
ลอเรนซ์แห่งอาระเบีย (Lawrence of Arabia) เป็นฉายาที่มอบให้กับ โทมัส เอ็ดเวิร์ด ลอว์เรนซ์ (Thomas Edward Lawrence) เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอังกฤษ ผู้ซึ่งต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกองโจรอาหรับในตะวันออกกลาง ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 โทมัส เอ็ดเวิร์ด ลอว์เรนซ์ เสียชีวิตหลังจากหนึ่งสัปดาห์ที่อยู่ในอาการโคม่าอันเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในเมืองดอร์เซต ประเทศอังกฤษ นายทหารอังกฤษผู้นี้ มีชื่อเสียงในฐานะนักภาษาศาสตร์ นักการทูต นักโบราณคดี นักเขียน และนักยุทธศาสตร์การทหารซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขบถของอาหรับต่อจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งทิ้งมรดกอันยั่งยืนไว้ในตะวันออกกลางร่วมสมัย
ลอว์เรนซ์เกิดที่เมืองเทรแมด็อก ตอนเหนือของเวลส์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1888 และครอบครัวย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองอ็อกฟอร์ด ลอว์เรนซ์สนใจในดินแดนตะวันออกกลาง ประวัติศาสตร์ โบราณคดีของมัน และสถาปัตยกรรมยุคกลางของปราสาทสงครามครูเสดตั้งแต่อายุยังน้อย
ตลอดวัยหนุ่ม เขาเดินทางไปทั่วภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของซีเรียและปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและการทำวิทยานิพนธ์ของเขา ในที่สุดเขาก็มีโอกาสที่จะออกเดินทางไปสำรวจขุดในแม่น้ำยูเฟรติส ช่วงปีค.ศ. 1911 ถึงปี 1914 เขาใช้เวลาหลายปีในการทำความคุ้นเคยกับแผ่นดิน ผู้คน และภาษาทั้งร่วมสมัยและโบราณ เสมือนเป็นการเตรียมเขาให้พร้อมรับบทบาทสำคัญที่จะเล่นในไม่ช้า
นอกจากนี้เขายังได้ออกเดินทางสำรวจเพิ่มเติม เช่นตามแนวพรมแดนออตโตมันในซีนายและคลองสุเอซ ซึ่งเขาอ้างว่ามีเจตจำนงทางด้าน “วิทยาศาสตร์” แต่มีการเปิดเผยว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงคือการลาดตระเวนทำแผนที่อันจะเอื้อประโยชน์ในไม่ช้าให้กับกองทัพอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ลอเรนซ์เข้าร่วมกองทัพในปี 1914 ทำงานในแผนกทางภูมิศาสตร์ จนกระทั่งเขาถูกส่งไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ในเดือนธันวาคม 1914 ตลอดช่วงต้นของสงครามโลกนี้เขาทำงานในหน่วยข่าวกรองทางทหารในกรุงไคโรซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ที่นี่เขาและทีมของเขาวางแผนและวิเคราะห์แบบแผนชิงยุทธศาสตร์ในการผลักดันจักรวรรดิออตโตมันซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี ทั้งนี้ก่อนสงครามโลกสหราชอาณาจักรยังคงนโยบายในการสนับสนุนจักรวรรดิออตโตมันในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้จบลงหลังออตโตมันสนับสนุนเยอรมนีในพฤศจิกายน 1914

ในการมองหาประโยชน์จากลัทธิชาตินิยมอาหรับที่กำลังเติบโต อังกฤษจึงสนับสนุนชาวอาหรับชั้นนำที่จะต่อต้านการปกครองจักรวรรดิออตโตมัน การเจรจาที่ซับซ้อนเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปเมื่อ ฮุสเซน อิบนิอาลี “ชารีฟแห่งมักกะห์” (Sharifs of Makkah : ผู้ปกครองที่มาจากตระกูลฮาชีมีที่สืบเชื้อสายไปยังท่านศาสดามูฮัมหมัด) ผู้ปกครองภูมิภาคฮิยาซ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของซาอุดิอาระเบีย) เริ่มก่อการขบถในมิถุนายน 1916 โดยคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษ การขบถครั้งนี้จะกลายเป็นการปฏิวัติอาหรับและนำการต่อสู้โดยลูกชายสี่คนของชารีฟ ฮุสเซน คือ อะลี, อับดุลเลาะห์, ไฟซอล, และ เซด
ลอเรนซ์อยู่ที่ไคโรเกือบสองปี จากนั้นเขาจึงถูกส่งไปยังคาบสมุทรอาหรับเพื่อระบุว่าลูกชายคนไหนจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด หลังจากการเจรจาระหว่างอังกฤษและประมุขแห่งมักกะห์ ลอเรนซ์ทำการค้นหาเพื่อสุมไฟการขบถเพิ่มเติมในอารเบีย และเขาพบว่า “ไฟซอล” โอรสของของประมุขฮุสเซน เป็นผู้นำที่มีศักยภาพที่แท้จริงของการขบถครั้งนี้ เขาจึงโน้มน้าวอังกฤษให้จัดหาทองคำและปืนให้กับชนเผ่านี้
