduction. NY: Palgrave Macmillan. 2011.