เครือข่ายผู้หญิงจชต. เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ “เด็ก-สตรี” ที่ประสบปัญหาความรุนแรง

คณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาสร่วมมือกับเครือข่ายผู้หญิงร่วมกัน เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้หญิง

“เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก” คือความจริงของผู้หญิงทั้งหลาย ตั้งแต่เล็กจนโตที่ผู้หญิงถูกวางบทบาทว่าต้องเป็นผู้ตาม เมื่อมีคู่ครองก็ต้องฟังสามี หาก มีกรณีถูกทำร้ายร่างกายจากสามีหรือคู่ครอง เกิดปัญหาคามรุนแรงในครอบครัว ได้รับความไม่เป็นธรรม คือปัญหาในครอบครัว ทั้งที่เป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ยิ่งเป็นผู้หญิงมุสลิมที่ต้องคำนึงถึงกรอบของศาสนาและกฎหมายอิสลาม การขอคำปรึกษาเยียวยาจากผู้ชายในฝ่ายไกล่เกลี่ยของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต้องให้ผู้หญิงสามารถมั่นใจในคุณภาพของการให้บริการและจรรยาบรรณของการรักษาความลับในเรื่องการขอคำปรึกษา

ในทางปฏิบัติยังพบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับเช่น กฎหมายว่าด้วยมรดกและครอบครัวของศาสนาอิสลาม 2489 (ใช้บังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดกและครอบครัว) พรบ.การคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 2550 ที่หน่วยงานราชการ ผู้นำศาสนาและประชาชนทั่วไป ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และตีความไม่เหมือนกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย มีความล่าช้าและไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้

การที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้งหมดในสำนักงานเป็นผู้นำศาสนาที่เป็นผู้ชาย มีจำนวนผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจมาขอรับบริการเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงจึงไม่สะดวกใจในการให้ข้อมูลกับผู้นำศาสนาและรู้สึกไม่ได้รับความเข้าใจ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเห็นถึงความสำคัญของปัญหาผู้หญิง จึงให้ความร่วมมือกับเครือข่ายผู้หญิงร่วมกันเปิดศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี (Women’s Empowerment and Counselling Center) ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2561 เปิดให้คำปรึกษากรณีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ให้ความรู้เรื่องกฎหมายไทยและอิสลามเบื้องต้น ทำงานร่วมกับฝ่ายไกล่เกลี่ยของคณะกรรมการอิสลาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครผู้หญิง

โดยหน้าที่หลักของศูนย์คือการให้คำปรึกษาผู้หญิงและรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้หญิง ซึ่งพบว่าผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัวมีเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรร้อยละ 80 ของพื้นที่ จะคุ้นเคยกับการขอรับบริการและความช่วยเหลือจากสถาบันทางศาสนาอย่างสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ยังขาดความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายไทยและบริการความช่วยเหลือที่สามารถเข้าถึงได้ช่องว่างทางวัฒนธรรมและความรู้ของผู้หญิง และการขาดกลไกประสานงานระหว่างสถาบันทางศาสนาและหน่วยงานภาครัฐ จึงเป็นเหตุให้รัฐไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวและไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาของผู้หญิงได้อย่างทันท่วงที

ศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือฯ จะทำงานประสานกับผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ทีมสหวิชาชีพระดับจังหวัด เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ กรณีปัญหาความรุนแรงทั่วไป ความรุนแรงในครอบครัว, การถูกล่วงละเมิดทางเพศ, การแต่งงาน การฟ้องหย่า, การไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องมรดก สินสมรส บุตร, การสงเคราะห์ ช่วยเหลือเยียวยา ภายใต้การสนับสนุนโครงการวาว (VAW – Violence Against Women Project) Oxfam สหภาพยุโรป(EU) ซึ่งพัฒนามาจากโครงการนำร่องที่ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และกลุ่มผู้นำมุสลิมะห์นราธิวาสตั้งแต่ตุลาคม 2559-ธันวาคม 2560 เพื่อทดลอง ปรับปรุงบริการสำหรับผู้หญิงที่ยื่นฟ้องหย่าที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งขณะนั้นผู้ดำเนินการทั้งหมดในสำนักงานเป็นผู้นำศาสนาที่เป็นผู้ชาย

นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมาก ประชาชนอยู่ในภาวะลำบาก เครียด ตกงาน ไม่มีรายได้ ยิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอยู่แล้วก็ยิ่งซ้ำเติมให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น และพบว่ามีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น

“เมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว เราพูดถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้ เครือข่ายผู้หญิงฯ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องออกมาส่งเสียง เรารณรงค์กันมาตลอด ทุกวันนี้มีคนกล้าลุกขึ้นพูด ยอมรับความจริงและบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง การพิสูจน์ให้ผู้ชายเห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญก็ยากกว่าจะได้รับการยอมรับและได้รับความร่วมมือ โดยมีศูนย์ฯ ที่สนง.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสและยะลาในขณะนี้”

