ม.วลัยลักษณ์มีจำนวนอาจารย์ผ่านการรับรอง UKPSF จากประเทศอังกฤษ สูงสุดในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ปฎิรูปการเรียนการสอนภายใต้กรอบ UKPSF จากประเทศอังกฤษ  มุ่งมั่นสร้างอาจารย์ผู้สอนมืออาชีพ นักศึกษามีทักษะในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์  ปัจจุบันมีจำนวนอาจารย์ผ่านการรับรองการสอนภายใต้กรอบ UKPSF 133 คน สูงที่สุดในประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้เว็บไซต์สถาบันการอุดมศึกษาของประเทศอังกฤษ Advance HE  www.advance-he.ac.uk ได้เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับความสำเร็จในการปฏิรูปการเรียนการสอนของม.วลัยลักษณ์  โดยการนำกรอบมาตรฐานการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาหรือ UKPSF (The UK Professional Standards Framework) จากประเทศอังกฤษมาใช้  ทำให้ปัจจุบันมีคณาจารย์ของ ม.วลัยลักษณ์ได้รับการรับรองเป็น Fellowship จำนวน 133 คน แบ่งเป็น ระดับ Senior Fellow จำนวน 32 คน และระดับ Fellow จำนวน 101 คน และ ถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในประเทศไทย และส่งผลให้ภาพรวมของประเทศไทยมีจำนวน Fellowship มากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลกไม่นับรวมประเทศอังกฤษด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า การนำระบบ UKPSF จากประเทศอังกฤษมาใช้ในการเรียนการสอนและการอบรมอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอน ภายใต้การบริหารของ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีม.วลัยลักษณ์ ที่ได้ช่วยผลักดันให้อาจารย์ทุกคนเข้ารับการอบรม มีการอบรมไปแล้วจำนวน 4 รุ่น รุ่นละ 60 คน ที่สำคัญยังสนับสนุนให้อาจารย์สมัครเข้ารับการรับรองเป็น Fellowship จนปัจจุบันผ่านการรับรองในจำนวนมากดังกล่าว ซึ่งนโยบายนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560  มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างอาจารย์ที่เป็นอาจารย์ผู้สอนมืออาชีพ ให้ความสนใจกับการเรียนรู้ พัฒนาสมรรถภาพของนักศึกษาอย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มากกว่าการเรียนแบบท่องจำ  โดยในขณะนี้ถือได้ว่านโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ปัจจุบันอาจารย์ของม.วลัยลักษณ์ได้รับการประเมินจากนักศึกษา 4 คะแนนหรือมากกว่าจากคะแนนเต็ม 5 ถึง 93%  ขณะเดียวกันอัตราการตกออกของนักศึกษาลดลงจาก 30% เหลือเพียง 5% เท่านั้น

“ก่อนหน้านี้คณาจารย์ไม่มีการพูดถึงการเรียนการสอนในลักษณะนี้มาก่อน แต่ปัจจุบันการเรียนการสอนแบบ UKPSF ถือเป็นวัฒนธรรมการเรียนการสอนของ ม.วลัยลักษณ์  มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนของคณาจารย์ถึงการเรียนการสอน UKPSF ในทุกวงสนทนา ซึ่งการเรียนรู้ของนักศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของทำงานของคณาจารย์มหาวิทยาลัยของเรา” รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าว

ด้าน คุณ  Alison Johns ผู้อำนวยการใหญ่ของ Advance HE ได้ส่งอีเมลล์แสดงความยินดีกับม.วลัยลักษณ์ที่มีพัฒนาการด้านการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น หลังจากที่ได้นำเอาระบบการเรียนการสอนระบบ UKPSFมาใช้ การจัดตั้ง UKPSF Club เพื่อเป็นชุมชนแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนระหว่างอาจารย์ด้วยกัน นอกจากนี้ยังได้กล่าวชื่นชมอาจารย์ผู้เข้าอบรมทุกคนที่มีความกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนวิธีการสอนระหว่างกัน ทำให้เกิดวิธีคิดและแนวคิดใหม่ๆ  มีการแบ่งปันความสำเร็จระหว่างผู้เข้าอบรมด้วยกัน และรู้สึกดีใจที่คณาจารย์ของ ม.วลัยลักษณ์จำนวนมากได้รับการรับรองรองเป็น Fellowship และหวังว่าจะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป