ทหารสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากฐานทัพอีกแห่ง แต่ไม่ออกจากอิรัก

นาวิกโยธินสหรัฐเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเดินทางออกจากฐานทัพอัลตะกอดดุม อิรัก 24 มีนาคม 2563 © หน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ / Sgt Robert G. Gavaldon

สหรัฐฯ และกองกำลังพันธมิตรได้ถอนกำลังออกจากฐานทัพทหารใกล้กรุงแบกแดดในอิรัก ส่งมอบการควบคุมให้แก่กองกำลังอิรัก อาร์ที สื่อรัสเซียรายงาน

ฐานทัพอากาศอัล-ตะกอดดุมแห่งนี้ ตั้งอยู่ 80 กม. ทางตะวันตกของกรุงแบกแดด เป็นที่ตั้งกองกำลังพันธมิตรมาตั้งแต่ปี 2015 แต่ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (4 เม.ย.) กองกำลังพันธมิตร 500 นายเตรียมพร้อมที่จะย้ายออก และส่งมอบการควบคุมฐานพร้อมด้วยอุปกรณ์มูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์ให้กับรัฐบาลอิรัก

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ถอนกำลังออกมาจาก 4 ฐานทัพและส่งมอบให้รัฐบาลอิรักไปแล้ว และยังมีการวางแผนที่ถอนกำลังเพิ่มเติมอีกในปีนี้

กองทหารที่ถอนออกมาจะถูกปรับย้ายกำลังไปอยู่ที่ฐานทัพอื่นๆ เช่น ฐานทัพอัยน์อัล-อะซัด ที่ตั้งอยู่ 160 กม. ทางตะวันตกของเมืองหลวงอิรัก

กองทัพสหรัฐบอกว่าการปรับเปลี่ยนกำลังนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์หลังไอซิสพ่ายแพ้ทางทหารไปแล้ว และอิรักไม่ได้ต้องการทหารอเมริกันอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนกองกำลังของสหรัฐฯ ในอิรักนี้ เกิดขึ้นหลังจากฐานทัพพันธมิตรถูกโจมตีบ่อยครั้งจากกองกำลังอาสาสมัครติดอาวุธอิรักที่อิหร่านหนุนหลัง ซึ่งเป็นการโจมตีที่เกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ ลอบสังหารนายพลอิหร่านและอิหร่านเอาคืนด้วยการโจมตีด้วยขีปนาวุธต่อฐานทัพสหรัฐในอิรักที่เกือบทำให้เตหะรานและวอชิงตันเปิดฉากสงคราม

การโจมตียังคงดำเนินต่อไป เมื่อเดือนที่แล้วทหารอเมริกันสองนายและทหารอังกฤษหนึ่งนายเสียชีวิตจากการยิงจรวดเข้าฐานทัพทาจิ สหรัฐฯ ตำหนิว่าเป็นฝีมือของกลุ่มกะตาอิบฮิซบุลเลาะห์ที่โปรอิหร่าน และเปิดตัวการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มติดอาวุธนี้ ทว่าหลังจากนั้นฐานทาจิก็ถูกโจมตีอีกครั้งและทหารพันธมิตรจำนวนมากได้รับบาดเจ็บที่นั่น

ท่ามกลางการโจมตีนั้นกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากอิรักอย่างสิ้นเชิงตามที่รัฐสภาอิรักร้องขอเมื่อเดือนมกราคม 

ตามรายงานของอัลมัสดาร์  กลุ่มนักรบในอิรัก 8 กลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์ร่วมในวันเสาร์ (4 เม.ย.) ระบุว่า พวกเขาให้คำมั่นว่าจะโจมตีกองทัพสหรัฐฯ จนกว่าพวกเขาจะถอนตัวออกจากอิรักอย่างสิ้นเชิง 

ในขณะเดียวกันแถลงการณ์ก็ประณามนายกรัฐมนตรีอิรักที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง “อัดนาน อัลซุรฟี” พวกเขาเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาให้เอาคำขอโทษจากอัลซุรฟีและบีบให้เขาลาออก ตามที่พวกเขากล่าวหาว่าอัลซุรฟีสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