“ไม่ต่อต้าน” – “ไม่ร่วมมือ” : 
ทางเลือกปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของประชาชนต่อรัฐเผด็จการ (ตอนแรก)

บางครั้ง ผู้คนมากหลาย “ต้องทนทุกข์อยู่ใต้ทรราชเพียงผู้เดียว ซึ่งไม่มีอำนาจอื่นใดเลย
เว้นแต่อำนาจที่พวกเขามอบมาให้เท่านั้น และเป็นผู้ที่อาจทำร้ายพวกเขาได้
ก็เพียงเท่าที่พวกเขายอมอดทนอยู่ใต้ทรราช เท่านั้น… ”


“เป็นที่ แน่ชัดว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะทรราชผู้นี้ 
เพราะเขาจะพ่ายแพ้ทันทีที่ประชาชนไม่ยอมรับการเป็นทาสของตนเอง 
ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเอาอะไรไปจากทรราช 
เพียงแต่อย่าไปให้อะไรเขาก็พอแล้ว”

“เพราะฉะนั้น ก็มีแต่พวกประชาชนนั่นเองที่ยอม หรือยังให้เกิดการถูกกดขี่ขึ้น 
ประชาชนนั่นเองเป็นผู้ทำตนให้เป็นทาสเชือดคอหอยตนเอง 
และเมื่อจะต้องเลือกระหว่างการเป็นไพร่หรือเป็นอิสรชน 
พวกเขาก็ละทิ้งเสรีภาพและยอมรับแอกนั้นเอง” [1]


 

    นัยความหมายของประโยคดังกล่าว อยู่ที่ว่า การดำรงอยู่อย่างมั่นคงของอำนาจเผด็จการ มิใช่เพราะอาวุธที่พวกเขาถือครองไว้ในมือ หรือความเหี้ยมโหดอำมหิต แต่อำนาจดำรงอยู่อย่างตั้งมั่น ตราบเมื่อผู้คนยอมรับที่จะอยู่ภายใต้อำนาจนั้น

    ระบอบเผด็จการโดยมากที่สามารถกดผู้คนอยู่ใต้ตีนได้ มิใช่เพราะอำนาจดิบๆ อย่างอาวุธปืน ที่มุ่งประสงค์ข่มขู่ทางกายภาพ หากแต่เป็นการผลิตชุดความจริงขึ้นล้างสมอง/ กล่อมประสาทประชาชน และสร้างความหวาดกลัว (terror) ควบคุมมิให้มีใครอุตริสงสัยในความจริงที่ตนผลิตขึ้น

    สำหรับกลุ่มคนจำพวกที่บังเกิดนอกคอก “ตาสว่าง” ขึ้นมา ก็มีอยู่จำนวนไม่มากที่กล้าลุกขึ้นตั้งคำถาม โต้แย้ง หรือปลุกระดมขึ้นโค่นระบอบอันต่ำช้าล้าหลัง เราอาจเห็นพลังรุ่นใหม่ลุกขึ้นทัดทานอย่าง “กล้าหาญ” ในหลายประเทศ แต่เราไม่อาจคาดหวังให้ทุกคน “เสี่ยง” ตายเพื่ออุดมการณ์เสรี ทั้งนี้ก็เพราะ

ด้วยบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนที่กำหนดไว้ให้ต้องรับโทษทัณฑ์อย่างแสนสาหัส

ด้วยกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่อุดมด้วยสรรพวิธีทรมาน

ด้วยขั้นตอนยุติธรรมที่ “ลัดวงจร” ไร้การตรวจสอบและเอาผิดเจ้าหน้าที่

ด้วยฝูงชนที่เมามายโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐ ซึ่งพร้อมรุมสหบาทาผู้มีความคิดแปลกประหลาด

ฯลฯ

    ข้าพเจ้าเห็นว่า การไม่ลุกขึ้นทัดทานเผด็จการ ทั้งที่รู้ว่าพวกเขากำลังทำสิ่งที่ผิดนั้น มิได้เป็นการแสดงถึงความอ่อนแอ ไร้ศักดิ์ศรี เพราะบางครั้ง ของบางอย่าง คนบางจำพวก เราก็มิจำเป็นต้องลดตัวลงไปเกลือกกลั้วให้โสมมตามไปด้วย

    กอปรกับเข้าใจว่า คนแต่ละคนล้วนมีต้นทุนชีวิตกันทั้งนั้น เป็นต้นทุนที่อาจต้องสูญเสียและทำลายทุกอย่างในชีวิตให้พินาศย่อยยับลงไป หากเลือกที่จะลุกขึ้นสู้

กระนั้น ความห่วงกังวลต่อสังคมโดยรวมและอนาคตของคนรุ่นต่อไป ก็อาจรบกวนจิตใจมิให้รื่นรมย์กับโลกไปอย่างปล่อยวางความคิดลงได้

สำหรับผู้ที่รู้สึกทำนองนี้ ข้าพเจ้าไม่มียาตำรับโบราณ หรือตำรับปัจจุบัน มาแนะนำ

แน่นอนว่า ยาบำรุง สมุนไพร ไวอกร้าก็ไม่มี

มีเพียงแต่ทางเลือกบางวิธีที่เสนอว่า พอจะทำอะไรได้บ้างกับรัฐที่เป็นเผด็จการ โดยไม่ต้องเอาตัวเราเข้าไปแลก

ทางเลือกนั้นคือ “ไม่ต่อต้าน” (nonresistance) แต่ “ไม่ให้ความร่วมมือ” (noncooperation) [2] [3]

