เลบานอนในเปลวเพลิง: วิกฤตความรุนแรงจากอดีตถึงปัจจุบัน

ท่าเรือจุดเกิดเหตุระเบิด กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อวันอังคาร 4 ส.ค.63 / ภาพ อัลจาซีรา

เช้านี้ตื่นขึ้นมาก็เห็นข่าวใหญ่ เป็นเหตุระเบิด 2 ครั้งที่กลางกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เท่าที่ได้ติดตามข่าวจากสำนักต่าง ๆ ก็ยังไม่มีใครออกมาอธิบายถึงมูลเหตุของระเบิดครั้งร้ายแรงนี้ มีแต่ตั้งข้อสังเกตว่าจุดระเบิดเกิดขึ้นใกล้โกดังเก็นแอมโมเนียมไรเตรตจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นศาลเคมีที่สามารถก่อให้เกิดการระเบิดที่รุนแรงได้

อย่างไรก็ดี ผมขออนุญาตใช้โอกาสนี้ที่ผู้คนกำลังสนใจประเทศเลบานอน นำเสนอเรื่องราวการเมืองแห่งความขัดแย้งของประเทศซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากนัก ถือเสียว่าเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างพวกเรากันเองก็แล้วกันครับ

ภูมิประเทศของเลบานอนนั้นนับว่ามีลักษณะพิเศษเฉพาะ แม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กแต่ก็มีแนวเขาสูงชันและมีหุบเขาที่โดดเดี่ยวงดงามอยู่มาก ด้วยสภาพภูมิประเทศเช่นนี้จึงไม่แปลกที่เลบานอนจะเป็นเหมือนสวรรค์ของบรรดาชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงรังแกจากดินแดนต่างๆ ใช้เป็นที่หลบหนีลี้ภัยมาตลอดช่วงศตวรรษที่ 20

ในปัจจุบัน ประชาชนของเลบานอนประกอบไปด้วยกลุ่มชนหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา แต่ที่สำคัญๆ มีอยู่ 4 กลุ่มด้วยกัน คือ ชาวคริสเตียน ชาวมุสลิมสายซุนนีย์ มุสลิมสายชีอะฮ์ และพวกดรูซ (Druze) (ซึ่งมีประชากรไล่เลี่ยกัน)

ภายในกลุ่มชาวคริสเตียนเองก็ยังแบ่งย่อยออกไปอีกหลายกลุ่ม เช่น คริสเตียนมาโรไนท์(Maronites) และกลุ่มนิกายโบราณอื่นๆ อีก โดยที่กลุ่มทั้งหมดเหล่านี้ต่างก็ไม่ลงรอยกัน อันเป็นผลทำให้ประวัติศาสตร์ของเลบานอนเต็มไปด้วยเรื่องราวของการเข่นฆ่าประหัตประหารกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภายในประเทศมาตลอด

สภาพการณ์เช่นนี้จึงเป็นการเปิดช่องทางให้ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในได้ง่าย

อดีตที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าทั้งซีเรีย อิสราเอล สหรัฐ และฝรั่งเศส (ซึ่งเคยเป็นประเทศเจ้าอาณานิคม) ล้วนเข้ามาพัวพันในกิจการภายในของเลบานอนทั้งสิ้น โดยต่างฝ่ายต่างก็เข้าไปปลุกปั่นกลุ่มชนที่ตนเองให้การสนับสนุนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายตนให้ได้มากที่สุด

ลักษณะสำคัญของการเมืองการปกครองของเลบานอน นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือ การแบ่งสรรอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มนิกายทางศาสนา ที่มีจำนวนประชากรของแต่ละกลุ่มพอๆ กัน ซึ่งได้แก่ กลุ่มคริสเตียนมาโรไนต์ มุสลิมสายซุนนีย์ มุสลิมสายชีอะฮ์ และดรูซ

การแบ่งสรรอำนาจการบริหารทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ดังกล่าว เกิดขึ้นครั้งแรกในรูปของ “สภาบริหาร” (Administrative Council) ซึ่งดำเนินงานภายใต้การชี้นำของจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) สภาบริหารดังกล่าวมี 12 ที่นั่ง โดยที่นั่งจะถูกแบ่งสรรให้แก่กลุ่มนิกายศาสนาตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรแต่ละกลุ่ม

หลังการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมาน เลบานอนตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1926 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจอย่างมากแก่คริสเตียนมาโรไนต์ โดยกำหนดให้คนคริสเตียนดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี เพราะเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนั้น

ต่อมาเมื่อเลบานอนได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1943 จึงมีข้อตกลงใหม่เกิดขึ้นเรียกว่า “ข้อตกลงแห่งชาติ” (National Pact) ซึ่งมีเนื้อหาในการจัดสรรแบ่งอำนาจกันระหว่างชาวคริสเตียนและชาวมุสลิมในสัดส่วน 6 ต่อ 5 คือ คริสเตียนจะได้รับ 6 ที่นั่ง และมุสลิมจะได้รับ 5 ที่นั่งในรัฐสภา

ตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องเป็นของมาโรไนต์ นายกรัฐมนตรีจะมาจากฝ่ายซุนนีย์ และประธานรัฐสภามาจากฝ่ายชีอะฮ์ สูตรการแบ่งสรรอำนาจลักษณะนี้ ได้มีการนำไปใช้กับตำแหน่งบริหารสำคัญๆ ในระดับรองลงมาอีกด้วย

ประเด็นสำคัญของข้อตกลงแห่งชาติอีกประการ ซึ่งเป็นข้อตกลงในเชิงคำพูดที่ไม่เคยถูกระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรคือ การตกลงกันระหว่างกลุ่มศาสนาทั้งสองว่า จะปูพื้นฐานประชาคมของทั้งสองศาสนาให้เกิดความเป็นเอกภาพภายใต้สังคมประชาชาติหนึ่งเดียว

กล่าวคือ ฝ่ายมุสลิมจะต้องเลิกเรียกร้องให้เลบานอนเข้าไปรวมอยู่กับซีเรีย ซึ่งเป็นประเทศแกนนำของอุดมการณ์ชาตินิยมที่พยายามจะรวมอาหรับให้เป็นหนึ่งเดียว ในขณะเดียวกันฝ่ายคริสเตียนก็จะต้องไม่ไปพึ่งพิงแสวงหาการปกป้องจากตะวันตก โดยการเปิดทางให้ตะวันตกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ

การตกลงร่วมกันเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการจำกัดอำนาจอิทธิพลของต่างชาติ ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภูมิภาค ต่อประชาคมกลุ่มต่างๆ ของเลบานอนแล้ว ยังเป็นการวางรากฐานให้ชาวเลบานอนต้องทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบัน เลบานอนก็ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งภายในครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1958 จากการก้าวขึ้นมาของกะม้าล อับดุล นัซเซอร์ ผู้นำอียิปต์ ในฐานะผู้ชูอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับ ซึ่งได้รับความนิยมชมชอบจากชาวเลบานอนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่มุสลิม

อิทธิพลของนัซเซอร์ได้สร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชาวคริสเตียนเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันชาวคริสเตียนส่วนใหญ่ในเลบานอนก็หันไปสนับสนุนประธานาธิบดีของตนเองที่หนุนหลักการหรือนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ชาวคริสเตียนเลือกที่จะอยู่กับฝ่ายตะวันตก

ด้วยเหตุนี้ การจลาจลจึงปะทุขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ แล้วจบลงหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ ฟูอัด ชิฮาบ (Fouad Shehab) ขึ้นมาปกครอง

ปัญหาความขัดแย้งครั้งที่ 2 ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด คือ สงครามกลางเมืองในเลบานอน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 สาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดสงครามขึ้นก็คือ การที่จำนวนผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในเลบานอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการย้ายฐานที่มั่นของกลุ่ม “องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์” หรือ PLO (Palestinian Liberation Organization) มาอยู่ในเลบานอน ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์ของประเทศ ในลักษณะที่จำนวนประชากรมุสลิมเติบโตขึ้นจนมีสัดส่วนมากกว่าชาวคริสเตียนและที่สำคัญยิ่งก็คือ การที่ชาวมุสลิมได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม PLO

