ตั้งแต่ วันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้ลดค่าเงินหยวนสามวันติดต่อกันรวม 4.65% มาจากยอดการส่งออกจีนร่วงลงอย่างหนักในเดือนก.ค. เป็นผลมาจากอุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแอ และเงินหยวนที่แข็งค่ามาเป็นเวลานาน โดยที่ยอดส่งออกเดือนกรกฎาคมร่วงลง 8% สะท้อนถึงต้นทุนค่าแรงที่ปรับตัวขึ้น และเป็นตัวเลขที่อ่อนแอ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยยอดส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของจีนปีนี้ ปรับตัวลงเกือบ 1% จากปีก่อนหน้า
จีนได้ปรับลดค่าเงินหยวนลง ด้วยการปรับเปลี่ยนอัตราอ้างอิงรายวันในตลาดปริวรรตเงินตราของจีน ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ก่อนส่งสัญญาณความมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมกันจีนยังใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การลดภาษีและการขจัดความล่าช้าของระบบราชการ เพื่อช่วยเหลือบรรดาผู้ส่งออก
ถือเป็นมาตรการปฏิรูปเงินหยวน ให้กลไกตลาดสามารถกำหนดค่าเงินได้มากขึ้น โดยจะใช้ “ราคาปิด” ของเงินหยวน มากำหนดเป็น”ราคากลาง” ให้ค่าเงินเบี่ยงเบนได้ไม่เกิน 2% จากราคากลางในแต่ละวัน
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตามทางการจีน เพราะหลายปีแล้วที่จีนวิ่งเต้นให้ไอเอ็มเอฟ ยอมรับเงินหยวนเป็น เงินสำรองระหว่างประเทศ เหมือนดอลลาร์ ปอนด์ ยูโร และเงินเยน แต่เงื่อนไขของไอเอ็มเอฟคือต้องปล่อยเสรีค่าเงินหยวน และเปิดเสรีการไหลของเงินทุน ซึ่งจีนยังไม่ยอมทำ
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การลดค่าเงินหยวนในครั้งนี้เป็นก้าวแรกๆ เพื่อให้เงินหยวน “ยืดหยุ่น” มากขึ้นและกลายเป็น “เงินสากล” อย่างแท้จริง ในอนาคตนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า เศรษฐกิจจีนและการส่งออกที่ขยายตัวช้าลงมีส่วนให้ทางการจีนตัดสินใจลดค่าเงินด้วย
ด้วยเหตุการที่จีนลดค่าเงินหยวนลง เพื่อหวังให้การส่งออกไม่ชะลอตัวลงนัก ทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างให้ค่าเงินอ่อนค่าลง เพื่อพยุงการส่งออก นำมาซึ่งการแข่งขันทางการค้าโดยเปรียบเทียบโดยใช้ค่าเงินอ่อนค่าเป็นหลัก
ทำให้เศรษฐกิจไทย ยังต้องปรับค่าเงินบาทอ่อนตัวลงตามค่าเงินภูมิภาค และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินทหลักของโลกด้วย เพื่อไม่ให้การส่งออกทรุดตัวลงไปมาก ล่าสุดสศช.หรือสภาพัฒน์ ยอมหั่นการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2558 ลงจากขยายตัวที่ 3-4% เหลือแค่ 2.7-3.2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งออกติดลบ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ก็ยังหวังลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยว และค่าเงินบาทอ่อนมาช่วยหนุนส่งออกให้ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เห็นว่าปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินบาท จะทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทในครึ่งปีหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อ เนื่อง
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะติดลบ 3.5% ต่อปี จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 0.2% ต่อปี ด้านการบริโภคของครัวเรือน 1.8% และการลงทุนรวมขยายตัว 6.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงติดลบ0.7-ติดลบ0.2% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.8% ของจีดีพี
สำหรับข้อจำกัดที่เศรษฐกิจไทยจะ เผชิญในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้า และคู่แข่ง ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2558 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการใช้จ่าย เงินงบประมาณและขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี การแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตรโดยการดูแลต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรให้ เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการลดลงของราคานำเข้าและการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่ง นำเข้าสำคัญๆ การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรวมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อยและการส่ง เสริมการทำสัญญาเช่าที่ดินทางการเกษตรในลักษณะการแบ่งปันผลผลิตแทนการคิดค่า เช่าในลักษณะเหมาจ่าย
นอกจากนี้ยังต้องประสานความ ร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกที่สำคัญๆ และการดูแลค่าเงินบาทให้ปรับตัวสอดคล้องกับสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่ แข่ง การดูแลราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญๆ ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาตลาดโลกและการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน การลดความล่าช้าและข้อจำกัด ในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ และการแก้ปัญหาการค้าแรงงานข้ามชาติและปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย
ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กรณีที่สศช. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เหลือโต 2.7-3.2% ว่า เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่ธปท.ประมาณการไว้ โดยเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพและมั่นคง ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนดุลบัญชีเดินสะพัดการจ้างงานและเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยังยิ้มได้แม้หน้าตาจะไม่ผ่องใส
ทั้งนี้หากรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถทำได้ ถ้ามาตรการดังกล่าว จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้วางรากฐานในอนาคต และบรรเทาความเดือดร้อนที่ตรงจุด โดยเฉพาะเกษตรกร และเอสเอ็มอี
“แบงก์ชาติได้ดำเนินมาตรการผ่อน คลาย ด้านอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย และปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้เข้มแข็งไว้อยู่แล้ว จึงไม่มีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
สำหรับนายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สินเชื่อรวมของธนาคารในปีนี้มีโอกาสต่ำกว่า 3% ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ หลังเศรษฐกิจไทยเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก และประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คงเติบโตไม่ถึง 3% ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อในครึ่งปีหลังลดลงตามไปด้วย
“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คนเข้ามาขอกู้ลดลงอยู่แล้ว พอตอนนี้เจอสถานการณ์ระเบิดราชประสงค์ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ทำให้เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ 3% อาจจะทำไม่ถึงด้วยซ้ำ”
ด้านนางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า บลจ.กสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการดัชนีหุ้นไทยปลายปีลงมาอยู่ในช่วง 1,400-1,450 จุด เนื่องจากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตได้ช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ เมื่อค่ำวันที่17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้ต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วแค่ไหน
“สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับกรณีการวางระเบิดบริเวณราช ประสงค์ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงรุนแรง หุ้นที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง คือหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มโรงแรม การบินและขนส่ง โดยปรับตัวลดลงที่ประมาณ 7-10% ในขณะที่ตลาดโดยรวมปรับลดลงประมาณ 2.56%”
ทั้งนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 0.70% มาอยู่ที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่18 สิงหาคม 2558 จากความตื่นตระหนกของตลาด ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทยังไม่น่ากังวล เนื่องจากเป็นไปในทิศทางเดียวกับการอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค
ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกของไทยปีนี้เป็นติดลบ 3% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออก 220,698 ดอลลาร์ จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.2% ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาท 35 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาเรล ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ
สำหรับสาเหตุที่ปรับลดเป้าหมายการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า แม้จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น แต่การนำเข้าในประเทศต่างๆ ยังคงติดลบ เช่น จีน -21% สหรัฐ -4% ขณะที่การส่งออกของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้-4.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ราคาข้าวตกไป 7% ยางพารา 19% และน้ำตาล 9% ส่งผลให้แม้การส่งออกจะมีปริมาณเท่าเดิมแต่ในด้านของมูลค่ามีการปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบที่ผู้ประกอบ การมีการเปลี่ยนโมเดล ส่งผลให้การส่งออกลดลง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน จะสามารถกลับมาขยายตัวได้
กระทรวงพาณิชย์ ยังต้องการเห็นว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากจะผลักดันให้การส่งออกอยู่ที่เป้าหมายที่ติดลบ 3% นั้น จะต้องส่งออกเฉลี่ยได้เดือนละ 19,000 ดอลลาร์ แม้การส่งออกโดยภาพรวมยังติดลบ แต่ไทยยังสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้ สะท้อนจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจาก 2.4% เป็น 2.6% ญี่ปุ่น 2.7% เป็น 3.1% จีน 1.9% เป็น 2.2% ออสเตรเลีย 4.3% เป็น 5% และสหรัฐ 1.2% เป็น 1.3%
การรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ายังมีความจำเป็นเพื่อให้การแข่งขันการส่งออกของไทยไม่ทรุดตัวลงแรงกว่านี้