ด้วยความรู้ของเขาเกี่ยวกับชาวอาหรับและภาษาของพวกเขา ลอว์เรนซ์ได้ฝังตัวเองกับชนเผ่านี้ที่เป็นผู้นำการปฏิวัติของอาหรับซึ่งส่วนใหญ่ได้พากันต้อนรับลอว์เรนซ์ในฐานะคนของพวกเขาเอง และเขาได้เผยแพร่แนวคิดการรวมอาหรับเป็นหนึ่งและโลกหนึ่งเดียวของอาหรับ ที่ครั้งหนึ่งเคยปกครองอย่างยิ่งใหญ่จากเปอร์เซียไปจรดยังสเปน นี่คือภาพโรแมนติกที่ลอว์เรนซ์สร้างขึ้นในใจของพวกเขา พลังของความคิดและอุดมการณ์ในกรณีนี้คือจุดเริ่มต้นของชาตินิยมอาหรับ
ในอีกสองปีต่อมา ลอว์เรนซ์ก็ได้คลุกคลีตีโมงกับการจลาจลนี้ บางครั้งก็เป็นผู้นำการจู่โจมและบางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของเจ้าชายไฟซาล เช่นเดียวกับการฝึกฝนนักรบอาหรับให้ใช้วัตถุระเบิดเพื่อระเบิดเส้นทางรถไฟของออตโตมันสายฮิญาซ ที่วิ่งจากเมืองดามัสกัสไปยังเมืองมาดินะห์ วิธีการที่เขาใช้ในการปฏิบัติการของกองกำลังอาหรับคือการรบแบบกองโจรเพื่อต่อต้านกองทัพออตโตมัน
ตลอดช่วงเวลานี้ การจลาจลยังได้ดึงดูดเจ้าหน้าที่อาหรับและบุคคลในระดับสูงซึ่งเคยเป็นทหารออตโตมันและฝ่ายบริหารให้หันมาช่วยฉุดลากแคมเปญนี้ (หลายคนต่อมาได้รับราชการในรัฐบาลอิรักและจอร์แดน) จนกระทั่งกองทัพอาหรับนี้พบหนทางพิชิตดามัสกัสในปลายเดือนกันยายน 1918 แน่นอนว่าความสำเร็จนี้ก็ด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยกองทัพอังกฤษ เช่นกองพลทหารม้าทะเลทราย (Desert Mounted Corps)
ชาวอาหรับที่อยู่ภายใต้คำสั่งของลอว์เรนซ์ประสบความสำเร็จในการเข้าเมืองและยึดพื้นที่สำคัญของดามัสกัส ในขณะที่ต้องรับมือกับความโกลาหลของการถอนตัวของออตโตมันและความขัดแย้งทางนิกายซึ่งเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ลี้ภัยชาวแอลจีเรียและและประชากรดรูซ (Druze) ที่บ้าคลั่ง ลอว์เรนซ์จัดการจัดตั้งหน่วยงานชั่วคราวขึ้นในเมือง ชัยชนะครั้งนี้ใช้เวลาไม่นานนัก เพราะการควบคุมนั้นถูกนำออกจากมืออาหรับโดยอำนาจอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งได้ตกลงกันแล้วบนฐานรากของข้อตกลงไซก์-ปิโกต์ (Sykes-Picot) ที่น่าอับอาย อันเป็นสัญญาลับระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศสในการแบ่งดินแดนในตะวันออกกลางของอดีตจักรวรรดิออตโตมัน
การทรยศต่อพวกอาหรับและวาระของพวกเขาคือการหลอกหลอนลอเรนซ์ตลอดชีวิตที่เหลือของเขา และหลังจากนั้นเขาก็อ้างซ้ำๆ ถึงความเสียใจที่พาพวกเขาไปไปสู่จุดจบที่การแสวงหาผลประโยชน์ของอาณานิคม แม้ว่าเขาจะไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมดของแผน แต่เขาก็รับรู้ถึงบางส่วนของมัน แต่ถือว่ามันสายเกินไปที่จะพลิกกระแสการขบถนี้

ในกระบวนการสันติภาพและการประชุมที่เกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาพยายามชดเชยการทรยศโดยช่วยเหลือไฟซอลในการเจรจาต่อรองอำนาจในสิ่งที่เหลืออยู่ในดินแดนเดิมของเขา
ไฟซอลได้รับอนุญาตให้ปกครองอาณัติของอังกฤษในอิรัก เขาถูกเสนอชื่อให้เป็นราชาและจัดตั้งสถาบันกษัตริย์ในประเทศที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน ในขณะที่อับดุลลาห์ อิบนิฮุสเซน น้องชายของเขาได้รับแผ่นดินทรานจอร์แดน อาณาจักรของไฟซอลถูกกำหนดให้ล่มสลายภายใต้การรัฐประหารในปี 1958 ขณะที่ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ขอบเขตที่สำคัญของลอเรนซ์และบทบาทของเขาในการขบถของชาวอาหรับนั้นมีการถกเถียงกันมานานแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถยอมรับกันก็คือ การที่เขามีส่วนร่วมในการผลักดันการขบถและอุดมการณ์ของมันไปข้างหน้า เช่นเดียวกับการจัดตั้งเขตแดนร่วมสมัยของตะวันออกกลางอันมีผลกระทบยืดเยื้อถาวร แม้ว่าคำสัญญาของเขาที่มีต่อไฟซอลและชาวอาหรับเกี่ยวกับอาณาจักรอาหรับที่เป็นหนึ่งจากทางตอนใต้ของอาระเบียไปจรดยังซีเรีย – ล้อมรอบด้วยเปอร์เซียและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน – ในที่สุดก็ล้มเหลว
อ้างอิง
– https://www.middleeastmonitor.com/20200519-profile-t-e-lawrence-and-the-arab-revolt
– https://www.iwm.org.uk/history/who-was-lawrence-of-arabia
– วิกิพีเดีย
– https://www.nam.ac.uk/explore/lawrence-arabia-man-behind-robes