หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งพร้อมรับมอบหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ ๔ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ได้ประชุมชี้แจงและมอบนโยบายให้กับหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้แก่ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทั้ง ๔ จังหวัด ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ และหน่วยขึ้นตรงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เพื่อให้การปฏิบัติงานในปี ๒๕๕๘ ภายใต้ “แผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๘” ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะที่ ๓ คือการเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นแผนงานเพื่อขับเคลื่อน “แผนปฏิบัติ การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๖๐” ซึ่งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบ โดยกำหนดกรอบการดำเนินการ ๗ กลุ่มภารกิจงาน ประกอบด้วย กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กลุ่มงานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มงานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ/เรื่องสิทธิมนุษยชน กลุ่มงานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม กลุ่มงานพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน กลุ่มงานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย และกลุ่มงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี
การประชุมมอบนโยบายในครั้งนี้ พลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ ๔ / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ได้กำชับและกำหนดให้ปี ๒๕๕๘ เป็นปีแห่งการปฏิบัติเชิงรุกในทุกมิติ ทั้งมิติด้านการเมือง ด้วยการสร้างความเข้าใจในนโยบายแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ยึดหลักกฎหมายและแนวทางสันติวิธี เคารพสิทธิมนุษยชน มีความโปร่งใส รวมทั้งเน้นย้ำการปฏิบัติของ กำลังพลทุกระดับต้องไม่สร้างเงื่อนไข ที่สำคัญคือการรุกเข้าหาประชาชน เพื่อสร้างความสงบสุขในหมู่บ้าน ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภายใต้คติพจน์ “ยิ้มแย้มแจ่มใส ตั้งใจสนทนา วาจาไพเราะ สงเคราะห์เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือเจือจุน ปรับทุกข์ผูกมิตร ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมกินร่วมอยู่ร่วมเรียนรู้ ” และร่วมกันพัฒนาให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่“ชนะจิตใจ นำไปสู่การชนะความคิด” อันเป็นปัจจัยสำคัญในการคืนความสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนปฏิบัติการเชิงรุกด้านการทหาร ได้เน้นปฏิบัติการด้านการข่าวที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางยุทธการ ด้วยการติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักตามกฎการปะทะที่เป็นมาตรฐานสากล กรณีที่มีการควบคุมตัวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ต้องรีบทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนา และเครือญาติ เพื่อป้องกันการใส่ร้ายและบิดเบือนโดยฝ่ายตรงข้าม และที่สำคัญคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายพลเรือนและกำลังภาคประชาชน โดยมีศูนย์ปฏิบัติการอำเภอเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งสามารถดูแลพื้นที่แทนกำลังทหาร และเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระยะที่ ๓ คือ “การเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ พลโท ปราการ ชลยุทธ ยังได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ คุยกันวันเสาร์ ทางสถานวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกส่วนภูมิภาค ว่า ปฏิบัติการเชิงรุกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ในปี ๒๕๕๘ เป็นการรุกเข้าหาประชาชาชนเพื่อรับทราบปัญหาความต้องการในการพัฒนาจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ต้องมีความสำนึกในฐานะการเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวฯ ที่มีหน้าที่สร้างความสงบสุขให้กับประชาชน ตามยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่พบปะรับทราบปัญหาจากการจัดเวทีเสวนาในระดับต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกกลุ่ม อันเป็นการสนับสนุนนโยบายการพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาล ซึ่งกำหนดออกเป็น ๒ ระดับ คือระดับรัฐบาล กับระดับพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ จำนวน ๑๔ กลุ่ม จนสามารถรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนการปฏิบัติเชิงรุกด้านการทหาร เป็นการเร่งรัดสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ โดยได้แบ่งมอบหน้าที่ให้กับส่วนต่างๆ อย่างชัดเจน รวมทั้งมีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ เป็นประจำ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งสะท้อนจากการออกมาแจ้งเบาะแส จนสามารถติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี และสามารถป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นทันเวลาได้หลายครั้ง
แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในบางพื้นที่ แต่มิใช่เป็นสถานการณ์สงครามที่เอาชนะด้วยกำลัง ทางทหาร ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความหวาดกลัว ใส่ร้ายบิดเบือน สร้างความเกลียดชัง และขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะฉะนั้นการเอาชนะจิตใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การชนะทางความคิด และเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันนี้ หากเปรียบเทียบกับห้วง ๑๐ ปีที่แล้ว นับได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งทางด้านการก่อเหตุรุนแรงซึ่งลดลง ที่สำคัญคือประชาชนมีความเข้าใจข้อเท็จจริงของสถานการณ์ ทำให้ความหวาดระแวง ความเกลียดชังอันเกิดขึ้นจากการบิดเบือนใส่ร้ายโดยกลุ่มก่อเหตุรุนแรงลดลง เกิดการ หันหน้าเข้าหากัน และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ชุมชนหลายแห่งมีความเข้มแข็งสามารถดูแลพื้นที่ได้ด้วยตนเอง นั่นหมายถึงสัญญาณการเปลี่ยนผ่านการเข้าสู่ระยะที่ ๓ ของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ“การเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”เริ่มปรากฏให้เห็น อีกทั้งการเร่งรัดขับเคลื่อนแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.๒๕๕๘ จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นรูปธรรมในเร็ววัน