“ฮาร่า ชินทาโร่” ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นอาจารย์ “ม.อ.ปัตตานี”

เว็บไซต์ฟาตอนีออนไลน์รายงานว่า เป็นที่กล่าวถึงและสอบถามถึงสาเหตุที่แท้จริงในแวดวงของนักวิชาการและนัก เคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ กรณี อ.ฮาร่า ชินทาโร่ (HARA SHINTARO) อาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่สอนวิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) หรือ “อาจารย์ชินทาโร่” ที่ใครๆ ต่างรู้จักกันดีในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นอาจารย์ของม.อ.ปัตตานี ภายในเวลาอีกไม่นานจากนี้ ด้วยเหตุผลที่เขาชี้แจงผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ว่า

“ขอชี้แจงทางเฟสบุ๊กกับทุกท่านให้ทราบว่า ผมกำลังทำเรื่องเพื่อขออนุมัติไม่ต่อสัญญาจ้างกับฝ่ายคณะมนุษยศาสตร์และ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีที่จบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่จะมาถึงนี้โดยมีเหตุผมเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศครับ

ผมรู้สึกลำบากใจจริงที่ต้องตัดสินใจแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบรรดานักศึกษา และเพื่อนร่วมงานที่ต้องแบกภาระสอนของข้าพเจ้าในปัจจุบันซึ่งมี 13 คาบต่อสัปดาห์จากรายวิชา 4 วิชา อย่างไรก็ตาม ผมก็ขออนุญาตเพื่อไม่ต่อสัญญาเพื่อให้ผมสามารถกำหนดเส้นทางชีวิตโดยตัวเอง

ณ โอกาสนี้ ผมก็ขออภัยจากทุกท่าน โดยเฉพาะบรรดานักศึกษาที่รัก สำหรับความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้นกับการตัดสินใจของผม ขอให้ทุกคนจะได้เจอกับครูที่ดีกว่าผมหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม ผมแค่หยุดการสอนภายใต้ระบบอย่างเดียว แต่สำหรับทุกคนที่ต้องการจะพัฒนาภาษามลายู ผมก็ถือว่าเป็นลูกศิษย์ของผมทั้งนั้น และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตราบใดที่คุณยังต้องการพัฒนาทักษะภาษามลายู
หลังจากออกจากมหาวิทยาลัย ผมวางแผนเพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาเอกในประเทศมาเลเซีย แต่เนื่องจากว่า ผมเป็น “เขยคนปาตานี” และ “พ่อของเด็กสายบุรี” ผมก็จะขออยู่ที่นี่ต่อ งานวิจัยของผมก็เกี่ยวข้องกับพื้นที่แห่งนี้
ล่าสุดนี้ ผมขอขอบคุณจากใจกับทุกท่านที่ได้ให้กำลังใจกับผม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับผมครับ”

กล่าวสำหรับ อ.ฮาร่า ชินทาโร่ นับเป็นคนต่างชาติที่พูดภาษามลายูถิ่นและภาษาไทยคล่องมาก รับอิสลามมาเกือบยี่สิบปี เป็นเขยชาวปัตตานี ที่ผ่านมาได้แสดงตัวตนและความคิดอย่างตรงไปตรงมาของเขาผ่านเวทีสัมมนาและ เสวนา เวทีสาธารณะเกี่ยวกับการเมือง การปกครองและสันติภาพ ซึ่งอาจถูกใจ ไม่ถูกใจหลายคนหลายฝ่าย ประกอบกับการมีสังกัดคือ ม.อ.ปัตตานีของอ.ชินทาโร่ การแสดงความคิดเห็นในหลายครั้งที่ผ่านมาทำให้เขาถูกจับตาจากหลายฝ่าย และได้รับแรงหนุนจากพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยในการกล้าวิพากษ์ เรื่องต่างๆ

อ.ชินทาโร่ ชาวโตเกียว เริ่มจากการเรียนรู้ภาษามลายู ที่มหาวิทยาลัยเคโอะ (keio) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพราะเขาเห็นว่าเป็นภาษาที่น่าสนใจ มีคนเรียนน้อย จากนั้นไปเรียนต่อสาขามลายูศึกษาที่ University Malaya ประเทศมาเลเซีย เข้ารับอิสลามที่มาเลเซียจากการเรียนรู้และซึมซับวิถีชีวิตของมุสลิม เขาศึกษาเรื่อง การเปรียบเทียบภาษามลายูกลางกับภาษามลายูถิ่นปาตานี โดยมาวิจัยข้อมูลในปัตตานี 4 เดือน แล้วกลับไปมาเลเซียอีก 1 ปี จากนั้นกลับมาอยู่ปัตตานีอีกครั้งในปีค.ศ.1999 โดยสมัครเป็นพนักงานช่วยหาข้อมูลในแผนกภาษาอาหรับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จนถึงปีค.ศ.2006 จึงสมัครเป็นอาจารย์สอนภาษามลายูในคณะเดียวกันมาจนถึงปัจจุบัน

การเข้ามาใช้ชีวิตในปัตตานีตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นความ สวยงามที่อ.ชินทาโร่บอกว่า ปัตตานีเป็นเมืองที่น่าอยู่มาก แม้จะมีเหตุเกิดขึ้นแต่ยังอยู่ได้ โดยต้องอยู่ให้เป็นและปลอดภัย และตั้งใจอยู่ที่นี่ตลอดไปด้วยหน้าที่การงานในสังคมที่นี่ เป็นหนึ่งแรงที่ช่วยขับเคลื่อนสันติภาพ ให้สังคมมีความเข้มแข็งและแข็งแรงมากขึ้น

 

ที่มา http://www.fatonionline.com/news/730