22 พฤษภาคม 2563 – คุรุสภา จับมือ เชฟรอน เปิดตัว “ห้องเรียนต้นแบบออนไลน์ด้านการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning” บทเรียนออนไลน์เปี่ยมคุณภาพ เตรียมความพร้อมคุณครูในการจัดการเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21 รับเปิดเทอมใหม่หลังโควิด-19
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระยะเวลา 3 ปี (ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2564) ภายใต้ ‘โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ โดยมีวัตถุประสงค์ในการเดินหน้าสานต่อเจตนา รมณ์ยกระดับสะเต็มศึกษาทั้งสายสามัญและอาชีพทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการพัฒนาให้ครูมีทักษะจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยประเดิมโปรเจกต์แรก คือ ห้องเรียนต้นแบบออนไลน์ด้านการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning หลักสูตรออนไลน์เพื่อเสริมศักยภาพการจัด การเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้กับบุคลากรทางการศึกษา
นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ เลขาธิการคุรุสภา และรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ที่มีบทบาทและหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาของประเทศผ่านการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาทักษะวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมมือกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ SEAMEO STEM-ED ในการพัฒนาห้องเรียนต้นแบบออนไลน์ด้านการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เพื่อส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพผ่านระบบออนไลน์ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนการศึกษาที่กำลังจะมาถึง ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะวิชาชีพ ตลอดจนความรู้ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร เกิดความเข้าใจแนวทางการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ”
ห้องเรียนต้นแบบออนไลน์ด้านการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการถอดบทเรียนจากห้องเรียนตัวอย่างบนฐานงานวิจัยสู่หลักสูตรออนไลน์สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ระดับสากลไร้พรมแดนเพื่อให้ครู ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหาร ได้เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้คุณครูได้ปรึกษากับกลุ่มโค้ชครูมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งในประเทศและระดับโลกเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยหลักสูตรออนไลน์นี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในการพัฒนาวิชาชีพเพื่อการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภาและกำลังดำเนินการขอการรับรองจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้เป็นหลักสูตรพื้นฐานสำหรับครูเพื่อรับรองจำนวนชั่วโมงการพัฒนาตนเอง ตามเกณฑ์การปฏิบัติราชการประจำปีเพื่อนำไปสู่การเข้าสู่วิทยฐานะที่สูงขึ้น โดยในระยะแรก จะเปิดให้สำหรับคุณครูที่ได้รับทุนจากคุรุสภาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน ร่วม 20,000 คน หลังจากนั้นในช่วงสิงหาคม จะเปิดให้เครือข่ายคุณครูทั่วประเทศ เข้ามาเรียนรู้และอบรม ซึ่งหลักสูตรนี้ประกอบด้วยโมดูลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล ได้แก่ วิดีโอ กราฟิค อนิเมชั่น โปรแกรมการนำเสนอผลงาน แผนการสอน ใบงานนักเรียน แบบทดสอบ และกระดานสนทนา รวมถึงการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) และโค้ชชิ่งออนไลน์ โดยจะมีการพัฒนาและเพิ่มชุดการสอนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดช่องทางการสื่อสาร ผ่าน LINE Official Account ชื่อว่า KSPPLC63 เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารไปสู่เครือข่ายคุณครูที่เข้าร่วมอบรม โดยต้องเข้าอบรมทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง เพื่อรับวุฒิบัตรที่รับรองโดยคุรุสภารวมกับวุฒิบัตรที่จะขอรับรองจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)
ด้าน นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจ และผลิต จำกัด กล่าวว่า “การยกระดับการจัดการสะเต็มศึกษาไทยทั้งสายสามัญและอาชีพทั่วประเทศ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการพัฒนาพลังคน เนื่องจากบุคลากรในสาขาสะเต็มเป็นรากฐานสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว โดยที่ผ่านมา เชฟรอนได้ช่วยพัฒนาให้ครูมีทักษะจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ตามแนวทางการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านการดำเนินของโครงการ Chevron Enjoy Science ตามแนวทาง ‘รัฐร่วมเอกชน’ ที่ได้ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 6 โดยเชฟรอนเชื่อมั่นว่า การพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อครูผู้ปฏิบัติสามารถสร้างองค์ความรู้และความชำนาญในการจัดการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่นักเรียนนักศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับในครั้งนี้ทางเชฟรอนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับคุรุสภา และ SEAMEO STEM-ED ซึ่งถือเป็นพันธมิตรใหม่ที่จะมาร่วมถอดบทเรียนด้านการสอนที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีจากห้องเรียนตัวอย่างบนฐานงานวิจัยสู่ห้องเรียนต้นแบบสไตล์ active learning และวิทย์-คณิตออนไลน์เพื่อให้ครูทั่วประเทศได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน การร่วมมือกันในครั้งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการพัฒนาทักษะและสร้างองค์ความรู้ด้านการศึกษาของประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าห้องเรียนต้นแบบออนไลน์ จะเป็นจุดเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในการส่งเสริมสะเต็มศึกษาในประเทศไทย เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการเรียนรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย”
ทั้งนี้ ห้องเรียนต้นแบบเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21 จะเริ่มเผยแพร่บนช่องทางที่ครูทั่วประเทศสามารถเรียนรู้ออนไลน์ได้ ทางเว็บไซต์คุรุสภา https://www.ksp.or.th/ksp2018 และ ช่อง YouTube : ห้องเรียนเชฟรอนสนุกวิทย์ และจะเปิดให้เครือข่ายคุรุสภาลงทะเบียนได้ที่ https://trainflix.com/ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
ข้อมูลชุดการสอนในห้องเรียนต้นแบบออนไลน์
ด้านการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
สำหรับครู ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหาร – วิชาพื้นฐาน
- ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)
- เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning (การตั้งคำถาม การส่งเสริมการอภิปราย กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ การจัดการชั้นเรียน การมอบหมายงานจากระดับความรู้ความเข้าใจของนักเรียน การออกแบบบทเรียน การประเมินผลระหว่างเรียน เป็นต้น)
- การส่งเสริมการอ่านและการเขียน
- การประเมินผลการเรียนรู้
สำหรับครู และศึกษานิเทศก์ – วิชาเลือกตามกลุ่มวิชา
- กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ (ระบบร่างกายมนุษย์ แรงการเคลื่อนที่ สารและสมบัติของสาร กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก)
- กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ (การบวกลบจำนวนเต็ม แบบรูปและความสัมพันธ์ การแก้ระบบสมการ ทฤษฎีบทพีทาโกรัส ร้อยละ อัตราส่วน)
- กลุ่มวิชาเทคโนโลยี
- กลุ่มบูรณาการสะเต็มศึกษา
รวมถึงชุดการสอนเรื่องการตั้งเป้าหมายและการสังเกตห้องเรียน
สำหรับศึกษานิเทศก์ และผู้บริหาร
- การวิเคราะห์ผลสอบ O-NET และข้อมูลนักเรียน
- การตั้งเป้าหมาย
- การสังเกตห้องเรียน
- การเป็นโค้ชและให้คำปรึกษาด้านวิชาการแก่ครู
- การสร้างทีมผู้นำวิชาการที่เข้มแข็ง
- การสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์แก่ครู
- การสร้างวัฒนธรรมในองค์กร