จากกรณีกระทรวงพาณิชย์จะเสนอนำเข้าน้ำมัน ปาล์มจากประเทศมาเลเซีย 50,000 ตัน เนื่องจากสต็อกในประเทศต่ำ ในการประชุมคณะกรรมการ นโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)ในวันที่ 19 มกราคม ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น เกษตรกรชาวสวนปาล์มหลายจังหวัดในภาคใต้ เตรียมการคัดค้านอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะตัวแทนสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ รวมในฐานะสมาพันธ์สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมหารือกำหนดมาตรการในการคัดค้านการนำเข้าน้ำมันปาล์มจำนวน 5 หมื่นตัน ที่ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย โดยอ้างว่าน้ำมันปาล์มในประเทศไทยกำลังมีแนวโน้มขาดแคลน และสต๊อกน้ำมันปาล์มลดลง จำนวนมากเหลือเพียงไม่ถึง 1 แสนตันเท่านั้น
วันเดียวกัน นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ระบุว่า จะมีการยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบถึงพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนการประชุมครม.ในวันที่ 20 มกราคม นี้ เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ส่งผลกระทบกับราคาผลปาล์มสุกในประเทศอย่างรุนแรง แต่หากการคัดค้านไม่สำเร็จเชื่อว่าชาวสวนปาล์มน้ำมันทั่วประเทศจะมีการ เคลื่อนไหวต่อไป
เพราะว่าความพยายามในการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยมีเป้าหมายน้ำมันปาล์มจากประเทศอินโดนีเซีย ที่มีราคาถูกเพียง 18- 20 บาทเศษต่อลิตร เนื่องจากมีปัญหาล้นตลาดไม่สามารถส่งออกได้ในกลุ่มประเทศยุโรป และอเมริกา จากมาตรการต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อมและคุกคามต่อแหล่งอาศัยของลิง อุรังอุตังเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ขณะที่ประเทศไทยมีราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ราว 33 บาท ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก
ขณะที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำมัน ปาล์มในจ.นครศรีธรรมราช มีราคารับซื้อผลปาล์มสุกที่ 6 บาท 10 สตางค์ต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นราคาที่ดีสำหรับชาวสวน แต่ในขณะเดียวกัน พบว่ามีปริมาณผลปาล์มสุกเข้าสู่โรงงานผลิตลดน้อยลงมากจาก 500 ตันต่อวัน กลับเหลือเพียง 150 ตันต่อวัน โดยระบุว่า หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ จะส่งผลกระทบกับราคารับซื้อจากเกษตรกรอย่างแน่นอน
“ในช่วงปลายเดือน มกราคม ไปจนถึงกุมภาพันธ์ และมีนาคม ปริมาณผลปาล์มตามฤดูกาลจะออกสู่ตลาดมากขึ้น จะทำให้ราคาปรับลดลงตามกลไกตลาดอยู่แล้ว”
ขณะเดียวกันนายกสมาคม ชาวสวนปาล์มตรัง เตรียมยื่นคัดค้านนำเข้าปาล์มเช่นกัน เพราะเกรงกระทบราคาในประเทศ นำโดยนายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายกสมาคมชาวสวนปาล์ม จ.ตรัง ระบุเช่นกันว่า ที่ประชุมของสมาคมชาวสวนปาล์มทั่วภาคใต้ ในวันนี้ (18 ม.ค.) มีมติร่วมกันที่จะยื่นข้อเรียกร้องโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 มกราคม นี้ เพื่อคัดค้านการนำเข้าปาล์มน้ำมันจากต่างประเทศ คือขอเวลาในการตรวจสอบสต๊อกในประเทศก่อนว่ามีน้ำมันปาล์มจำนวนเท่าใด
“โดยให้มีตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมภาคละ 1 คน และมีให้มีการศึกษาข้อมูลว่ามีการขาดแคลนจริงหรือไม่ และจำนวนเท่าใด หากจะมีการนำเข้าต้องเป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบการราคาในประเทศ เนื่องจากแค่มีกระแสข่าวว่าจะนำเข้าปาล์มจากต่างประเทศ ส่งผลให้วันนี้ราคาปาล์มลดลงแล้ว 40 สตางค์ต่อกิโลกรัม”
นายกสมาคม ชาวสวนปาล์มตรัง ย้ำว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาต้องฟังและศึกษาข้อมูลให้รอบ ด้าน อย่าติดสินใจอะไรโดยไม่มีข้อมูล และนำเงินภาษีของประเทศไปช่วยเกษตรที่อยู่นอกประเทศกับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะเป็นการไม่ยุติธรรมกับเกษตรในพื้นที่
ขณะที่นายมานิต วงษ์สุรีย์รัตน์ รองประธานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การที่รัฐจะนำเข้าปาล์มน้ำมันอาจส่งผลให้ราคาปาล์มในประเทศลดลงเล็กน้อย แต่คงไม่มีผลกระทบมากนัก โดยราคาน้ำมันปาล์มวันนี้อยู่ที่ 5.80-6 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่สูง เนื่องจากผลผลิตไม่มีขาดตลาด โดยจะเป็นเช่นนี้แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น คือระหว่างเดือน มกราคม- กุมภาพันธ์
“ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้น้ำมันปาล์มเดือนละ 90 ล้านลิตรในขณะนี้ที่ตอนนี้ผลิตได้ 40 ล้านลิตร ส่วนที่ขาดจะทำอย่างไร หากไม่มีการนำเข้า จากการสำรวจข้อมูลขณะนี้พบว่า ประชาชนผู้บริโภคกำลังจะขาดแคลนน้ำมันปาล์ม คิดว่าการนำเข้าน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องมีความระมัดระวังและรอบคอบ”นายมานิต ระบุ
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับเห็นว่ากรณีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันคัดค้านการนำเข้าปาล์มน้ำมัน เพียง 5 หมื่นตัน เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เนื่องจากรัฐบาลรู้ว่าปาล์มน้ำมันจะต้องขาดตลาดและพยายามจะไม่นำเข้าปาล์ม ดิบเข้ามา แต่ปัญหาคือขณะนี้ปาล์มน้ำมันหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย จึงไม่เพียงพอแน่นอน รัฐบาลจึงต้องมีการปรับ ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันกำลังลดลง จึงนำเอาปาล์มที่ผลิตอยู่ในประเทศในสัดส่วนที่จะนำไปแปรรูปเป็นพลังงานลดลง ขณะนี้มีผู้ใช้ไบโอดีเซลน้อยลง จึงดึงเอาส่วนนี้เพื่อผลิตเป็นน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค ซึ่งการนำเข้าเพียง 5 หมื่นตันจากประเทศรอบบ้านเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น โดยมีการพูดคุยกับบริษัทนำเข้าแล้วว่าจะมีการนำเข้าเป็นระยะๆ หากเพียงพอก็ไม่ต้องนำเข้า ยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น
จะ อย่างไรก็ตามการนำเข้าปาล์มน้ำมันจำนวน 5 หมื่นตันครั้งนี้ ราคาปาล์มในประเทศตกต่ำลงแน่นอน และผู้ที่ได้ประโยชน์เชื่อว่า จะเป็นรัฐบาลและบริษัทปาล์มในภาคใต้จำนวนไม่กี่แห่ง
ไม่นั้นชาวสวนปาล์มคงไม่ออกมาคัดค้านตั้งแต่เนิ่นๆ
โดย พิราบ รอบเมือง
ที่มา ฟาตอนีออนไลน์