72 ปี “Nakba Day” หายนะของชาวปาเลสไตน์ หลังการตั้งรัฐเถื่อนอิสราเอล

พลเรือนชาวปาเลสไตน์ถูกบีบบังคับให้หนีออกจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในกาลิลี ประมาณห้าเดือนหลังจากการสร้างรัฐอิสราเอล [รอยเตอร์ส]
พลเรือนชาวปาเลสไตน์ถูกบีบบังคับให้หนีออกจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในกาลิลี ประมาณห้าเดือนหลังจากการสร้างรัฐอิสราเอล [รอยเตอร์ส]

เมื่อการบรรลุฝันของยิวไซออนิสต์คือการตั้งรกรากในดินแดนปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์ก็ต้องพลัดพรากจากมาตุภูมิของตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

15 พฤษภาคม 1948 เป็นวันที่ถูกบันทึกในความเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์ รู้จักในชื่อ “Nakba” (นักบา) ในภาษาอาหรับ ที่มีความหมายว่า “วันแห่งหายนะ” หลังจากการประกาศจัดตั้งรัฐอิสราเอลทับบนดินแดนปาเลสไตน์

ทุกปีชาวปาเลสไตน์จะจัดกิจกรรมรำลึกวันนักบา เพื่อทวงสิทธิหวนคืนสู่มาตุภูมิของตน โดยปีนี้ครบรอบปีที่ 72 นับตั้งแต่ “ยีชูฟ” ( yishuv) ชุมชนชาวยิวในปาเลสไตน์ได้เปลี่ยนสภาพเป็นรัฐอิสราเอล หลังจากสหราชอาณาจักรได้ออกจากปาเลสไตน์ ซึ่งประเทศนักล่าอาณานิคมได้บุกเข้ายึดครองดินแดนแห่งนี้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1

สำหรับชาวปาเลสไตน์ “นักบา” ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เริ่มขึ้นในปี 1880 เมื่อผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปไซออนิสต์ได้เริ่มย้ายเข้ามาอยู่ในปาเลสไตน์เพื่อวางรากฐานสำหรับสถานะในอนาคตของพวกเขา

โดยแผนการของไซออนิสต์ในการตั้งรกรากทับปาเลสไตน์ได้บรรลุฝันในปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) หลังเอาชนะกองทัพอาหรับ 5 ชาติที่มีจำนวนมากกว่า

ระหว่างปี ค.ศ.2490 ถึงปี ค.ศ.2492 ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 750,000 คน จากประชากร 1.9 ล้านคนถูกขับไล่ออกจากเมืองและหมู่บ้านเพื่อเปิดทางให้ผู้อพยพชาวยิวใหม่

ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่หนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งพวกเขาต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย

มีชาวปาเลสไตน์เพียง 150,000 คนเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในรัฐอิสราเอล ซึ่งตั้งทับบน 78 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดของดินแดนปาเลสไตน์ ส่วนที่เหลืออีก 22 เปอร์เซ็นต์ของภาคตะวันออกของปาเลสไตน์ถูกผนวกโดยจอร์แดน และเปลี่ยนชื่อเป็น “เวสต์แบงก์” และผู้อยู่อาศัยกลายเป็นพลเมืองจอร์แดน

ในเดือนมิถุนายนปี 1967 ฝั่ง “เวสต์แบงก์” ถูกยึดครองโดยอิสราเอลพร้อมกับ “ฉนวนกาซา” ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพอียิปต์

ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติกลางปาเลสไตน์ ประชาชนชาวปาเลสไตน์ประมาณห้าล้านคนอาศัยอยู่ในเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองและฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อม และ 1.5 ล้านคนอยู่ในอิสราเอล อีกหกล้านกลายเป็นคนพลัดถิ่นอาศัยอยู่ในในประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก

ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ออกจากหมู่บ้านไม่ทราบพิกัด ปี 1948. Credit: UNRWA

