โรคาพยาธิอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เพิ่งถูกสร้าง และยังมีการค้นพบว่าใต้ธารน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายไป มีไวรัสอยู่มากมายที่มีอายุถึงสามหมื่นปีและพร้อมจะกลับมามีชีวิตอีกครั้งเมื่อบรรยากาศเป็นใจ
มนุษย์จะถือตัวว่าเก่งกาจยังไงจึงย่อมหนีไม่พ้นความตาย ไม่ตายด้วยไวรัสก็ต้องตายด้วยเหตุอื่นอยู่ดี ตายแล้วก็รอวันฟื้นคืนอีกครั้ง เหมือนที่ไวรัสมันเป็นของมันนั่นแหละ เพราะนี่คือวิถีที่องค์พระผู้ทรงสร้างไวรัสและสรรพชีวิตทั้งมวลได้ทรงกำหนดไว้แล้ว และไม่มีอะไรมาทดแทนวิถีแห่งพระองค์ได้
แน่นอน เราต้องไม่วิ่งเข้าหาความตาย แต่จะต้องประคองชีวิตให้อยู่รอดเท่าที่สามารถ เราจึงต้องป้องกันตนเองจากโรคภัยต่าง ๆ ตามกำลังความรู้ที่มี ศาสดาของเราจึงบอกว่าถ้าเกิดโรคระบาดที่ใด ก็อย่าเข้าไปที่นั่น และคนในพื้นที่ระบาดของโรคก็อย่าหนีโรคไปที่อื่น
อย่างไรก็ตาม โรคระบาดไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน มันเป็นอุบัติการณ์ที่ถูกกำหนดให้เกิดด้วยพระราชประสงค์แห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าในระยะเวลาหนึ่ง แล้วพระองค์ก็จะทรงบันดาลให้มนุษย์ได้ค้นพบวิธีที่จะเอาชนะมันได้ในที่สุด ตามวจนะศาสดาที่บอกว่า เมื่อทรงให้เกิดโรคใดมา ก็ทรงประทานยามาด้วยเช่นกัน
วิธีการป้องกันรักษาโรคหนึ่ง ๆ จึงไม่ควรกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของผู้คนอยู่ชั่วนาตาปี แต่ผู้มีอำนาจต้องนำคนสู่ชีวิตปกติโดยเร็ว พอ ๆ กับที่ต้องหาทางป้องกันรักษาและค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับไวรัสอย่างต่อเนื่องจริงจัง ยกเว้นผู้มีอำนาจนั้นมีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่น เช่น ต้องการควบคุมวิถีชีวิตผู้คนให้อยู่ในกรอบที่ตนกำหนด ต้องการรวบอำนาจและไม่ต้องการเห็นการรวมตัวทางเมืองของประชาชน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็อาจสร้างวาทกรรมโรคระบาดให้ยาวนานต่อไปเพื่อข่มขู่และเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนได้
ช่วงที่มีการระบาดของโรครุนแรง สิ่งที่เกิดกับมุสลิมคือความห่างเหินระหว่างคนกับมัสยิด ซึ่งถือว่าเป็นไปตามหลักศาสนาว่าด้วยความจำเป็นในการปกป้องชีวิตจากภยันตรายต่าง ๆ แม้การที่มุสลิมคนหนึ่งทำตัวห่างเหินกับมัสยิดจะเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ในสถานการณ์คับขันอันตราย อิสลามจะอนุญาตให้กระทำการบางอย่างที่ถือว่าต้องห้ามได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตเอาไว้นั่นเอง แต่การใช้ข้ออนุโลมดังกล่าวมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่สองประการ ดังปรากฎในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า (อัลบะกอรอฮ 2:173)
فمن اضطر غير باغ ولا عاد فلا إثم عليه
“ผู้ใดเผชิญความคับขันอันตราย ก็อนุญาตให้บริโภคของต้องห้ามได้ โดยไม่ถือว่าบาป แต่ต้องมิใช่เจตนาที่จะแสวงหาสิ่งนั้น และต้องไม่บริโภคเกินความจำเป็นในการประทังชีวิต”
