กสอ. โชว์ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service: OSS) รองรับการขยายตัวผู้ประกอบการภาคใต้ รับ AEC
กรุงเทพฯ 21 กรกฎาคม 2558 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) รุกเสริมศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยภาคใต้ เร่งเครื่อง 5 อุตสาหกรรมการผลิตภาคใต้ ทั้งนี้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 109,749 ราย หรือประมาณร้อยละ 4 ของ SMEs ทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มุ่งเป้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดาให้เป็นพื้นที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาค และเป็นประตูทางใต้ของไทยบนแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor: NSEC) โดยในปี 2557 ด่านสะเดามีมูลค่าการค้าถึง 3.22 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของมูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรชายแดนประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ จากยางพารา ไม้แปรรูป และถุงมือยาง
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคใต้นับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่น่าจับตามองพื้นที่หนึ่งของประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงเดินหน้าทำโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการโดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรมการผลิตพื้นฐานของภาคใต้ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป 2.อุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 3.อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน 4.อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และ5.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผ่านโครงการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โครงการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง โครงการพัฒนาสถานประกอบการเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ AEC และ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) เป็นต้น
นายอาทิตย์ กล่าวต่อเกี่ยวกับสถานการณ์และภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิต ทั้ง 5 ในภาคใต้มีดังนี้
อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป ประเทศไทยผลิตยางได้กว่า 4.2 ล้านตันต่อปี จัดเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก โดยเป็นยางที่ผลิตจากภาคใต้ 1.63 ล้านตัน นำมาแปรรูปและผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรมใช้ในประเทศและส่งออกเพียง ร้อยละ 13 หรือคิดเป็น ปริมาณยาง 4.6 แสนตัน ส่วนผลผลิตยางได้ไม่ได้แปรรูปจะค่อนข้างมีราคาต่ำ โดยจะถูกส่งออกไปจำหน่ายใน แถบสหภาพยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา กสอ. จึงมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปยางพาราขั้นต้นเป็นผลิตภัณฑ์กึ่ง สำเร็จรูปและสำเร็จรูป อาทิ แผ่นยางปูสนามฟุตซอล ถุงมือผ้าเคลือบยาง ท่อยางสำหรับใช้ในการผลิต และอุปกรณ์ช่วยสอนทางการแพทย์ เป็นต้น ผ่านโครงการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยขณะนี้มีผู้เข้าร่วมแล้ว50 ราย แบ่งเป็น SMEs 24 ราย และวิสาหกิจชุมชน 26 ราย
อุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เนื่องด้วยไม้ยางพารา มีคุณภาพใกล้เคียงกับไม้สัก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม้ยางพาราแปรรูป จึงเป็นที่ต้องการและสร้างรายได้จากการส่งออกได้ถึงปีละ ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่ปัญหาขณะนี้ คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันขาดเทคนิคและวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ราคาและคุณภาพของไม้ยางพาราแปรรูปยังไม่คงที่ กสอ. จึงสร้างโครงการพัฒนาบุคลากรในโรงงานเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา เพื่อพัฒนาทักษะโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บุคลากรในโรงงานเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา และส่งเสริมให้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ไม้
อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน มีการคาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยทั้งปี 2558 จะลดลงจากปีก่อน 4-5 บาทต่อกิโลกรัม ตามความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่ชะลอลง โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมาของปีนี้ มีความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันประมาณ 2.3 แสนตัน ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 22.2 จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ขณะที่สถานการณ์การส่งออกน้ำมันปาล์มทุกชนิดของไทยก็ลดลงถึงร้อยละ 52.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยสามารถส่งออกจำนวน 3.99 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 154 ล้านบาท ปัญหาหลักเกิดจากผลผลิตในประเทศมีปริมาณน้อย จึงทำให้ราคาน้ำมันปาล์มของไทยสูงกว่าตลาดโลกค่อนข้างมาก ซึ่ง กสอ. มีโครงการพัฒนาความร่วมมือในระดับห่วงโซ่อุปทาน (Cluster) เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองความต้องการของตลาด อย่างมีประสิทธิภาพ
อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารของไทย มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ภาคใต้นั้นมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปมากที่สุดในประเทศ เนื่องจากมีพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุดต่อการทำประมง ทั้งนี้ กสอ. มีนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปให้มีความเข้มแข็งและเติบโต โดยการจัดตั้งโครงการThailand Food Valley ของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเพิ่มผลิตภาพโดยรวมและเชื่อมโยงการผลิตในอาเซียน
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายมุสลิมถือเป็นสินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตสินค้ามุสลิมหลายประเภท เช่น เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย หมวก กระเป๋า เป็นต้น หากได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถขยายตลาดไปยังประเทศมุสลิมในแถบอาเซียนได้ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ซึ่งมีประชากรมุสลิมกว่า 260 ล้านคน ในขณะเดียวกันประชากรมุสลิมทั่วโลกก็มีจำนวนมากถึง 1,700 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 23.7 ของจำนวนประชากรโลก ขณะที่มูลค่าภาพรวมของตลาดเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายมุสลิมมีมากกว่า 9.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 3 ล้านล้านบาท ซึ่ง กสอ. ก็มีนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการกระจายสินค้า และยกระดับมาตรฐานสิ่งทอของไทยสู่ตลาดสากลในพื้นที่ภาคใต้ผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมแฟชั่นต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โครงการพัฒนาบุคลากรภาคการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น
นอกจากนี้ จากนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ และรักษา ความมั่นคงของประเทศ โดยอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้ถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากมีความเหมาะสมในหลายด้าน ได้แก่ สามารถเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาค เป็นประตูทางใต้ของไทยบนแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor: NSEC) มีช่องทางขนส่งหลักทางถนนและราง เชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเฉพาะท่าเรือปีนังและท่าเรือกลางของมาเลเซีย ซึ่งไทยใช้ส่งออกสินค้าสำคัญหลายชนิด อาทิ ยางแผ่นดิบ และน้ำยางข้น โดยด่านศุลกากรชายแดนที่สำคัญอย่างด่านสะเดามีมูลค่าการค้าในปี 2557 กว่า 3.22 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของมูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรชายแดนประเทศไทยกับประเทศ เพื่อนบ้าน โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ไม้แปรรูป และถุงมือยาง ทั้งนี้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 109,749 ราย หรือประมาณร้อยละ 4 ของ SMEs ทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจการค้าชายแดนใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพร้อมสู่การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมั่นคงในปี 2559
นอกจากนี้ พื้นที่ภาคใต้ยังมีการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service) เพื่อเป็นศูนย์ บริการข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนรองรับเขตเศรษฐกิจ พิเศษตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.)ที่ 1/2558 เรื่องกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเมื่อมกราคมที่ผ่านมา โดยประกาศให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ประกอบด้วยพื้นที่ 4 ตำบล ในอำเภอสะเดา ได้แก่ ตำบลสะเดา ตำบลปาดังเบซาร์ตำบลสำนักขาม ตำบลสำนักแต้ว ทั้งนี้ในพื้นที่ 4 ตำบล ดังกล่าว มีสถานประกอบการที่ตั้งประกอบกิจการอยู่แล้ว 46 โรงงาน เป็นเงินลงทุน 1.92 ล้านบาท มีจำนวนคนงาน 2,979 คน (ที่มา: ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา One Stop service (OSS)) ทั้งนี้สำหรับศูนย์ฯ ดังกล่าว ได้จัดตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน หรือ OSS ของจังหวัด นายอาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย