เมื่อการละหมาดช่วยยับยั้งความชั่ว​ แล้วจะห้ามละหมาด​ (ที่มัสยิด)​ ทำไม​?

ข้าพเจ้าเจอคำถามนี้​ เมื่อไปบรรยายที่​ ต.ปริก​ อ.สะเดา​ จ.สงขลา​ เมื่อ​ 16​ มี.ค.​ 63

ะหมาดที่ยับยั้งความชั่วได้​ คือละหมาดที่ดำเนินไปตามกฎจักรวาลแห่งอัลลอฮ​ ตัวละหมาดเองมิได้ลุกขึ้นมาสู้รบกับความชั่ว​ แต่ผู้ละหมาดอย่างเข้าใจเข้าถึงความศรัทธาต่ออัลลอฮต่างหากที่จะทำหน้าที่นั้น​ กล่าวคือการละหมาดจะช่วยขัดเกลาให้เขาเป็นผู้รักในความดีงามและรังเกียจความชั่ว​ มีความยำเกรงและละอายต่ออัลลอฮพระผู้เป็นเจ้าหากจะประพฤติชั่ว​ เขาจึงยับยั้งความชั่วของตนเองได้

นอกจากนี้จิตใจที่ถูกขัดเกลาอยู่เสมอผ่านการละหมาด จะกระตุ้นเตือนบุคคลมิให้ดูดายต่อกระแสความชั่วร้ายในสังคม​ แต่จะลุกขึ้นขจัดยับยั้งความชั่วร้ายเท่าที่สามารถจะทำได้​

ดังนั้น​ เมื่อผู้ละหมาดเข้าใจเข้าถึงวิญญาณแห่งละหมาดจริง​ ความชั่วร้ายจะถูกยับยั้งให้บรรเทาลงอย่างแน่นอน

โคโรน่าไวรัสเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อมนุษย์ในปัจจุบัน​ ผู้รักษาละหมาดย่อมมิอาจดูดายได้​ แต่จะร่วมมือขจัดภัยพิบัตินี้ตามกำลังความสามารถ​ เมื่อวิถีที่อัลลอฮกำหนดให้เป็นไปคือการแพร่เชื้อโรคจะทุเลาลงได้​ ด้วยการที่คนเราหลีกเลี่ยงการรวมตัวจำนวนมาก​ ๆ​ ผู้ละหมาดก็ย่อมต้องเดินไปตามวิถีนั้น​ ด้วยจิตวิญญาณที่ปรารถนาจะยับยั้งความชั่วร้ายนั่นเอง

ส่วนการละหมาดที่ผู้ปฏิบัติทำไปโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์​ ไม่ฟังคำตักเตือนของผู้นำและผู้รู้​ กระทั่งกลายเป็นคนแพร่เชื้อโรคสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น​ ย่อมมิอาจนับเป็นละหมาดที่อัลลอฮทรงกล่าวถึงได้​ แต่เป็นละหมาดของผู้ที่ท่านศาสนทูต​ (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม)​เรียกว่า​ คนดื้อตะแบง​ มากกว่า

ท่านกล่าวถึงคนแบบนี้ว่า

هلك المتنطعون

คนดื้อตะแบงย่อมประสบความพินาศ