อันที่จริงแล้ว นโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยที่หักหาญน้ำใจของชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มิใช่มีเฉพาะนโยบายจัดตั้งพระพุทธรูปในสถานการศึกษาเท่านั้น หากยังมีนโยบายและโครงการบางเรื่องประดังเข้ามาเป็นระลอกๆ เช่น นโยบายการคุมกำเนิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และโครงการเปลี่ยนชื่อตัวชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามจากภาษามลายูเป็นภาษาไทยเป็นต้น
ความเป็นมาของนโยบายคุมกำเนิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เกิดจากทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการหารือสภา ความมั่นคงแห่งชาติตามหนังสือของ ศธ. ที่ ศธ. 1001/17456 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 และสภาความมั่นคงแห่งชาติได้มีหนังสือตอบข้อหารือของกระทรวงศึกษาธิการตามหนังสือที่ นร. 0405/2077 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2528 ปรากฎตามหนังสือดังนี้
ที่ นร. 0405/2077 สำนักงานสภาฯ
ทำเนียบรัฐบาล กท. 10300
23 สิงหาคม 2528
เรื่อง นโบายการจัดตั้งโรงเรียนเอกชนฯ
เรียน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
อ้างถึง หนังสือของ ศธ.1001/17456 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2528
สิ่งที่ส่งมาด้วย นโยบายการจัดตั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
1. ตามที่ขอทราบความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับนโยบายการจัดตั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เพื่อกระทรวงศึกษาธิการจะได้ดำเนินการต่อไปนั้น
2. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอเรื่องให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติด้านศาสนา พิจารณาเมื่อ 5 กรกฎคม และ 16 สิงหาคม 2528 โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน และรองอธิบดีกรมการศาสนา ร่วมเป็นอนุกรรมการอยู่ด้วย ที่ประชุมพิจารณาแล้ว เห็นสมควรกำหนดเป้าหมายและนโยบายในลักษณะจำกัดให้มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเท่าที่มีอยู่แล้ว (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย) และให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาร่างระเบียบการในรายละเอียด เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายนี้ต่อไปด้วย
3. จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ
( ประสงค์ สุ่นศิริ )
เลขาธิการสภาความมั่นคง
กอง 4 โทร. 282164.
นโยบายการจัดตั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
1. ขอบเขต ใช้สำหรับโรงเรียนและวิทยาลัยเอกชนสอนศาสนา ตาม พรบ. โรงเรียนเอกชน และ พรบ. วิทยาลัยเอกชน สำหรับโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นไปตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. เป้าหมาย
2.1 จำกัดจำนวนโรงเรียนเอกชนศาสนาไม่ให้มีมากกว่าที่มีอยู่แล้ว
2.2 ควบคุมโรงเรียนที่มีอยู่ไม่ให้ก่อปัญหากระทบกระทั่งต่อพุทธศาสนา ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงแห่งชาติโดยส่วนรวม
3. นโยบาย
3.1 ไม่อนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาขึ้นใหม่
3.2 สร้างความเข้าใจกับผู้นำระดับสูงในวงราชการและการเมือง เพื่อป้องกันการวิ่งเต้นในการจัดตั้งโรงเรียนเพิ่มขึ้นใหม่
3.3 ดูแลและตรวจสอบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด มิให้มีการ กระทำในลักษณะกลมกลืน เหยียดหยามพุทธศาสนา หรือการกระทำอย่างอื่นๆ ที่เป็นการบั่นทอนความสงบเรียบร้อยของสังคม หรือความมั่นคงแห่งชาติโดยส่วนรวม
3.4 ในกรณีที่โรงเรียนปิดลงแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จะไม่อนุญาตให้จัดตั้งขึ้นใหม่
สำหรับโครงการเปลี่ยนชื่อตัวชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามจากภาษามลายูเป็นภาษาไทยนั้น เกิดจาก นายเถกิงศักดิ์ พัฒโน นายอำเภอเมืองปัตตานีในขณะนั้นได้เสนอโครงการนี้ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเพื่อขอความเห็นชอบ โดยอ้างว่า ได้รับการดำริจากผู้อำนวยการศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) ว่า ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีชื่อตัวเป็นภาษามลายู ควรจะเปลี่ยนเป็นภาษาไทยให้มากขึ้น โดยพิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนชื่อตัวเหมือนกับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษา จาก 25 บาท เป็น 1 บาท ดังปรากฎตามโครงการต่อไปนี้
โครงการเปลี่ยนชื่อตัวชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามจากภาษามลายูเป็นภาษาไทย ของอำเภอเมืองปัตตานี พ.ศ. 2528
1. ชื่อโครงการเปลี่ยนชื่อตัวชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลาม จากภาษามลายูเป็นภาษาไทย
2. หลักการและเหตุผล
เพื่อสนองนโยบายของจังหวัดปัตตานี ที่ได้รับการดำริจาก ผอ.ศอ.บต. ว่าชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีชื่อตัวเป็นภาษามลายู ควรจะเปลี่ยนเป็นภาษาไทยให้มากขึ้น โดยพิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนชื่อตัวเหมือนกับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษา จาก 25 บาท เป็น 1 บาท เท่านั้น ซึ่งขณะนี้อัตราค่าธรรมเนียมยังไม่อนุมัติสำหรับประชาชนทั่วไป ส่วนในชั้นนี้นักเรียนซึ่งสถานศึกษารับรองคงเก็บ 1 บาท ในระยะนี้จะดำเนินการเปลี่ยยชื่อตัวนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆไปก่อน