“ไม่ต่อต้าน” ไม่ได้หมายถึงการสยบยอม หรือเห็นดีเห็นงามไปกับจอมเผด็จการที่ละเมิดสิทธิประชาชนอย่างกว้างขวาง โมเมขโมยอำนาจประชาชนไปใช้ตามอำเภอใจ และตัดสินใจนโยบายอย่างโง่เขลาหลายเรื่อง

แต่การ “ไม่ต่อต้าน” คือ การปฏิเสธที่จะยอมเข้าไปมีส่วนร่วมกับความชั่วร้าย ซึ่งในแง่นี้ ก็คือ การปกครองแบบเผด็จการ ไม่ผูกพันตนเองเข้ากับระเบียบสังคมที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

ตัวอย่างของการไม่ต่อต้านโดยไม่เข้าร่วมนั้น เช่นกรณีชาวคริสต์ในยุคแรกปฏิเสธเข้ารับราชการทหารในจักรวรรดิโรมัน เพื่อยืนยันหลักธรรมตามคำเทศนาบนภูเขาของพระเยซูที่ให้ศาสนิกชน “รักศัตรูของตน” เป็นสำคัญ

อีกกรณีหนึ่งได้แก่ทรรศนะของตอลสตอยที่ชี้ให้ เห็นรูปธรรมการปฏิบัติของการไม่ต่อต้านว่า “อย่าต่อต้านความชั่ว แต่ก็อย่ามีส่วนร่วมกับความชั่ว ในการกระทำอันรุนแรงของราชการงานศาล การเก็บภาษี และที่สำคัญ ก็คือ ในการทหาร”

ดังนั้น การไม่ต่อต้าน จึงมิได้หมายถึงการงอมืองอเท้าไม่ทำอะไร แต่หมายถึงการไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับกิจกรรมใดใดที่ดำเนินโดยรัฐเผด็จการ ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งโสมม มิควรลดตัวลงไปให้เปื้อนเปรอะ    

ส่วนการ “ไม่ให้ความร่วมมือ” เป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของยีน ชาร์ป โดยการไม่ให้ความร่วมมือจะประกอบไปด้วย

1. การไม่ให้ความร่วมมือทางสังคม ตัวอย่างได้แก่ การปฏิเสธความสัมพันธ์ตามปกติกับบุคคลที่เรามุ่งจะคัดค้าน, การงดเว้นไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมประเพณีและสถาบันสังคม เช่น เทศกาลตามประเพณีที่รัฐเผด็จการเป็นผู้จัดและรณรงค์เชิญชวน โดยประชาชนอาจจัดเทศกาลเดียวกันคู่ขนานเป็นการหักหน้า เป็นต้น

2. การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 2 กลุ่มวิธี คือ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ กับ การนัดหยุดงาน ซึ่งในเงื่อนไขที่ข้าพเจ้าวางหลักยึดไว้ว่า จะนำเสนอทางเลือกที่ไม่ “เปลืองตัว” ก็จึงขอไม่กล่าวถึงตัวอย่างวิธีในหมวดหมู่การนัดหยุดงาน ซึ่งอาจถูกโยงเข้ากับการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในขอบเขตของกฎหมายแรงงาน กฎอัยการศึก และอาจกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การทำงานของผู้ปฏิบัติการจนเกินไป

สิ่งที่พอจะพิจารณาเป็นทางเลือกดูได้อย่าง สบายใจมากกว่า คือ ประเภทของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีตัวอย่างได้แก่ การปฏิเสธมีความสัมพันธ์ซื้อขายกับบุคคลเป้าหมายแห่งการคัดค้าน เช่น การไม่บริโภคสินค้าบางอย่าง การไม่ขายสินค้าบางอย่างให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง, เทคโนแครต, นักวิชาการ, เอ็นจีโอที่เป็นตัวแทน และรับใช้ชะเลียระบอบเผด็จการอย่างออกนอกหน้า เป็นต้น

3. การไม่ให้ความร่วมมือทางการเมือง ตัวอย่างได้แก่ การปฏิเสธให้ความช่วยเหลือกองกำลังของรัฐในเรื่องต่างๆ ที่ทำได้ เช่น การไม่หลบทางให้ขบวนรถของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง, การปฏิเสธเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่รัฐเผด็จการจัดขึ้น ซึ่งมักจัดเป็นพิธีเท่านั้น เอาไว้ใช้รองรับความชอบธรรมนโยบายที่พวกมันคิดกันไปเสร็จสรรพแล้ว เพื่อมาบอกชาวบ้านชาวช่องว่า เป็นนโยบายที่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน (แต่จริงๆ ก็ล้วนคิดกันในกลุ่มพวกมันไม่กี่คน มีธงมาตั้งแต่แรกแล้วทั้งสิ้น) โดยประชาชนอาจจัดเวทีคู่ขนานในเรื่องเดียวกัน และร่างเป็นชุดข้อเสนอนโยบายในเรื่องนั้นๆ จาก “เจ้าของอำนาจตัวจริง” (ซึ่งแน่นอนว่ากรณีหลังนี้ก็เสี่ยงต่อการถูกจับกุมได้) เป็นต้น

 

——

ท่านผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เอกสารอ้างอิง ดังนี้

[1]   Étienne Dela Boétie. The Politics of Obedience: The Discourse of Voluntary Servitude. Montreal: Black Rose 
books, 2008. (online),  https://mises.org/rothbard/boetie.pdf. (ประโยคที่คัดมานั้นแปลในภาษาของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในงานเรื่อง ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง)

[2]   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง, (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ของเรา, 2557.

[3]   Gene Sharp. The Politics of Nonviolent Action (Part II). Boston, Ma. : Porter Sargent Publishers, 1973.