การขับไล่ชาวอาหรับอย่างเป็นระบบในปี 1948 

สี่ปีที่แล้ว นักประวัติศาสตร์ “ตามาร์ โนวิค” (Tamar Novick) พบเอกสารในแฟ้มของ โยเซฟ วอชวิช (Yosef Waschitz) จากแผนกอาหรับของพรรคมาปัม (Mapam) พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในอิสราเอล เอกสารซึ่งดูเหมือนจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสงคราม 1948 ซึ่งระบุว่า :

“ซัฟวัฟ (Safsaf : หมู่บ้านอดีตชาวปาเลสไตน์ใกล้กับ Safed) ผู้ชายถูกจับกุม 52 คน ถูกมัดติดเข้าด้วยกัน ขุดหลุมและยิงพวกเขา, 10 คนยังคงกระตุก, ผู้หญิงเข้ามาขอความเมตตา, พบศพผู้สูงอายุ 6 ราย, มีศพ 61 ร่าง, 3 รายถูกข่มขืน หนึ่งรายจากทางตะวันออกของหมู่บ้านซาเฟด เป็นหญิงสาวอายุ 14 ปี, 4 คนถูกยิงและสังหาร พวกเขาใช้มีดตัดแหวนออกจากศพหนึ่ง“

ผู้เขียนอธิบายเกี่ยวกับการสังหารหมู่เพิ่มเติม ทั้งการปล้นและการทารุณโดยกองกำลังอิสราเอลในสงครามก่อตั้งรัฐ

“ไม่มีชื่อในเอกสารนี้ และยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง” ดร.โนวิคบอกฮาอาเร็ตซ์สื่ออิสราเอล “มันยังหยุดกลางคัน ฉันพบว่ามันน่ารำคาญมาก ฉันรู้ว่าการค้นหาเอกสารเช่นนี้ทำให้ฉันต้องรับผิดชอบในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น”

ส่วนหมู่บ้านกาลิลีตอนบนของหมุ่บ้านซัฟวัฟ ถูกกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลยึดครองในปฏิบัติการไฮรัม (Hiram) จนถึงปลายปี 1948 หมู่บ้านโมเชฟ ซัฟซูฟา (Moshav Safsufa) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นบนซากปรักหักพัง มีการกล่าวหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่ากองพลที่เจ็ดของอิสราเอลได้ก่ออาชญากรรมสงครามในหมู่บ้านแห่งนี้ ข้อหาเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนโดยเอกสารที่ดร.โนวิค พบ ซึ่งนักวิชาการไม่เคยรู้มาก่อนหน้านี้

โนวิคตัดสินใจปรึกษากับนักประวัติศาสตร์คนอื่นเกี่ยวกับเอกสารนี้ “เบนนี่ มอร์ริส” ซึ่งหนังสือหลายเล่มของเขาเป็นตำราพื้นฐานในการศึกษาเหตุการณ์นักบาของชาวปาเลสไตน์ มอร์ริสบอกกับเธอว่าเขาเองก็เจอเอกสารที่คล้ายกัน

เขาอ้างถึงบันทึกที่ทำโดย อะเหรอน โคเฮน (Aharon Cohen) สมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรค Mapam บนพื้นฐานของการบรรยายสรุปในเดือนพฤศจิกายนปี 1948 โดย “อิสราเอล กาลีลี” (Israel Galili) อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของกองทหาร Haganah ซึ่งปัจจุบันแปลงกลายเป็น IDF บันทึกนี้ของโคเฮนในกรณีเดียวกันซึ่งมอร์ริสตีพิมพ์ระบุว่า: “ชายจากหมู่บ้านซัฟวัฟ 52 คนถูกผูกด้วยเชือก โยนไปในหลุมและยิง มี 10 คนถูกฆ่าตาย ผู้หญิงร้องขอความเมตตา [มี] 3 กรณีถูกข่มขืน  จับและปล่อย เด็กหญิงวัย 14 ถูกข่มขืน อีก 4 คนถูกฆ่าตาย วงแหวนแห่งมีด (ใช้มีดเชือดศพเพื่อเอาแหวน) ”

ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในยุคแรก ไปยังเรือที่กาซาเพื่อหลบหนีไปยังเลบานอนหรืออียิปต์ในปี 1949 / Credit: Hrant Nakashian/1949 UN Archives

อิสราเอลซ่อนหลักฐานอย่างไร

ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ผ่านมาทีมกระทรวงกลาโหมอิสราเอลได้ทำลายเอกสารสำคัญของอิสราเอลและลบเอกสารประวัติศาสตร์ แต่มันไม่ใช่แค่เอกสารเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิสราเอลหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเชิงลับ แต่ยังรวมเอกสารหลายร้อยเล่มที่ถูกปกปิดอันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างเป็นระบบเพื่อซ่อนหลักฐานของเหตุการณ์นักบา

ปรากฏการณ์นี้ถูกตรวจพบครั้งแรกโดยสถาบัน Akevot เพื่อการวิจัยความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ ที่ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการปกปิดนี้ว่า เจ้าหน้าที่ของ “มัลมาบ” (Malmab : ชื่อย่อในภาษาฮิบรูของแผนกความมั่นคง กระทรวงกลาโหมอิสราเอล) ได้ไปเยือนหอจดหมายเหตุของรัฐและเอกชน และบังคับให้ผู้ดูแลต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อิสราเอล โดยเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับความขัดแย้งอาหรับ – อิสราเอล 

รายงานเชิงสืบสวนของฮาอาเร็ตส์สื่ออิสราเอล พบว่า Malmab ได้ปกปิดคำให้การของนายพล IDF เกี่ยวกับการสังหารพลเรือนและการทำลายหมู่บ้าน รวมถึงเอกสารการขับไล่ชาวเบดูอินในช่วงทศวรรษแรกของการตั้งรัฐ

ฮาอาเร็ตส์ได้ไปสัมภาษณ์ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุของรัฐและเอกชนซึ่งเปิดเผยเหมือนๆ กันว่า เจ้าหน้าที่ของฝ่ายรักษาความมั่นคงอิสราเอลได้ปฏิบัติต่อหอจดหมายเหตุเสมือนเป็นสมบัติของพวกเขา ในบางกรณีก็มีการคุกคามกรรมการด้วยตนเอง

Yehiel Horev ผู้เป็นหัวหน้า Malmab มาเป็นเวลาสองทศวรรษจนถึงปี 2007 ยอมรับกับฮาอาเร็ตส์ว่า เขาเป็นคนริเริ่มโครงการทำลายเอกสารนี้ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่ เขายืนยันว่ามันสมเหตุสมผลที่จะปิดบังเหตุการณ์ในปี 1948 เพราะการเปิดเผยสามารถสร้างความไม่สงบในหมู่ประชากรอาหรับของประเทศนี้

เมื่อถามถึงเหตุผลในความพยายามลบเอกสารที่ตีพิมพ์ไปแล้ว เขาอธิบายว่าวัตถุประสงค์คือเพื่อบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของการศึกษาเกี่ยวกับประวัติของปัญหาผู้ลี้ภัย ในมุมมองของ Horev ข้อกล่าวหาของนักวิจัยที่อ้างอิงด้วยข้อมูลจากเอกสารต้นฉบับนั้นย่อมไม่เหมือนกับข้อกล่าวหาที่ไม่สามารถพิสูจน์หรือหักล้างได้

 

อ้างอิง

https://www.aljazeera.com/news/2020/05/nakba-day-palestinians-historical-event-200512135241146.html

https://www.haaretz.com/israel-news/.premium.MAGAZINE-how-israel-systematically-hides-evidence-of-1948-expulsion-of-arabs-1.7435103