“ภัยแล้ง” กระทบ “จีดีพี” ลด 0.1-0.5%

ขอบคุณภาพประกอบจากเชียงใหม่นิวส์

ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ชวนติดตามมากในเวลานี้  โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากภาวะภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรลดลง  รวมถึงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้หลายหน่วยงานให้ความสำคัญยิ่งขึ้น

ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ภัยแล้งเพื่อประเมินผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยประเด็นภายในสิ้นเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า อยู่ที่ว่า”จะมีน้ำฝนตกลงมาหรือไม่”หากยังไม่มีน้ำฝนตกลงมา สถานการณ์ภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ได้

สำหรับประมาณการผลกระทบของธปท. จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยราว  0.1-0.5%  หลังจากธปท. ประเมินเศรษฐกิจจะเติบโตได้ประมาณ 3% ในปีนี้

ธปท.คาดว่าฝนน่าจะตกลงมาไม่เกินต้นเดือนส.ค.  แต่หากฝนยังไม่ตกลงมา คงต้องมาประเมินผลกระทบกันใหม่ แต่ถ้าฝนตกลงมาแล้วทำให้การเลื่อนปลูกข้าวสามารถปลูกได้ ผลกระทบก็คงไม่ได้มากนัก

แต่หลายพื้นที่ในภาคกลางหลายจังหวัดที่ต้นข้าวที่ปลูกไปแล้ว เจอภาวะภัยแล้ง เหี่ยวเฉาตาย เป็นภาระหนักต่อรายได้จากการปลูกข้าวของชาวนาที่ยังไม่ได้ราคาแล้ว  รายได้จากการขายข้าวยังตกต่ำอีกด้วย

เศรษฐกิจไทย ธปท.พบว่า ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และเปราะบาง มีเพียงภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐเท่านั้น ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

ที่สำคัญธปท.จับตาอย่างใกล้ชิด ถึงปัญหาภัยแล้ง ปัญหาความไม่แน่นอนของกรีซ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะถือว่า เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง แต่กรณีกรีซ ธปท. ยังมองว่าตลาดการเงิน และตลาดทุนไทยสามารถรองรับความผันผวนได้ เนื่องจากได้คาดการณ์ และรับรู้ข่าวสารมาอย่างต่อเนื่องแล้ว

สอดคล้องกับที่นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า สถานการณ์ภัยแล้งเป็นปัจจัยลบสำคัญ ที่กระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หลังจากที่ประเทศไทยพบกับปัญหาลบหลายด้านรุมเร้า

ทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรมประมง ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และปัญหามาตรฐานทางการบิน ดังนั้นหากสถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากกว่านี้ อาจทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 3% ได้ แต่ขณะนี้ยังคงมองว่า เศรษฐกิจโตได้ 3% ก็ยังเป็นอัตราน่าพอใจ

ปัญหาภัยแล้งถือเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะกระทบทั้งประชาชนที่ไม่มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และเกษตรกร และคงจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้ แต่ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่ได้เกิดวิกฤติเหมือนปี 2540 เพียงแต่เศรษฐกิจนแผ่วลง และอาจจะสะดุดบ้าง แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและอดทนที่จะฝ่าภาวะปัญหาในช่วงนี้ไปให้ได้

ส่วนการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีหลัง  เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำไรของธนาคารก็คงจะเติบโตได้น้อย ขณะที่การปล่อยสินเชื่อคาดว่า จะโต 6% ซึ่งธนาคารคงจะประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า จะต้องตั้งสำรองเพิ่มอีกหรือไม่ หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น โดยธนาคารได้ดูแลและประคองลูกค้าเดิม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถประคองตัว รอจนเศรษฐกิจฟื้นตัว

ส่วนลูกค้าใหม่คงมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่า สินเชื่อที่ปล่อยไปจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้ ส่วนภาวะอัตราดอกเบี้ย คาดว่า จะทรงตัวในระดับต่ำ มีส่วนช่วยให้เงินบาทอ่อนค่า และทำให้การส่งออกได้ประโยชน์มากกว่าเดิมด้วย

ส่วนในด้านต่างประเทศกรณี ปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้นจีน มีผลกระทบต่อธนาคารทุกแห่งในจีน ธนาคารกสิกรไทย ระมัดระวัง เพราะรู้ว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นธนาคารท้องถิ่น ที่จดทะเบียนในประเทศจีน และรับฝากเงินหยวนได้ คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

หลายปัญหารุมเร้ากดดันเศรษฐกิจไทย ทั้งเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศในเวลานี้จะส่งผลกระทบให้”จีดีพี”ขยายตัวไม่เกิน 3% แน่