3. วัตถุประสงค์
3.1 เพื่อจูงใจให้ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามใช้ชื่อตัวเป็นภาษาไทยให้หมด
3.2 เพื่อป้องกันความผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับชื่อตัวของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามในการจัดทำเอกสารและเอกสารสิทธิของทางราชการ
3.3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการเสียเงินค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนชื่อของชาวไทยที่นับถือศาลนาอิสลาม
4. วิธีการดำเนินการ
4.1 ให้ปลัดอำเภอรับผิดชอบประจำตำบล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามโครงการนี้
4.2 ออกบริการตามโรงเรียนต่างๆ โรงเรียนละ 1 วัน หรือมากกว่านี้
4.3 ประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนต่างๆ แนะนำผลของการเปลี่ยนชื่อตัวของนักเรียนให้ผู้ปกครองทราบ
5. ระยะเวลาดำเนินการ
ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2528 เป็นต้นไป
6. สถานที่ดำเนินการ
โรงเรียนสังกัดประถมศึกษา มัธยมศึกษา ในท้องที่อำเภอเมืองปัตตานี
7. ผู้รับผิดชอบโครงการ
นายอำเภอเมืองปัตตานี
8. งบประมาณดำเนินการ
เบี้ยเลี้ยงปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่ปกครอง เบิกจากต้นสังกัด
9. ผลคาดจะได้รับ
9.1 ทำให้ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามใช้ชื่อตัวเป็นภาษาไทยมากขึ้น
9.2 ทำให้ชื่อของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามในเอกสาร และเอกสารสิทธิของทางราชการไม่ผิดพลาด
(ลงชื่อ) ผู้เสนอโครงการ
( นายเถกิงศักดิ์ พัฒโณ )
นายอำเภอเมืองปัตตานี
10. ความเห็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
……………………………..
(ลงชื่อ)………….. ..ผู้ให้ความเห็นชอบ
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
เมื่อโครงการนี้ได้รับความเห็ชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีแล้ว ทางอำเภอเมืองปัตตานี ได้มีหนังสือถึงปลัดตำบลในอำเภอเมืองปัตตานีดำเนินการตามโครงการทันที ปรากฎตามหนังสือที่ 21 มีนาคม 2528 ดังนี้
บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ แผนกทะเบียน
ที่ วันที่ 21 มีนาคม 2528
เรื่อง โครงการเปลี่ยนชื่อตัวของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลาม
เรียน ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบลทุกตำบล
ด้วยจังหวัดได้สั่งการให้อำเภอจัดทำโครงการเปลี่ยนชื่อตัวของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามจากภาษามลายูเป็นภาษาไทย เพื่อสนองนโยบายของ ผอ.ศอ.บต. ที่ได้ดำริว่า ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลลมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนมากใช้ชื่อตัวเป็นภาษามลายู ทำให้เกิดการผิดพลาดในเอกสารและเอกสารสิทธิของทางราชการคลาดเคลื่อน
ในครั้งแรกจะดำเนินการตามโครงการที่แนบนี้ โดยไปทำการเปลี่ยนชื่อตัวให้นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆทุกตำบล รวม 29 โรง ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป แต่ระยะนี้เด็กกำลังสอบและอาจจะปิดเทอม จะไม่สะดวก หากปลัดอำเภอคนใดจะไปปฏิบัติในโรงเรียนในตำบลรับผิดชอบเมื่อใด ให้แจ้งไปทางโรงเรียนเป็นการล่วงหน้า และประสานงานกับนายธีรพันธ์ุ ทองไชย เจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อไม่ซำ้ซ้อนทางปฏิบัติ
1. การเปลี่ยนชื่อตัวสำหรับนักเรียน(ผู้เยาว์)จะต้องให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้เซ็นคำร้อง แบบ ร.1
2. มีหนังสือรับรองของโรงเรียนว่าเป็นนักเรียนอยู่(เพื่อลดค่าธรรมเนียมเหลือ 1 บาท)
3. นำสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงด้วย
4. การตั้งชื่อตัวของบุคคลสัญชาติไทย ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ. 2506 ลงวันที่ 18 เมษายน 2506 ชื่อตัวต้องไม่เกิน 3 พยางค์ มีความหมายเป็นภาษาไทย ไม่หยาบคาย หรือมุ่งหมายให้คล้ายคลึงกับพระปรมาภิไ่ย พระนามราชินี หรือราชทินนาม
จึงเรียนมาเพื่อทราบทางปฏิบัติ
ลายเซ็น
(นายอารีย์ อาลีอิสเฮาะ)
ปลัดอำเภอ รักษาการแทน
นายอำเภอเมืองปัตตานี
เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า แม้ประเทศไทยปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลและตัวแทนมาจากการเลือกตั้ง แต่นโยบายแต่ละอย่างล้วนแต่มาจากอิทธิพลของข้าราชการทั้งสิ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังขาดความสามัคคี เพราะต่างคนต่างอยู่ กระจัดกระจายอยู่ในพรรคการเมืองต่างๆจึงไร้พลังที่จะต่อกรกับข้าราชการ พรรคการเมือง และรัฐบาลได้
ด้วยเหตุนี้เอง นายเด่น โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 สมัย จากจังหวัดปัตตานี จึงเชิญชวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่คาดว่าจะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มานั่งปรับทุกข์และปรึกษาหารือกันว่า จะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร ?
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์