ข้อคำนึงสองประการในโองการนี้คือ
1. ไม่ใช่การแสวงหาของต้องห้ามโดยเจตนา
2. ไม่ใช้ข้อผ่อนผันจนเกินความจำเป็น
การอิบาดัตของมุสลิมที่ต้องแยกกันทำในเวลานี้จนก่อเกิดความห่างเหินระหว่างคนกับมัสยิด เป็นข้อผ่อนผันในสถานการณ์จำเป็นซึ่งต้องอยู่ในกรอบของข้อคำนึงทั้งสองประการข้างต้น กล่าวคือ
1. ไม่ใช่เกิดจากเจตนาที่ต้องการแยกคนออกจากมัสยิดหรือเจตนาที่ไม่ต้องการให้เกิดการรวมตัวของผู้คน ซึ่งผู้นำหรือองค์กรศาสนาคงไม่มีใครเจตนาเช่นนั้น แต่ต้องพึงระวังการล้อไปกับข้อกำหนดของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ที่มีเจตนาชัดเจนมาตั้งแต่ตอนไม่เกิดโรคระบาดว่าไม่ต้องการเห็นการรวมตัวหรือชุมนุมของประชาชน จึงอาจยืดเวลาการห้ามต่าง ๆ ออกไปโดยไม่จำเป็น ทั้ง ๆ ที่การระบาดของโรคทุเลาเบาบางไปมากแล้ว
หากองค์กรศาสนาไม่พิจารณาตัวบทให้แน่ชัด แต่ล้อตามฝ่ายการเมืองอย่างเดียว อาจกลายเป็นเหยื่อทางการเมืองและใช้ข้อผ่อนผันผิดบทบัญญัติได้
2. ไม่ใช้ข้อผ่อนผันจนเกินความจำเป็น
แต่การเข้มงวดหรือผอนคลายต้องเป็นไปตามสถานการณ์จริง ในแง่การบริโภค หากกินของต้องห้ามเข้าไปจนพออยู่ได้แล้วก็ต้องหยุดแค่นั้น ขืนกินต่อก็ถือว่าผิดเพราะเป็นการสนองตัณหามากกว่าการรักษาชีวิต
การห้ามคนไปมัสยิดเพื่อละหมาดก็เช่นกัน หากสถานการณ์โรคทุเลาลง การผ่อนปรนให้ไปมัสยิดได้ก็ต้องเกิดขึ้น โดยอาจคงมาตรการป้องกันไปสักระยะหนึ่ง แล้วค่อย ๆ คลายตัวไปในที่สุด แต่ถ้าจะให้ไวรัสหมดไปก่อนแล้วค่อยผ่อนคลาย ถือว่าทำเกินความจำเป็น เพราะยังไงไวรัสก็จะอยู่ไปจนถึงวันสิ้นโลก
ที่อาจจะกระทบพอ ๆ กับเศรษฐกิจหากการห้ามไปมัสยิดยืดเยื้อยาวนานคืออัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมซึ่งต้องยอมรับว่าการอิบาดัตร่วมกัน ณ มัสยิดบนพื้นฐานความเข้าใจอย่างถูกต้องคือตัวจักรสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์นั้น
นอกจากนี้การรวมตัวที่มัสยิดยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมัสยิดอันนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจของชุมชนด้วย
ปราศจากการรวมตัวที่มัสยิดด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว เราก็คงจะมีมุสลิมประเภทสากลเต็มไปหมด ประเภทที่พร้อมถูกกลืนไปในกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม เผด็จการนิยมหรือเสรีนิยมอะไรก็ได้ ยกเว้นอิสลามนิยม เพราะถือว่าศาสนาเป็นสิ่งปลีกย่อยเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ฐานแห่งอัตลักษณ์และสิ่งที่เป็นบังเหียนของชีวิต
นิวนอร์มอลหรือชีวิตวิถีใหม่สำหรับมุสลิม จึงอาจเป็นที่ยอมรับได้ในหลาย ๆ เรื่อง แต่คงไม่ใช่การทำให้คนห่างเหินกับมัสยิด
ที่มา : https://www.facebook.com/wisoot.binlateh/posts/2731798963722624

ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ประจำภาคใต้, อิหม่ามมัสยิดบ้านเหนือ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา