เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จังหวัดนครนายก ว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดแผนปฏิบัติราชการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565” โดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน มุ่งเน้นการเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพที่ยั่งยืน โดยนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ครอบครัว ดำเนินการเป็นแบบอย่างตามลักษณะของทฤษฎีใหม่ แบ่งพื้นที่เป็น 30 : 30 : 30 : 10 ประกอบด้วย 10 คือที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ 30 แรกเก็บน้ำ 30 ที่สองคือพื้นที่สำหรับเป็นแหล่งอาหาร อีก 30 เป็นไม้ยืนต้น ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ประโยชน์ที่หนึ่งก็คือสำหรับกิน สองทำที่อยู่อาศัย สามทำเครื่องมือเครื่องใช้ สี่คือทำให้ร่มเย็น โดยระดับครอบครัว 1-3 ไร่ สิ่งที่จะได้คือแหล่งน้ำ หนอง คลองไส้ไก่ มีพื้นที่ที่เป็นไปตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางไว้คือ มีทั้งข้าว ผลไม้ พืชผัก ไม้ใช้สอย ไม้เชื้อเพลิง สมุนไพร มีโอกาสสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้กับชีวิตตัวเอง ซึ่งในเฟสแรกระดับครัวเรือนมีครอบครัวที่สมัครใจ 25,000 ครัวเรือนจากทั่วประเทศ
“กรมฯ ได้ประสานร่วมมือ 7 ภาคีเครือข่าย 10 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กรมการพัฒนาชุมชน 2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 3) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) 4) มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ 5) มูลนิธิ รักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) 6) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 7) มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ 8) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 9) มูลนิธิสภาคริสตจักรฯ และ 10) บริษัทเอามื้อสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้ “โคก หนอง นา โมเดล” เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมี เป้าหมาย 33 แห่ง ประกอบด้วย พื้นที่ต้นแบบศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง พื้นที่ขยายผล 22 แห่ง ในพื้นที่ 15 จังหวัด โดยการดำเนินงานเป็นการพัฒนาร่วมกันของคนชุมชน ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อให้สามารถฝ่าฟันทุกวิกฤติได้อย่างยั่งยืน” อธิบดี พช. กล่าว