จากกรณีที่มีข่าวว่าสถานะของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ “ไอแบงก์” กำลังอยู่ในขั้นโคม่า เพราะเดือนสิงหาคม 57 ปรากฏว่า มีลูกหนี้ตกชั้นถึง 7,000 ล้านบาท ทำให้ยอดหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 42,000 ล้านบาท หรือเป็น 38% ของสินเชื่อคงค้างที่ 110,000 ล้านบาท และหากยังปล่อยโดยไม่ดำเนินการใด ๆ อาจทำให้หนี้เสียเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของยอดสินเชื่อคงค้างในช่วงสิ้นปีนี้ ที่สำคัญหากถึงขั้นร้ายแรง ยอดหนี้เสียอาจเพิ่มเป็น 80% หากพบว่ามีลูกหนี้รายใหญ่เบี้ยวการชำระหนี้คืน ทำให้ทางกระทรวงการคลังต้องพิจารณาถึงอนาคตของธนาคารอิสลามต่อไปว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน
ดร.อณัส อมาตยกุล ประธานคณะที่ปรึกษาธนาคาร (ด้านศาสนา) กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้ดำเนินงานตามหลัก ชารีอะห์อย่างถูกต้อง และได้มีการเดินทางไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแบงก์อิสลามในหลายๆ ประเทศ ซึ่งในบางประเทศก็ไม่ใช่ไม่มีปัญหาแต่ก็ก้าวข้ามมาได้ด้วยดีเพราะพี่น้องมุสลิมในประเทศนั้นๆ มีความสามัคคีและตระหนักดีว่าธนาคารอิสลามเป็นเสมือนของขวัญจากพระเจ้า
ด้านนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคาร กล่าวว่าก่อนที่จะแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ได้ องค์กรต้องมีความแข็งแรงในตัวเองก่อน และต้องดึงเอาจุดแข็งของความเป็นธนาคารมุสลิมที่บริหารงานภายใต้ หลักการชารีอะห์ออกมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยหลักการมองว่าการบริหารเราต้องมี 2 หน้าต่าง คือด้านหนึ่งเปิดไปสู่พี่น้องมุสลิม อีกด้านหนึ่งเปิดไปสู่บุคคลทั่วไป ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหลักการสากลที่แม้แต่ธนาคารอิสลามในมาเลเซียก็ยึดถือ
“ในส่วนของพนักงานซึ่งมาจากหลากหลายที่แต่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร แต่ยังขาดความรู้ในด้านหลักศาสนาอิสลาม ตรงนี้ต้องให้ความรู้เขาโดยอาจจะต้องใช้เครื่องมืออย่างซีดี แผ่นพับฯลฯ เพื่อให้ความรู้ในด้านนี้หรือแม้แต่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการของธนาคารอิสลามด้วยก็ตาม”
“ในส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าตอนนี้ธนาคารอิสลามเป็นเหมือนคนไข้ที่ต้องได้รับการเยียวยา แต่เราจะต้องเป็นคนไข้ที่มีวินัยต้องสร้างความแข็งแรงให้กับตัวเองและพร้อมจะรับการเยียวยา และเชื่อว่าธนาคารอิสลามจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ในเวลาไม่นาน”
ต่อข้อซักถามถึงแนวทางแผนการดำเนินการกับข้อผิดพลาดที่ผ่านมาและแผนฟื้นฟูในอนาคต นายชัยวัฒน์ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของความผิดพลาดในการบริหารไอแบงก์มาจากการเมืองส่วนหนึ่ง คือการเห็นแก่พวกพ้อง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว การที่ตนเองเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้ ตนเองเหมือนหมอที่เข้ามารักษาเยียวยาไม่ใช่มาในฐานะตำรวจไล่จับผู้ร้าย และมองว่าหน้าที่หลักต่อจากนี้คือการบริหารฟื้นฟูให้ธนาคารอิสลามดำเนินการต่อไปได้ และต้องเติบโตมากขึ้น สำหรับปัญหาที่ผ่านๆ มาจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีกเพราะโดนส่วนตัวตนเองจะบริหารงานบนความถูกต้องไม่ใช่ถูกใจ หากจะต้องบริหารงานบนความถูกใจของใครก็ขอพิจารณาตัวเองดีกว่า
ส่วนความกังวลว่าไอแบงก์จะต้องปิดตัวเอง หรืออาจต้องไปควบรวมกับธนาคารอื่นตรงนี้พอสบายใจได้เพราะ ที่ผ่านมาเรามียอดเงินฝากเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัวซึ่งยังพอเป็นทุนให้เรายืนอยู่ได้ และทางภาครัฐก็พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเข้า แต่ตรงนี้เราต้องมีแผนฟื้นฟูยื่นให้กับกระทรวงการคลังด้วย แม้แต่ทางเอสเอ็มอีแบงก์ก็เช่นกัน แต่เราคงจะไม่หวังพึ่งจากภายนอกแต่อย่างเดียว นอกจากนี้เรายังได้มีโอกาสปรึกษาพูดคุยกับผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังหลายท่านรวมถึง ท่านม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านก็ได้ให้ความมั่นใจในเรื่องนี้ว่าถ้าเราแข็งแรงรัฐก็พร้อมจะช่วย รวมถึงได้ให้กำลังใจให้เราก้าวผ่านไปได้ด้วยดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางธนาคารต้องเร่งแก้ไขหนี้เสียให้เรียบร้อยก่อน
ในส่วนของแผนฟื้นฟูที่เป็นรูปเป็นร่างตอนนี้ทางธนาคารอิสลามยังไม่สามารถให้คำตอบได้เนื่องจากยังไม่อยากเปิดเผยอะไรล่วงหน้า แต่สิ่งที่กำลังดำเนินการเกี่ยวกับหนี้เสียตอนนี้คือกำลังแยกลูกหนี้ออกเป็นประเภทเพื่อให้ง่ายต่อระบบการจัดการในอนาคตและจะไม่มีการเทขายหนี้เสียอย่างแน่นอน
“ตอนนี้ธนาคารอิสลามเหมือนคนป่วยที่มีหลายโรค เราต้องค่อยๆ แก้ ค่อยๆ รักษาที่ละโรค ทีละประเด็น และสำหรับผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาเชื่อว่าจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเข้ามาดำเนินการ แต่ตอนนี้ทางธนาคารอิสลามยังยืนยันว่า เราจะผ่านพ้นปัญหา ต่างๆ ไปได้ตามหลักการของศาสนาอย่างแน่นอน” นายชัยวัฒน์ กล่าว