ศอ.บต. พบบัณฑิตอาสาในพื้นที่ อ.จะนะ สร้างความเข้าใจในกระบวนการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

นายอิสระ ละอองสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองประสานและเร่งรัด การพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิว่า บัณฑิตอาสาถือบุคลากรที่ขับเคลื่อนกิจกรรมในระดับพื้นที่ของ ศอ.บต. มีความใกล้ชิดกับประชาชนและสามารถเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จึงได้โครงการครั้งนี้ขึ้น

โดยในการจัดอบรมครั้งนี้มีการนำเสนอแนวทางและกระบวนการทำงานของภาครัฐ ที่เกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตั้งแต่กระบวนการ ขั้นตอนในการลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล และการบริหารจัดการ รวมถึงข้อมูลและกรอบแผนการลงทุนตามที่มติ ครม. เห็นชอบ พร้อมกันนี้ได้เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถาม-ตอบ ซึ่งถือเป็นอีกกระบวนการสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แนวคิด ประชาชนร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้ เพื่อการพัฒนาอนาคตที่ดีกว่า นอกจากนี้มีผู้แทนภาคเอกชนที่มีความประสงค์ลงทุนในพื้นที่เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตได้ร่วมนำเสนอข้อมูลและกรอบแผนการลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย เพื่อให้บัณฑิตอาสาได้เห็นภาพการพัฒนาที่ชัดมากขึ้น

สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคั่ง ยั่งยืน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการมีส่วร่วมของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการดำเนินการที่ต้องให้ประชาชนในฐานะเจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดของตนเองเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนในพื้นที่ ตามหลักการมีส่วนร่วมที่ยึดประชาชนเป็นฐานการบริหารจัดการ ซึ่ง ศอ.บต. ได้ดำเนินการจัดเวทีประชาคมในระดับหมู่บ้าน 31 หมู่บ้าน ใน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต. นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน มีการถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น จ้อเสนอแนะ ตลอดจนจัดศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อีอีซี และประเทศมาเลย และได้ร่วมจัดทำเป็นข้อเสนอแผนการพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นแผนที่ประชาชนร่วมกันคิด ร่วมออกแบบ เพื่อนำเสนอในการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ 4 นี้ด้วย

ด้าน รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเน้นย้ำกับบัณฑิตอาสาว่าทุกคนถือเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญของ ศอ.บต. ซึ่งเป็นตัวกลางที่จะสร้างความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าใจถึงแนว ทางด้านการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหลังจากพัฒนาแล้วก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนในทุกๆด้าน รวมถึงบัณฑิตอาสายังเป็นสื่อกลาง ในการสะท้อนความคิดเห็นต่างๆของประชาชนมายังหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งถือเป็นการ “หาจุดลง ตัวที่พอดี”