นางรอซิดะห์ ปูซู
นางรอซิดะห์ ปูซู

ในการทำงานของอาสาสมัครจะเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีแบบฟอร์มการจดบันทึกอย่างละเอียด เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงที่มาขอคำปรึกษาไม่สะดวกที่จะคุยกับผู้ชาย เช่น กรณีที่ร่องรอยการถูกทำร้ายร่างการอยู่บริเวณที่ปกปิด รอยเย็บแผลที่ศีรษะใต้ผ้าคลุมผม รอยฟกช้ำต่างๆ ซึ่งไม่สามารถเปิดให้ผู้ชายดูได้ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครจะเขียนรายงานหรือถ่ายภาพ (ที่เหมาะสม) เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานให้กับฝ่ายไกล่เกลี่ยของคณะกรรมการอิสลามประกอบคำตัดสิน

ในกรณีที่ผู้หญิงมาขอคำปรึกษาเรื่องถูกสามีทำร้ายและตามรังควานจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และบ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัย ทางศูนย์ฯ จะประสานกับบ้านเด็กหญิงนราธิวาสเพื่อให้ที่พักพิงและนำเรื่องส่งต่อทีมสหวิชาชีพของหน่วยงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยาและการคุ้มครองทางกฎหมาย ส่วนกรณีการทำร้ายร่างกายหรือความรุนแรงที่ผู้หญิงมาขอคำปรึกษาเพื่อฟ้องหย่า กรณีที่สามีไม่ให้การเลี้ยงดู (นัฟเกาะห์) และกรณีสามีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อสามีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด (ผู้เสพ) ก็มักจะพ่วงกับเหตุทำร้ายร่างกายและไม่ให้ค่าเลี้ยงดูด้วย

รอซีดะห์บอกว่าภารกิจของศูนย์คือการให้คำปรึกษาเป็นหลัก หลายกรณีสามารถแก้ปัญหาและสิ้นสุดด้วยการให้คำปรึกษา ช่วงหลังมีผู้ชายที่เข้ามาขอคำปรึกษามากขึ้น เช่นกรณีที่ภรรยาไม่ยอมกลับบ้าน

แม้งบประมาณการดำเนินการทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากองค์การอ็อกซแฟมในประเทศไทย สถานะของศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรียังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างองค์กรของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หากแรงกระเพื่อมของพลังสตรีได้กระจายไปแล้ว ดังจะเห็นจากสนง.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาได้เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีขึ้นด้วย และมีความพยายามให้มีการจัดตั้งศูนย์ฯ ขึ้นทุกจังหวัดที่มีสนง.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงมุสลิม

ข้อมูลจากสนง.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเผยจำนวนผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 2561 จำนวน 301 ราย (ถูกทำร้ายร่างกาย 94 ราย) ปี 2562 จำนวน 271 ราย(ถูกทำร้ายร่างกาย 93 ราย) ปี 2563 ม.ค.-พ.ค. จำนวน 64 ราย ส่วนสนง.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ปี 2560 จำนวน 265 ราย ปี 2561 จำนวน 328 ราย ปี 2562 จำนวน 374 ราย ปี 2563 ม.ค.-พ.ค. 138 ราย
รอซีดะห์บอกต่อว่า การเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเด็ก สตรี ที่ประสบปัญหาความรุนแรงในชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโดยคนในชุมชนเอง โดยได้ทดลองนำร่องที่ จ.ปัตตานี 3 แห่ง คือ บ้านน้ำใส ต.ลุโบะยิไร อ.มายอ บ้านนิปิกูเละ ต.เขาตูม อ.ยะรัง และ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยก่อนนี้ได้เปิดเป็นทางการที่เดียวคือบ้านรอตันบาตู ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยในจ.นราธิวาสมีทั้งหมด 14 แห่ง เปิดไปแล้วทั้งหมดในช่วงโควิดเพื่อช่วยเหลือกรณีการเดินทางไปยังสนง.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่สะดวก
นางอ้อยใจ ศรีสุวรรณ ประธานหมู่บ้านรอตันบาตู บอกว่า บ้านรอตันบาตูมี 150 ครัวเรือน ทั้งพี่น้องพุทธและมุสลิม ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ มาใช้ชีวิตทำการเกษตรแบบพอเพียงในเนื้อที่ที่ทางการจัดสรรให้และทำงานในฟาร์มตัวอย่าง อยู่กันอย่างเข้มแข็งและสงบสุข การเปิดศูนย์ฯ ที่นี่เพื่อให้คำปรึกษาคนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง เพื่อร่วมแก้ปัญหากันในชุมชน หากเป็นปัญหาใหญ่ก็ส่งต่อยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการโครงการวาวประกอบด้วย องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรง แสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มชมรมผู้นำมุสลิมะห์ จังหวัดนราธิวาส และศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์