ซะการีย์ยา อมตยา .. กวีซีไรต์ ร่ายกวีสะท้อนถึงความอยุติธรรมและความจริงกับข้อเท็จจริงที่ยังคงเป็นปริศนาของสังคมชายแดนใต้ ก่อนเริ่มต้นงาน 16 ปีแห่งการสูญเสียการหายไปของทนายสมชาย 13 ปี กับเจตนารมณ์ที่ยังคงอยู่ ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี หลังเก่า หรือ “ปัตตานีเซ็นเตอร์” มีประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายร้อยคน เข้าร่วมรับฟังการเสวนาที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลอดไฟบูชายัญ
นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปาฐกถาหัวข้อ อุดมการณ์ทนายสมชายกับการสานต่ออุดมการณ์ถึง MAC ว่า 13 ปีที่ผ่านมาประจักษ์ว่าทนายสมชายหาย แต่ภารกิจที่ทิ้งไว้ไม่หาย มีคนรุ่นหลังพร้อมสืบทอดเจตนารมณ์ต่อไปไม่จบสิ้น
“อาจทำให้สูญหายได้แต่ทำให้ลืมไม่ได้ คนที่อธรรมพึงระลึกไว้เถิดว่างานของการรักษาความเป็นธรรม มันเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ใช้วิชาชีพโดยการเสียสละ งานของการสร้างความไม่เป็นธรรมท่านก็มองว่ายิ่งใหญ่ ไม่ใช่ไม่ใหญ่ แต่งานของการรักษาความเป็นธรรมต้องใหญ่กว่า ทนายสมชายหายไปด้วยการถูกอุ้มหายโดยผู้บังคับใช้กฎหมาย ด้วยความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ในพื้นที่นี้ไมมีใครสามารถช่วยเราได้ ถ้าเราไม่ยืนหยัดต่อสู้ บางคนเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่ในเรือนจำ ถูกตีโช่ตรวน แต่วันนี้ได้ออกมาทำมาหากิน มีธุรกิจมั่นคง มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่จะช่วยเหลือคนข้างหลังอย่างไรที่ยังมีการซ้อมทรมานอยู่ การกิจที่ต้องเดินหน้าต่อด้วยบริบทที่เปลี่ยนไป สำคัญคือทนายสมชายมีความหมายกับทุกคน”
การเสวนาหัวข้อ “16 ปีแห่งการสูญเสีย 13 ปี กับเจตนารมณ์ที่ยังคงอยู่” จากนายอับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวัง ดำเนินรายการโดย นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร บรรณาธิการเพจ Patani NOTES
วงเสวนาส่วนใหญ่เป็นการชี้แจงความเป็นมาของการเกิดเหตุการณ์สูญหายของทนายสมชาย นิละไพจิต เกิดจากการช่วยเหลือในเรื่องคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การออกมาปกป้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมานในขณะนั้นไม่ต่ำกว่า 5 ราย แต่การดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ทนายสมชายสูญหายกลับไม่คืบหน้า เนื่องจากไม่สามารถหาพยานสำคัญในคดีได้ จึงกลายเป็นปัญหาของความไม่เป็นธรรมที่ถูกฝังในความรู้สึกของประชาชนที่ยากจะลืม
มีการชี้แจงสร้างความเข้าใจในเรื่องการประกาศใช้กฎหมายพิเศษบางชนิด กฎอัยการศึกมีการบังคับใช้ในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินในยุคสมัยของนายกฯ ทักษิณ กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการคุมตัวผู้ต้องสงสัยในพื้นที่ค่ายทหารเป็นครั้งแรกจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ในช่วงนี้มีกระบวนการตรวจสอบในระบอบรัฐสภา แต่เป็นแค่ที่จะเริ่มต้น ถ้าเปรียบกับการบังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดอื่นของประเทศ ภายในงานยังมีการนำเสนอแผ่นกราฟ ผลการแจ้งร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น
“การใช้กฎหมายพิเศษ กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นการทำงานที่หนักอึ้ง การที่จะต้องสู้กับกระบวนการยุติธรรมที่นำกฎหมายในภาวะการณ์ไม่ปกติ กฎหมายที่ใช้ในภาวะการณ์สงคราม กฎหมายที่ละเว้นเรื่องของสิทธิ เสรีภาพของบุคคล กฎหมายที่ยกเว้นเรื่องของสิทธิต่าง ๆ มาเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในพื้นที่และเข้าสู่การกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่เราทำมีความเข้มแข็งหลุดพ้นจากความกลัว หลุดพ้นจากความหวาดระแวง ผมว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายภาคใต้ จะไม่ใช่แค่ 5 หมื่นรายชื่อตามที่ทนายสมชายได้เคยล่าไว้ตอนนั้น อาจจะเป็นแสน เป็นล้านชื่อ ก็จะสามารถร่วมลงชื่อเพื่อเพิกถอนกฎหมายนี้ได้เมื่อครบส่งไปยังกลไกรัฐสภาที่อยู่ในสภาวะการณ์ปกติ ในระบอบประชาธิปไตย” อับดุลเลาะ หะยีบู ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม
ด้านนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวถึงเรื่องของทนายสมชายว่ามีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว แม้หลายคนจะทุ่มเทการทำงานแต่ไม่พอจะให้ยุติ ยังคงมีจำเลยหายไป กลไกกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะนำคนผิดมาลงโทษได้ การลอยนวลอยู่คือการกระทำผิด การบังคับให้สูญหายไม่บ่งบอกว่าเสียชีวิตไม่เป็นความผิดทางอาญา หากกลไกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถยุติการกระทำความผิดของบุคคลลักษณะเช่นนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในนามของเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล เราก็ยังคงต้องเผชิญกับสภาพที่เรียกว่า “ล้มเหลว” ขณะนี้กำลังพยายามร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหาย ซึ่งคดีทนายสมชายยังเข้าข่ายในการหยิบมาสืบสวนสอบสวนใหม่ เมื่อได้ 2,000 รายชื่อจะไปยื่นให้สส. หากรอยื่นรัฐบาลประชาธิไตยก็คงรออีกนาน
นายรอมฎอน ปันจอร์ กล่าวถึงสิ่งที่ทนายสมชายเรียกร้อง ที่สู้กับกลไกของรัฐที่มีประวัติศาสตร์อันบิดเบี้ยวมาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า “นิติรัฐ” หรือการปกครองด้วยกฎหมาย การที่เราอยู่รวมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน มันมีปัญหาไม่แค่ที่นี่ แต่เป็นปัญหาระดับประเทศ การหายตัวไปของทนายสมชายมีเรื่องน่าสนใจ 2 มิติ คือการคัดค้านกฏอัยการศึก ซึ่งเป็นยาแรงที่สุดในเวลานั้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อีกด้านคือการมาเป็นทนายความให้กับผู้ต้องสงสัยที่ถูกช้อมทรมาน 5 คน จะเห็นว่าบทบาทของฝ่ายความมั่นคง ทั้งมิติของกองทัพและตำรวจเป็นโจทย์ในงานนี้
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้