นอกจากนั้น PLO ยังได้ขยายแนวร่วม และเข้าเป็นพันธมิตรกับพวกฝ่ายซ้ายที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนั้น พรรคขบวนการแห่งชาติเลบานอน (Lebanese National Movement) ภายใต้การนำของ กะม้าล ญัมบลัท (Kamal Jumblatt) ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์เลบานอน (Lebanese Communist Party) กลุ่มชาตินิยมอาหรับ และกลุ่มคริสเตียนสายกลาง เช่น เรมอนด์ เอดดี้ (Raymond Edde)

ขบวนการเหล่านี้เรียกร้องให้ยกเลิกการแบ่งสรรอำนาจการเมืองตามสัดส่วนตามกลุ่มนิกายศาสนา แต่ให้นำเอาระบบการเมืองแบบซิคิวล่าร์มาใช้แทน นอกจากนั้น ยังสนับสนุนสิทธิการต่อสู้ดิ้นรนด้วยอาวุธของชาวปาเลสไตน์ แม้ว่าจะใช้เลบานอนเป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้ก็ตาม

ข้อเรียกร้องเช่นนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มคริสเตียนมาโรไนต์เป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดพวกเขาจึงก่อตั้งพรรค “แนวหน้าเลบานอน” (Lebanese Front) ขึ้นมา เพื่อที่จะปกป้องระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มคริสเตียนมาโรไนต์เอาไว้

ขณะเดียวกัน อิสราเอล ซึ่งต้องการกวาดล้างขบวนการ PLO อยู่แล้ว จึงเข้ามาในเลบานอนเพื่อช่วยเหลือฝ่ายมาโรไนต์ อิสราเอลได้ใช้ระเบิดโจมตีดินแดนที่ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในเลบานอนอาศัยอยู่ การสู้รบระหว่างฝ่ายคริสเตียนและมุสลิมรุนแรงขึ้น ซีเรียได้ใช้ความพยายามทั้งทางการทูตและกำลังทหารเพื่อไม่ให้สงครามขยายตัว โดยได้รับความไว้วางใจจากสันนิบาตอาหรับ ให้เข้าไปแก้ไขปัญหาเลบานอนนับตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของสงคราม ประธานาธิบดีอัซซาดแห่งซีเรียจึงส่งทหารจำนวน 30,000 นาย เข้าไปประจำการในเลบานอน

ความวุ่นวายในเลบานอนแผ่ขยายออกไปอีก เมื่อกองกำลังอิสราเอลเข้ายึดครองเลบานอนภาคใต้ในปี ค.ศ. 1978 โดยเข้าครอบครองภาคใต้ของแม่น้ำลิตานี (Litani) ทั้งหมด ยกเว้นเฉพาะเมืองไทร์ คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติจึงออกมติที่ 425 และ 426 เรียกร้องให้อิสราเอลถอนตัวออกไป และมอบดินแดนที่ยึดครองไว้ให้อยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติในเลบานอน (UNIFIL) แต่อิสราเอลกลับไม่ยอมถอนทหารออกไป อีกทั้งยังส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้ามาในเลบานอนอีกในปี ค.ศ. 1982

สงครามกลางเมืองใช้เวลา 15 ปีจึงยุติลง แต่ประเด็นสำคัญคือ สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นทำให้อำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของเลบานอนอย่างลึกซึ้ง จนอาจเรียกได้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นถือเป็น “สมรภูมิรบของคนอื่น”

สงครามที่เกิดขึ้นทำให้ซีเรียสามารถเข้ามาตั้งฐานทัพในเลบานอน และคงฐานทัพเอาไว้ในช่วงเวลาที่ยาวนานหลังจากสงครามจบลง (1976 – 2005) อิสราเอลยกทัพขนาดใหญ่เข้ามารุกรานและยึดครองเลบานอนถึง 2 ครั้ง คือในปี ค.ศ. 1978 และ 1982 นอกจากนั้น เรายังเห็นบทบาทของอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก อิหร่าน ลิเบีย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต

สงครามกลางเมืองยุติลงหลังจากทุกฝ่ายยอมรับข้อตกลงฏออีฟ (Ta’if Agreement) รัฐธรรมนูญของเลบานอนได้รับการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องสูตรการแบ่งสรรอำนาจ โดยแบ่งโอนอำนาจของประธานาธิบดีไปให้แก่นายกรัฐมนตรีและรัฐสภา พร้อมทั้งมีการให้คำมั่นว่าจะค่อยๆ ยกเลิกระบบการเมืองแบบแบ่งตามนิกายศาสนา ไปเป็นระบบการเมืองแบบรัฐสภาและให้มีระบบการกระจายอำนาจ

ปัญหาความขัดแย้งครั้งที่ 3 ของเลบานอน คือ เหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นการปะทะถึงขั้นที่ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงเช่นนั้นได้ทุกขณะ

ความขัดแย้งครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีเลบานอน นายรอฟิก อัล-ฮาริริ
ถูกลอบสังหารด้วยระเบิดใจกลางกรุงเบรุตเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2005 ก่อนหน้านั้นก็มีความพยายามที่จะลอบสังหารบุคคลสำคัญระดับรัฐมนตรีอย่างนายมัรวาน ฮิมาดะห์ (Marwan Hemadeh) ภาวการณ์ทางการเมืองที่เกิดเหตุลอบสังหารขึ้นมาถึง 2 ครั้ง ทำให้ประชาชนชาวเลบานอนส่วนใหญ่มองว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังนั้นคือ ซีเรีย

การที่ประธานาธิบดี อีมิล ลาฮูด (Emile Lahoud) ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 1 สมัย พร้อมๆ กับที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ลงมติ 1559 เรียกร้องให้ซีเรียถอนกองกำลังทหารออกไปจากเลบานอน ที่สำคัญคือ มตินี้ยังได้เรียกร้องให้กลุ่มกองกำลังต่างๆ ในเลบานอนปลดอาวุธอีกด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเป็นนัยต่อกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ และขบวนการติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์กลุ่มต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การลอบสังหารนายอัล-ฮาริริ ก็นำไปสู่การลุกฮือของมวลชนที่ออกมาต่อต้านอำนาจอิทธิพลของซีเรียในเลบานอน มีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านซีเรียอย่างหนัก ในขณะที่นานาชาติก็เพิ่มความกดดันต่อซีเรียอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดก็ทำให้ซีเรียต้องตัดสินใจถอนทหารออกไปจากเลบานอน

พันธมิตร 14 มีนาฯ

“พันธมิตร 14 มีนาฯ” เป็นชื่อที่ได้มาจากการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของนายอัล-ฮาริริ ประมาณ 1 เดือน กลุ่มสำคัญๆ ที่เข้าร่วมเป็น “พันธมิตร 14 มีนาฯ” ซึ่งมีนายซะอัด (Saad) (กลุ่มซุนนีย์) ลูกชายของนายอัล-ฮาริริ เป็นแกนนำ คือ 1. พรรคสังคมนิยมก้าวหน้า (Progressive Socialist Party) ของนายกามาล ญัมบรัท ซึ่งขณะนี้นำโดยลูกชายของเขาคือ นายวะลีด (Walid) (ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มดรูซ) 2. ขบวนการรักชาติ (Free Potriotic Movement) ของนายมิเชล เอาว์ (Michel Aoun) ซึ่งเคยลี้ภัยไปอยู่ในซีเรียเป็นเวลานาน
3. กลุ่มกองทัพเลบานอน (Lebanese Forces) นำโดยนาย ชามีร เกียเกีย (Samir Geagea) และพรรคกอตาอิบ (Kataeb Party) นำโดยนายอามีน คิมาญิล (Amin Gemayel) ซึ่งเป็นคริสเตียนมาโรไนต์

ที่น่าสังเกตก็คือ นี่นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายค้านคริสเตียนมาโรไนต์ เข้าร่วมกับฝ่ายซุนนีย์และดรูซ ต่อต้านอำนาจอิทธิพลของซีเรียในเลบานอนอย่างเปิดเผย

ผู้นำกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ตลอดจนผู้สนับสนุนของพวกเขา ต่างกล่าวอ้างว่าตนเองต้องทนทุกข์ทรมานจากการกระทำของซีเรียตลอดช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา พวกเขาอ้างว่าซีเรียอยู่เบื้องหลังการตายของผู้นำหลายคนของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นกามาล ญัมบรัท, บาชีร คิมาญิล, มุฟตี ฮาซัน คอลิด (Mufti Hasan Khaled) และล่าสุดคือ รอฟิก อัล-ฮาริริ

“พันธมิตร 14 มีนาฯ” นี้ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2005 จนมีที่นั่งในสภามากที่สุด ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลใหม่จึงฟอร์มทีมขึ้นมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการเลือกตั้งในเลบานอนที่ปราศจากการแทรกแซงของซีเรีย

รัฐบาลดังกล่าว ก็คือ รัฐบาลของนายฟูอัด ซินิโอร่า ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลังและเป็นมือขวาของนายอัล ฮาริริ ความจริงในยุคก่อนหน้านี้ นายชินิโอร่ามีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ-การเงินให้แก่เลบานอนอย่างมาก เพราะเขาเป็นคนที่มีความสามารถและมีความโปร่งใส ทั้งนี้ “กลุ่มพันธมิตร 14 มีนาฯ” ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตกตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

“พันธมิตร 8 มีนาฯ”

ในขณะที่มีการรวมตัวสร้างพันธมิตรใหม่ที่เรียกว่า “พันธมิตร 14 มีนาฯ” ขึ้นมาดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่งก็มีการรวมตัวของ “พันธมิตร 8 มีนาฯ” เช่นกัน ชื่อนี้ได้มาจากการรวมกลุ่มของมวลชนชาวเลบานอนอีกเช่นกัน แต่ที่แตกต่างกันก็คือ กลุ่มพันธมิตรนี้เป็นกลุ่มที่นิยมซีเรีย

กลุ่มสำคัญที่เป็นแกนนำของ “พันธมิตร 8 มีนาฯ” คือ กลุ่มผู้สนับสนุนกองกำลังชีอะฮ์ ฮิซบุลลอฮ์ โดยมีแนวร่วมคือ กองกำลังอะมัล (Amal) ซึ่งนำโดยประธานรัฐสภานายนาบิน บิรริ (Nabin Birri) นอกจากนั้น ก็ยังมีกลุ่มที่นิยมซีเรียอีกจำนวนหนึ่งมาเข้าร่วมเป็นพันธมิตร เช่น กลุ่มของนายสุไลมาน ฟรานจีญะห์ (Suliman Franjiyyah) (ซึ่งเป็นคริสเตียนมาโรไนต์)

ส่วนพรรคเล็กๆ ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วยก็คือ “องค์กรนิยมแนวคิดนัซเซอร์” (Popular Nasserite Organization) ของนายอุสามะห์ ซะอัด (Orama Saad) ซึ่งเป็นซุนนีย์ รวมทั้งพรรคประชาธิปไตยเลบานอน (Labanese Democratic Party) ของนายตอลาล อัรซะลาน (Talal Arslan) ซึ่งเป็นดรูซ พรรคชาตินิยมสังคมซีเรีย (Syrian Social Nationalist Party) ซึ่งเป็นพรรคนิยมลัทธิซิคิวลาร์ที่นิยมซีเรีย และนายอุมัร กะรอมะห์ (Premier Omer Karameh)

จากการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรระหว่าง 2 ฝ่ายข้างต้น ทำให้เห็นการแบ่งแยกกันของประชาชนชาวเลบานอนได้อย่างชัดเจน กลุ่ม “พันธมิตร 14 มีนาฯ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ยุโรป และรัฐอาหรับ (ที่เป็นพันธมิตรตะวันตก) เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีในศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ เกี่ยวกับกรณีการลอบสังหารนายรอฟิก อัล-ฮาริรี ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นว่าเป็นฝีมือของทางซีเรีย ประเด็นนี้มีการขยายตัวกลายเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ จากการที่สหรัฐฯ เข้าไปผลักดันอีกแรงให้เอาผิดกับทางการซีเรียให้ได้

ค่อยมาขยายความกันต่อถ้ามีความคืบหน้าใหม่ ๆ ครับ

 

**แหล่งที่มา/เผยแพร่ครั้งแรก https://www.facebook.com/srawutaree