เปิดงาน Southern International Trade Expo สุราษฏร์ธานีคึกคักดันเศรษฐกิจใต้รุ่ง

เปิดงานงานแสดงสินค้า Southern  International Trade Expo เซ็นทรัลพลาซ่า สุราษฎร์ธานีคึกคัก กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทย – อินเดีย จัดงานแสดงสินค้า Southern  International Trade Expo ระหว่าง 23 – 26 กรกฎาคม 2558 มุ่งสานความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสุราษฎร์ธานีและเมืองสุราต รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย  คาดคนเข้าชมงาน 100,000 ราย  จะมีผู้แทนการค้าต่างประเทศละผู้นำเข้า400 ราย ผลักดันเศรษฐกิจการ 14 จังหวัดภาคใต้คักคัก   มียอดสั่งซื้อยางพาราล่วงหน้าแล้ว 500,000 ตัน  ประเมินมียอดขายในงานนี้ 1,200 ล้านบาท

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงสินค้า Southern  International Trade Expo ในครั้งนี้ มีจุดกำเนิดจากการที่ได้จัดคณะเดินทางไปอินเดียพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานีและหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัฐคุชราตใต้ (Southern Gujarat Chamber of  Commerce and Industry : SGCCI) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย

ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสุราต รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย และสุราษฎร์ธานี ที่มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ครบ 100 ปี ในปีนี้นับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนาม “สุราษฎร์ธานี” เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2458 ซึ่งมีความหมาย “เมืองคนดี” ให้สอดคล้องกับชื่อเมืองสุราตในประเทศอินเดียอันเป็นสถานที่กำเนิดของพระพุทธศาสนา และปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เมืองได้กระชับแน่นแฟ้น มากยิ่งขึ้นจากการลงนามบันทึกความเข้าใจเป็นบ้านพี่เมืองน้องสุราต-สุราษฎร์ธานี ระหว่างหอการค้าเมืองสุราต และหอการค้าสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ณ นครมุมไบ

ปัจจุบัน อาเซียนกับอินเดีย เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของกันและกัน ในปี 2557 การค้าของอาเซียน 10 ประเทศกับอินเดีย มีมูลค่าสูงถึง 36,737 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ซึ่งครอบคลุมทั้งการค้า บริการและการลงทุน ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ภูมิภาค นอกจากความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคแล้ว ไทยกับอินเดียยังมีความเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนในระดับทวิภาคีอีกด้วย โดยทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามใน กรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อินเดีย มาตั้งแต่ปี 2546 และได้เห็นชอบการเร่งลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที ( Early Harvest Scheme : EHS ) โดยการยกเลิกภาษีสินค้าจำนวน 83 รายการ อาทิ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณี และเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ บอลล์แบริ่ง และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ เป็นต้น ซึ่งมีผลให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายไทย-อินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 8,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในปี 2557 และเชื่อว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เน้นว่า ตลาดอินเดียมีความน่าสนใจและมีศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดอย่างมาก และการที่อินเดียมีจำนวนประชากรกว่า 1,180 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมหาศาล ประกอบกับที่ผ่านมาการค้าขายส่งออกระหว่างไทยกับประเทศอินเดียเป็นไปด้วยดีตลอดมา โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปอินเดียมีมูลค่าการส่งออกกว่า 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกของไทยประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก ที่สำคัญได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับและยางพารา เชื่อว่าภาคเอกชนไทยจะใช้โอกาส งาน Southern International Trade Expo นี้  ทำการค้าระหว่างกันและขยายมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของ 14 จังหวัดภาคใต้ให้มากยิ่งขึ้น

ด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า ภายในงานแสดงสินค้า Southern International Trade Expo จะมีการแสดงสินค้า โดยจะมีคูหาธุรกิจกว่า 180 คูหา ซึ่งคัดเลือกจากบริษัทที่มีศักยภาพในการส่งออกใน 14 จังหวัดภาคใต้แบ่งตามชนิดสินค้าต่างๆ ดังนี้ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม 63 คูหา แฟชั่น 9 คูหา สุขภาพและความงาม 23 คูหา สินค้าของใช้ภายในบ้าน/ของแต่งบ้าน 16 คูหา ยางพาราและผลิตภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง 22 คูหา โลจิสติกส์/ธุรกิจบริการ 7 คูหา รวมทั้งจะมี Pavilion การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเมืองสุราต ประเทศอินเดียกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงคูหาสินค้าจากต่างประเทศอีก 2 ประเทศ ได้แก่ คูหาจากประเทศอินเดีย 30 คูหาและประเทศมาเลเซีย 3 คูหา (เนื่องจากข้อจำกัดของขนาดพื้นที่จัดงานในภาคใต้ทำให้ไม่สามารถรับผู้ประกอบการจากมาเลเซียที่สนใจเข้าร่วมงานอีกหลายราย)และมีนิทรรศการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาให้คำแนะนำข้อมูลสินค้าและบริการแก่ผู้ประกอบการและประชาชนที่มาร่วมชมงานอีกด้วย

จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เชิญผู้แทนการค้าและผู้นำเข้าจากประเทศต่างๆ ผ่านสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมาร่วมงานจำนวนประมาณ 400 ราย ส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ภายในงานมีการเจรจาธุรกิจ โดยมีบริษัทผู้ซื้อสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากทั่วโลก 68 บริษัท แจ้งความต้องการซื้อยางพารากว่า 500,000 ตัน จะมาเข้าร่วมการเจรจาธุรกิจสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราภายในงานด้วย นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนา/Workshop ด้านโลจิสติกส์ การพัฒนาสินค้าฮาลาลและการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า และกิจกรรมพิเศษของหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการงานในครั้งนี้ อาทิ การสัมมนาสิทธิประโยชน์ทางการค้าไทย-อินเดีย การจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง คูหาความสัมพันธ์ ไทย-อินเดีย การแสดงบนเวที การสาธิตอัตลักษณ์การนวดแผนไทย การแสดงหัตถศิลป์

คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานครั้งนี้ทั้งสิ้นกว่า 100,000 รายทั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายต่างประเทศ ได้แก่ นักธุรกิจ  ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าและผู้ประกอบการ และกลุ่มเป้าหมายในประเทศ ได้แก่ นักธุรกิจ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ 14 จังหวัดภาคใต้ตลอดจนประชาชนทั่วไปในภูมิภาค และคาดว่าจะมีมูลค่าสั่งซื้อทันที 30 ล้านบาทและคาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อภายใน 1 ปีประมาณ 1,200 ล้านบาท