ในฐานะเป็นทางแยกทางการค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับเอเชียตะวันออก แหลมมลายูจึงเป็นดินแดนที่มั่งคั่ง หลากหลาย มีความสำคัญทางการเมืองอยู่เสมอ ศาสนาอิสลามเริ่มเผยแพร่เข้ามาในดินแดนแห่งนี้ผ่านทางการค้าหลังจากศาสดามุฮัมมัด (ศ.) เสียชีวิตไม่นาน เป็นเวลาหลายศตวรรษแล้วที่ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มยอมรับศาสนาอิสลามอย่างช้าๆ และได้สร้างเมืองและอาณาจักรของมุสลิมขึ้นมา
อาณาจักรที่สำคัญที่สุดจากอาณาจักรเหล่านี้น่าจะเป็นรัฐสุลต่านแห่งมะละกา ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในช่วงกลางถึงยุค 1400s ในฐานะราชอาณาจักรที่มีอำนาจและอิทธิพล การเผยแพร่อิสลามอย่างต่อเนื่องจึงมีความเกี่ยวพันอย่างมากกับการรุ่งเรืองของรัฐสุลต่านมะละกา อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่รัฐสุลต่านมะละกาไม่ได้อยู่ยืนนาน เมื่ออำนาจใหม่จากโปรตุเกสได้เข้ามาพิชิตอาณาจักรแห่งนี้ในปี 1511 และเริ่มต้นช่วงเวลาแห่งการครอบงำของยุโรปนานหลายศตวรรษ
ความรุ่งเรืองของมะละกา
หนึ่งในช่องทางการค้าที่สำคัญมากที่สุดในโลกก่อนยุคใหม่ก็คือช่องแคบมะละกา ซึ่งเขตแดนทางด้านเหนือติดกับแหลมมลายู และด้านใต้ติดกับเกาะสุมาตรา เป็นช่องทางหลักที่เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการสัญจรเพื่อการค้าผ่านทางช่องแคบนี้มากที่สุดในดินแดนนี้ และได้สร้างอาณาจักรแห่งการค้าที่ร่ำรวยขึ้นบนชายฝั่งของที่นี่
ประมาณปี 1400 กษัตริย์อิสกันเดอร์ ชาห์ ได้ก่อตั้งราชอาณาจักรใหม่ขึ้นมาบนแผ่นดินที่เป็นมะละกาในปัจจุบัน บนชายฝั่งด้านเหนือของช่องแคบละมะกา บางบันทึกทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าเขาเป็นมุสลิมใหม่ที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม ในขณะที่บันทึกอื่นๆ ไม่สนับสนุนแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตาม ภายในไม่กี่ทศวรรษ รัฐสุลต่านที่เขาก่อตั้งขึ้น คือรัฐสุลต่านแห่งมะละกา ได้กลายเป็นหนึ่งในรัฐสำคัญที่ส่งเสริมศาสนาอิสลามในดินแดนนี้
ในฐานะที่เป็นอาณาจักรที่มีอำนาจและขยายตัว รัฐสุลต่านแห่งมะละกามีวัฒนธรรมที่เหมือนกันกับดินแดนโดยรอบที่รัฐเพื่อนบ้านพยายามรับเอามาใช้ วัฒนธรรมที่มีร่วมกันนี้ได้ช่วยเสริมให้ศาสนาอิสลามเผยแพร่ออกไปทั่วดินแดนแห่งนี้ การรับเอาวัฒนธรรมมลายูมาใช้และการยอมรับศาสนาอิสลามมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างยิ่งจนถึงขนาดมีการกล่าวว่า เมื่อบางคนกลายเป็นมุสลิมแล้ว เขาก็ “ได้เข้ามาสู่อาณาจักรของมลายูด้วย”
นอกเหนือจากการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในดินแดนนี้แล้ว ก็ยังมีพ่อค้าชาวอินเดียและพ่อค้ามุสลิมอาหรับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพวกเขามาจากตะวันตกโดยนำศาสนาติดตัวมาด้วย และเผยแพร่ให้กับประชากรชาวพื้นเมือง ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือการเดินทางของเจิ้งเหอ (Zheng He หรือ Cheng Ho) แม่ทัพมุสลิมจีน ที่มายังดินแดนนี้หลายครั้ง เขาได้ช่วยเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปทั่วแหลมมลายู เรื่องสำคัญที่ต้องระบุไว้ก็คือ ในขณะที่ดินแดนแห่งนี้ค่อยๆ ก้าวเข้าสู่แนวทางของอิสลามอย่างเชื่องช้า แต่ไม่มีการบีบบังคับให้เปลี่ยนมายอมรับในศาสนานี้
การมาถึงของชาวโปรตุเกส
ในช่วงปลายของยุค 1400s ราชอาณาจักรโปรตุเกสได้เริ่มค้นหาโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าทางท้องทะเล แทนที่จะอาศัยเส้นทางทางบกไปยังตลาดเครื่องเทศของเอเชีย (ที่ถูกควบคุมโดยพ่อค้าชาวเวนิส) ชาวโปรตุเกสตัดสินใจที่จะใช้เส้นทางทางทะเลไปยังประเทศจีน นักเดินเรือชื่อ วาสโก ดา กามา ได้เดินเรือไปทางปลายแหลมด้านใต้ของแอฟริกาในช่วงปลายยุค 1400s ด้วยความช่วยเหลือของนักเดินเรือชาวมุสลิมที่คุ้นเคยกับมหาสมุทรดินเดีย
ด้วยการค้นพบใหม่ในยุโรปนี้ โปรตุเกสได้กลายเป็นมหาอำนาจทางเรือในมหาสมุทรอินเดียอย่างรวดเร็ว และพยายามที่จะครอบงำตลาดเครื่องเทศของเอเชีย หลังจากตั้งฐานหลายแห่งในหลายเมืองของอินเดียเช่น เมืองกัว (Goa) และเมืองคาลิคัต (Calicut) ราวปี 1510 ชาวโปรตุเกสได้เล็งที่จะขยายอาณาจักรการค้ามายังตะวันออก ในปี 1511 พวกเขาตัดสินใจที่จะพิชิตท่าเรือสำคัญของมะละกาเพื่อควบคุมการค้ากับจีน ตอนแรกพวกเขาพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสุลต่านแห่งมะละกา มะห์มูด ชาห์ และใช้ที่นั่นเป็นฐานที่มั่นในราชอาณาจักรนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับคำเตือนจากมุสลิมทมิฬผู้ซึ่งได้เห็นความชั่วร้ายของชาวโปรตุเกสในเมืองกัวมาแล้ว สุลต่านมะห์มูดจึงปฏิเสธที่จะให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาในเมือง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 1511 แม่ทัพอาฟองโซ เดอ อัลบูเกร์กี ได้เริ่มเข้าจู่โจมเมืองนี้ ถึงแม้จะเป็นพันธิตรกับรัฐมุสลิมเพื่อนบ้าน แต่รัฐสุลต่านแห่งนี้ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานอาวุธและแสนยานุภาพที่เหนือกว่าของโปรตุเกสได้ และเมื่อถึงปลายเดือนสิงหาคม เมืองนี้ก็ถูกพิชิต ในไม่ช้า ชาวโปรตุเกสได้เริ่มสร้างป้อมปราการแห่งหนึ่งขึ้น มีชื่อว่า อาฟาโมซา เพื่อช่วยป้องกันชาวโปรตุเกสในเมืองจากการโจมตีตอบโต้ของมลายู ศูนย์กลางต่างๆ ของเมือง ที่ประกอบด้วยมัสยิดสำคัญและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาล ถูกทำลายลงเพื่อทำเป็นก้อนในการสร้างป้อมปราการ นี่คือการสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการของรัฐสุลต่านมะละกา ขณะที่ดินแดนแห่งนี้ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของต่างชาติเป็นครั้งแรกในประวัตศาสตร์
150 ปีต่อมา เป็นช่วงเวลาที่ชาวโปรตุเกสเข้าควบคุมช่องแคบมะละกาที่มีชื่อเสียงและอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ และพยายามปราบปรามประชากรชาวมลายูพื้นเมือง ความพยายามที่จะทำให้ประชาชนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาแคธอลิกล้มเหลวทั้งหมด แต่การครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งต่อมาภายหลังกลายเป็นประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย จะคงดำเนินต่อไปจนถึงศตวรรษที่ 20 หลังจากชาวโปรตุเกส ชาวดัทช์ได้เข้ามาในยุค 1600s และชาวอังกฤษในยุค 1800s ถึงแม้จะผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมของยุโรป แต่อิสลามก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนแห่งนี้ และยังคงเป็นพื้นฐานของสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ต่อไป
—-
แปลจาก http://lostislamichistory.com/sultanate-of-malacca/
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