นายเด่น โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราฌฎร จังหวัดปัตตานี 3 สมัย ซึ่งขณะนั้นสังกัดพรรคชาติไทย ในฐานะที่เป็นปัญญาชนมุสลิม มีการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมาย มีความอาวุโสทางการเมือง มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดีว่า หากนักการเมืองที่มีความรู้ มีอุดมการณ์อยู่ในหัวใจอย่างเต็มเปี่ยม ผนึกกำลังร่วมแรงร่วมใจอยู่ในพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลได้แล้ว พลังการต่อรองเพื่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนมุสลิมที่มีอยู่ในประเทศไทยเกือบห้าล้านคน ย่อมได้รับความสนใจจากรัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่เป็นต้นสังกัดได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มของผู้นำศาสนา ปัญญาชนมุสลิม คนรุ่นใหม่ ในปี 2519 รณรงค์หาเสียงสนับสนุนผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ สามารถนำชัยชนะให้กับพรรคได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 9 คน และสมาชิกในกลุ่มได้รับการสมณาคุณจากพรรคในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 1 ท่าน(นายสิดดิก สารีฟ) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 1 ท่าน(นายเด่น โต๊ะมีนา)และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 1 ท่าน(นายสุดิน ภูยุทธานนท์)
เนื่องจากรากเหง้าของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาจากการเมืองการปกครองที่โยงใยไปถึงประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และความเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ทันยุคทันสมัย ซึ่งประชาชนในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนโดยผ่านตัวแทนที่ได้รับฉันทานุมัติด้วยการกาคะแนนให้ มอบหมายให้ทำหน้าที่สะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของรัฐบาลและโครงการที่กระทรวงทบวงกรมดำเนินกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลามและฝืนความรู้สึกของชาวมุสลิมในประเทศไทย ดังเช่น
1. การนำพระพุทธรูปตามโครงการพิเศษเข้าไปประดิษฐานในโรงเรียนต่างๆของรัฐที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่มีนักเรียนนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก จนเกิดเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่โรงเรียนควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2528
2. นโยบายคุมกำเนิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2528
3. นโยบายของผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เปลี่ยนชื่อตัวนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามในโรงเรียนประถมศึกษาจากชื่ออิสลามเป็นชื่อภาษาไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2528
4. ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านและตำบลจากชื่อเดิมที่เป็นชื่อภาษามลายูเป็นชื่อใหม่โดยแปลความหมายเป็นภาษาไทย ซึ่งบางแห่งแปลไม่ถูกต้องตามความหมายที่แท้จริงที่เป็นของดั้งเดิม
5. หน่วยราชการบางหน่วยสั่งห้ามมิให้ข้าราชการสตรีมุสลิมแต่งกายตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
6. หน่วยราชการส่วนใหญ่ยังไม่ถือปฏิบัติตามคำชี้ขาดของสำนักจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพิธีกรรมของราชการที่ขัดแย้งกับหลักการศาสนาอิสลาม
7. พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรศาสนา อิสลาม ให้เป็นไปตามบทบัญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายนี้กระทรวงมหาดไทยดำริที่จะแก้ไขมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดๆประกาศเป็นนโยบายของพรรค
ดังนั้นในปี 2528 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป นายเด่น โต๊ะมีนา ได้ดำเนินการทาบทามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้มีความสนใจที่จะลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำศาสนา นักวิชาการ และปัญญชนคนรุ่นใหม่ ที่มีความเห็นตรงกันในอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดมาปรึกษาหารือเพื่อกำหนดแนวทางและทิศทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยอาศัยมิติ” การเมืองนำศาสนา”
แต่ในขณะที่ นายเด่น ฯ ทาบทามบุคคลต่างๆที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินงานทางการเมืองนั้น บุคคลต่างๆที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเคยสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็อยู่ในสังกัดพรรคการเมืองต่างๆอยู่แล้ว แต่เมื่อมองถึงเพื่อประโยชน์โดยส่วนรวม ทุกคนก็ยินดีที่จะสละประโยชน์และโอกาสส่วนตนให้กับส่วนรวมได้ ส่วนบางคนที่ยังมีเงื่อนไขส่วนตัวอยู่กับพรรคเดิมไม่สามารถมารวมได้ ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมาร่วมในภายหลัง ดังเช่น
นายเสนีย์ มะดากะกุล (กลับสู่ความเมตตาของอัลอฮ.)ขณะนั้นสังกัดพรรคกิจประชาคม ที่แตกออกมาจากพรรคกิจสังคม มีนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นหัวหน้าพรรค จากการที่ นายเสนีย์ฯและนายบุญชูฯได้แยกออกจากพรรคกิจสังคมด้วยกันเนื่องจาก ม.ร.ว.คึกฤทธ์์ ปราโมช ลากออกจากหัวหน้าพรรคและประกาศเลิกดำเนินงานทางการเมืองแล้ว ทำให้บุคคลสำคัญๆของพรรคกิจสังคมได้แยกย้ายตั้งพรรคใหม่ นายเสนีย์ฯมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับนายบุญชูฯ จึงย้ายออกมาตั้งพรรคด้วยกันคือ พรรคกิจประชาคม ดังนั้นนายเสนีย์ฯยังไม่สามารถที่จะมาร่วมกับนายเด่นฯในการตั้งกลุ่มการเมืองมุสลิมขณะนั้น เว้นแต่กลุ่มการเมืองมุสลิมจะเข้าสังกัดในพรรคกิจประชาคมโดยอาศัยเป็นมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เนื่องจากในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2526 นายวันมูหะมัดนอร์ฯ ไม่ได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯบุคคลที่ตนเคารพนับถือประกาศล้างมือทางการเมืองแล้ว จึงเป็นอิสระที่ตนเองจะไปอยู่ที่พรรคการเมืองใดก็ได้ที่กลุ่มการเมืองมุสลิมเข้าไปสังกัด
นายปริญญา เจตาภิวัฒน์(กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮ.)เนื่องจากที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2526 จึงมีความเป็นอิสระจะไปสังกัดพรรคการเมืองใดก็ได้ ตามที่กลุ่มการเมืองมุสลิมเข้าไปสังกัดเป็นสมาชิก
นายสุดิน ภูยุทธานนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี พ.ศ. 2518 และ 2519 และลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี พ.ศ. 2526 ในนามพรรคสยามประชาธิปไตย ยังไม่ได้ผูกมัดกับพรรคการเมืองใด ยินดีที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองมุสลิมโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ขณะนั้น(พ.ศ. 2528)ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในส่วนโควต้าของสาขาพรรคประชาธิปัตย์ทางภาคใต้ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับภายหลังจากลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อพ.ศ. 2526 แต่พ่ายแพ้แก่ผู้ชนะคนที่สามเพียง 400 กว่าคะแนนแบบเฉียดฉิว จึงถูกเสนอชื่อจากสาขาพรรคประชาธิปัตย์ทางภาคใต้ให้เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในโควต้าสาขาพรรคทางภาคใต้ และขณะเดียวกันทางสาขาพรรคภาคใต้ยังได้ส่งชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ จากจังหวัดพังงาอีกคนหนึ่ง เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เลือกเพียง 1 คน ซึ่งนายจุรินทร์ฯนี้เป็นบุคคลที่ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพังงา พ.ศ. 2526 แต่พ่ายแพ้แก่ นายบรม ตันเถียร แบบเฉียดฉิวเช่นกัน ผลการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เลือก นายอารีเพ็ญฯเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในนามตัวแทนของสาขาพรรคทางภาคใต้
สำหรับนายอารีเพ็ญฯนั้น เนื่องจากเห็นว่าตัวเองยังอายุน้อย หากไปร่วมกับนักการเมืองมุสลิมที่คิดจะก่อตั้งกลุ่มการเมืองมุสลิมที่ใช้แนวทาง “ การเมืองนำการศาสนา “ ก็จะเป็นการเพิ่มจำนวนและพลังแก่กลุ่มได้อย่างรวดเร็ว แต่หากคิดจะเอาประโยชน์แก่ตนฝ่ายเดียว การยังคงอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นสามารถที่จะไต่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆในอนาคตได้ไม่ยากนัก
ดังนั้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม และ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2529 ได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางในการที่จะรวบรวมนักการเมืองมุสลิมที่บ้านของนายเด่นฯ โดยมีการเชิญนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นบางคนที่อยู่ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ สตูล ผลการปรึกษาหารือในวันนั้น ทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกันด้วยมติที่เป็นเอกฉันท์ว่า ถึงเวลาแล้วที่มุสลิมในประเทศไทยจะต้องมีกลุ่มการเมืองของตนเอง เพื่อกำหนดทิศทางสร้างอนาคตให้กับมุสลิมในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็นเสียที จึงสรุปกันว่าจะต้องประชุมปรึกษาหารือในวงกว้างมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และจะใช้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีเป็นสถานที่ประชุมในคราวต่อไป
ดังนั้น นายเด่น โต๊ะมีนา จึงได้ออกหนังสือลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 เชิญบุคคลผู้สนใจมาร่วมปรึกษาหารือในวันที่ 8 มีนาคม 2529 เพื่อกำหนดนโยบายการเลือกตั้งที่จะถึงในคราวต่อไป
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์