สิบวันสุดท้ายของรอมฎอนสำคัญอย่างไรสำหรับวิถีชีวิตมุสลิม

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ  ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เหตุการณ์ระเบิด ที่สุไหงโกลก และ ปาดังเบซาร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2558 ทำให้คำว่าสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนมีการใช้กันมากในสื่อไทยรวมทั้งหน่วยความมั่นคง

อะไรคือความสำคัญของสิบวันสุดท้ายของรอมฎอน

ในช่วงวันที่ 8-17 ก.ค.2558 เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยมุสลิมและมุสลิมทั่วโลกกำลังถือศีลอดใน 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน

การถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจในช่วงนี้จะมีความเข้มข้นทั้งกลางวันและกลางคืน (โดยเฉพาะกลางคืน) หลายๆ กิจกรรมหากองค์กรของรัฐและหน่วยงานความมั่นคงไม่เข้าใจอืกทั้งไม่ทราบหลักปฏิบัติซึ่งเป็นวิถีชุมชนมุสลิม อาจนำไปสู่การจับผิดและอาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวอันนำไปสู่ความรุนแรงได้

ในขณะเดียวกันผู้ที่คิดร้าย (ส่วนน้อยของชุมชน) อาจจะฉวยโอกาสช่วงนี้สร้างสถานการณ์ได้เช่นกัน

หลักปฏิบัติจริงๆ ในช่วงท้ายของเดือนรอมฎอน ได้แก่

1.การเอี๊ยะติกาฟ (การพำนักในมัสยิด) หมายถึง การพำนักอยู่ในมัสยิดโดยมีเจตนาปฏิบัติศาสนกิจต่ออัลลอฮฺเจ้า เพื่อปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นจากความสับสนวุ่นวายในสังคม เป็นการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์

ในจังหวัดชายแดนใต้จะมีหลายมัสยิดจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ที่มีชื่อเสียงมีอยู่ไม่เกิน 10 แห่ง เช่น ที่มัสยิดอิบาดุรเราะมาน บ้านปูยุด อ.เมืองปัตตานี ภายใต้การอำนวยการของ อาจารย์ ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา (อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี) และมัสยิดศูนย์ดะห์วะฮฺยะลา เพราะมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ทั้งให้ความรู้ด้านวิชาการ การปฏิบัติศาสนกิจ และระบบสาธารณูปโภค

ทั้งสองแห่งนี้จะมีผู้มาร่วมไม่ต่ำกว่าหมื่นคนจากทุกจังหวัดและผู้คนทุกสาขาอาชีพ แม้แต่ข้าราชการมุสลิมก็ยอมใช้สิทธิลาพักร้อนในช่วงนี้ เพื่อร่วมกิจกรรมดังกล่าว

2.การละหมาดช่วง 10 วันสุดท้ายจะมีอยู่ 2 ช่วงที่สำคัญคือ

– ละหมาดตะรอเวี๊ยะ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.50 -21.30 น. (ความเป็นจริงการละหมาดดังกล่าวกระทำมาตั้งแต่ต้นเดือนรอมฎอน แต่จะเข้มข้นมากขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้าย ถูกบัญญัติให้ละหมาดรวมกันเป็นญะมาอะฮฺ หรือรวมกันที่มัสยิด)

– ละหมาดตะฮัจยุด ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00- 04.30 น. (ช่วงกลางดึกถึงรุ่งอรุณ) ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา จะไปละหมาดและปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดอีกครั้งหนึ่ง การละหมาดทั้งสองช่วงจะมีผู้คนมากที่สุดในคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอนเพื่อให้ได้คุณค่าของลัยลุตุลกอดัร

คำว่า “ลัยลุตุลกอดัร” หมายถึงค่ำคืนหนึ่งที่พระเจ้าได้เลือกให้เป็นค่ำคืนที่มีความประเสริฐในช่วงสิบคืนหลังของเดือนรอมฏอน อันเนื่องมาจากพระองค์ได้ดำรัสความว่า แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดร และอะไรเล่าจะทำให้เจ้ารู้ว่าคืนอัลก็อดรฺนั้นคืออะไร คืนอัลก็อดรนั้นดีกว่า 1,000 เดือน บรรดามะลาอิกะห์ และอัลรูฮ (ญิบรีล) จะลงมาในคืนนั้น โดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขา เนื่องจากในกิจการทุกสิ่งคืนนั้นมีความศานติสุขจนกระทั่งรุ่งอรุณ (ซูเราะห์อัลก็อดรฺ)

บรรดานักวิชาการโลกมุสลิมในอดีตมีทัศนะที่แตกต่างกันหลายทัศนะว่าคืนใดจะตรงกับค่ำคืนดังกล่าว แต่นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องว่ามันอยู่ในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฏอน เพราะท่านศาสนทูตมุฮัมมัดได้กล่าวไว้ความว่า พวกท่านจงแสวงหามัน (หมายถึงคืนลัยละตุลกอดรฺ) ในช่วงสิบคืนสุดท้าย (วจนะศาสนทูตบันทึกโดย บุคอรีย์ 2018 มุสลิม 1167)

และบรรดานักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า “ลัยละตุลกอดรฺ” นั้นจะเกิดในคืนคี่ แต่นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่า “ลัยละตุลก็อดรฺ” นั้นคือค่ำคืนที่ 27 ซึ่งเป็นทัศนะของบรรดา ซอฮาบะห์ กลุ่มหนึ่ง โดยที่ท่าน อุบัย บิน กะฮบฺ (โปรดดูวจนะศาสนทูตในซอเอียะ มุสลิม 762 / อัตติรมีซีย์ 3351)

ดังนั้นจึงทำให้มุสลิมจะทำศาสนกิจมากที่สุดในค่ำคืนที่ 27

นี่คือหลักปฏิบัติของอิสลามพอสังเขป อันเป็นวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมภาคใต้หรืออื่นๆซึ่งอยากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าใจและนำมาเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติในพื้นที่ เพราะหลายๆ กิจกรรมเป็นช่วงกลางคืนและดึกดื่น

ในขณะเดียวกัน การเรียกร้องให้องค์กรของรัฐและสังคมอื่นเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ได้อย่างสมบูรณ์นั้น มุสลิมเองต้องมีคุณลักษณะและแสดงความเป็นมุสลิมที่ดีตามแนวทางศาสนทูตมุฮัมมัดทุกอริยาบถของการดำเนินชีวิต รวมทั้งเข้าใจ เข้าถึงและร่วมมือกับสังคมอื่นตามกรอบที่ศาสนาได้กำหนดไว้เช่นกัน หากทุกฝ่ายยึดตามแนวทางที่ถูกต้องและเข้าใจซึ่งกันและกัน สังคมไทยจะอยู่ร่วมอย่างสมานฉันท์

และหวังว่า “เหตุการณ์ตากใบสอง” คงไม่เกิดในช่วงท้ายรอมฎอนอีกครั้งในปีนี้