นายกฯอินเดียวางศิลาฤกษ์ เริ่มสร้าง “วิหารพระราม” ทับมัสยิดบาบรีที่ถูกทำลาย

นายกรัฐมนตรีอินเดีย “นเรนทรา โมดี” เป็นประธานวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มการก่อสร้างวิหารฮินดูทางตอนเหนือของเมืองอโยธยา

อัลจาซีรา – วานนี้ (พุธ 5 ส.ค.) นายกรัฐมนตรีอินเดีย “นเรนทรา โมดี” เป็นประธานวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มการก่อสร้างวิหารฮินดูทางตอนเหนือของเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ ในจุดเดียวกับที่มัสยิดบาบรีของชาวมุสลิมเคยถูกรื้อถอนทำลายเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน และทำให้เกิดการจลาจลร้ายแรงทั่วประเทศ

ภายในพิธีดังกล่าว โมดีได้สักการะต่อศิลา 9 แท่งที่มีรูปองค์พระรามสลักอยู่ ท่ามกลางการสวดมนต์ตามหลักทางศาสนาฮินดู อันถือเป็นการเริ่มต้นการก่อสร้างพระวิหารอย่างเป็นทางการ โดยคาดการณ์ว่าการก่อสร้างจะต้องใช้เวลาราว 3 ปีครึ่งถึงจะเสร็จสมบูรณ์

“ผมรู้สึกยินดีที่ได้เป็นพยานต่อประวัติศาสตร์ที่ได้สร้างขึ้น ซึ่งมีชาวอินเดียร่วมหลายล้านคนไม่อยากจะเชื่อว่าวันนี้จะมาถึงได้ ทั่วทั้งประเทศตกอยู่ในมนต์สะกดขององค์พระราม…พระองค์เป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีของอินเดียในท่ามกลางความแตกต่าง” โมดี กล่าวในสุนทรพจน์

ผู้นำชาตินิยมชาวฮินดูที่เข้าร่วมพิธีสวมเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม เสื้อตัวยาวสีทอง (Kurta) และกางเกงสีขาว (Dhoti) ผ้าหลวมๆ พันตัว พร้อมกับหน้ากากอนามัยปิดหน้า

ตำรวจยืนรักษาการณ์ก่อนการมาถึงของนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ในอโยธยา [Prabhat Kumar Verma / EPA]
ในพิธีดังกล่าวถนนสายหลักของเมืองอโยธยาถูกปิดกั้นและมีทหารราว 3,000 นายคุ้มกัน ซึ่งร้านค้าและธุรกิจทั้งหมดปิดให้บริการ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักบวชและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 15 คนประจำวิหารติดเชื้อโควิด-19 โดยอินเดียมีผู้ติดเชื้อ 1.9 ล้านคนในและเสียชีวิตไปเกือบ 40,000 คน

“ หากมีการจัดงานนี้ในวันปกติ ถนนเหล่านี้จะเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ผู้คนหลายล้านคนจะมาที่อโยธยาเพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้” ฮารี โมฮาน นักบวชประจำวิหารกล่าว

รายงานอัลจาซีราระบุว่า มีเพียงนักบุญนักบวชและตัวแทนชุมชนชาวฮินดูและมุสลิม 175 คนเท่านั้นที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธี

ความตึงเครียดของชาวฮินดู – มุสลิม

การสร้างวิหารที่เกิดขึ้นนี้ต่อเนื่องจากคำตัดสินของศาลฎีกาของอินเดียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาซึ่งสนับสนุนการสร้างวัดฮินดูบนพื้นที่พิพาทแห่งนี้ ทั้งนี้ชาวฮินดูหลายคนเชื่อว่าพระรามของพวกเขาถือกำเนิดที่สถานที่ดังกล่าว และอ้างว่าจักรพรรดิบาบูร์แห่งราชวงศ์โมกุลของมุสลิมได้สร้างมัสยิดบาบรีทับบนวิหารที่นั่น

มัสยิดบาบรี ที่ถูกสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ถูกทำลายโดยกลุ่มชาวฮินดูด้วยพลั่วและชะแลงในเดือนธันวาคม 1992 ก่อให้เกิดการจลาจลครั้งร้ายแรงระหว่างชาวฮินดู – มุสลิมทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ประชาชนราว 2,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเสียชีวิต และต่อมาศาลฎีกาอินเดียมีคำตัดสินอนุญาตให้สร้างวัดแทนมัสยิดที่ถูกรื้อถอน

ศาลยังสั่งให้ชาวมุสลิมได้รับที่ดินสองเฮกตาร์ (ห้าเอเคอร์) เพื่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ในบริเวณใกล้เคียง

วิหารพระรามนี้จะมีความกว้างประมาณ 72 เมตร ยาว 91.5 เมตร และสูง 49 เมตร มีโดม 5 โดม มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 7,804 ตารางเมตร ในส่วนคอมเพล็กซ์จะมีห้องสวดมนต์ ห้องบรรยาย หอพัก และพิพิธภัณฑ์ของผู้มาเยือน

บ้านและอาคารอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กับสถานที่ตั้งวิหารในเมืองอโยธยาได้รับการทาสีเหลืองเพื่อสร้างรูปลักษณ์ใหม่เสมือนที่พระรามเทพเจ้าฮินดูได้เคยปกครองที่นั่นเป็นเวลาหลายพันปีตามมหากาพย์รามายณะของฮินดู

“สีเหลืองเป็นสีมงคลตามประเพณีของชาวฮินดู สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และความสว่าง” มหานต์ คามาล นาราอิน ดาส นักบวชประจำวิหารกล่าว

ชาวมุสลิมมีประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมด 1.3 พันล้านคนในอินเดีย ซึ่งนับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก ความขัดแย้งระหว่างวิหาร-มัสยิดนี้ทำให้ชาวฮินดูและชาวมุสลิมแตกแยกกันอย่างรุนแรงซึ่งมักก่อให้เกิดการปะทะกันของชุมชน

มุสลิมที่มีชื่อเสียงกล่าวว่า ชุมชนดังกล่าวได้ออกไปสู่ความเป็นจริงใหม่ แต่เกรงว่าวิหารใหม่อาจทำให้ชาวฮินดูชาตินิยมตั้งเป้าหมายจะยึดครองมัสยิดอีกสองแห่งในรัฐอุตตรประเทศ

“รัฐบาลโมดีควรให้ความมั่นใจกับชาวมุสลิมว่าชาวฮินดูจะไม่ขอสร้างวัดในพาราณสีและมถุรา หลังจากรื้อมัสยิดที่มีอยู่ที่นั่น” นายอันซารีผู้ฟ้องร้องหลักในคดีมัสยิดบาบรีกล่าว

มัสยิด Gyanvapi ในเมืองพาราณสีอยู่ในวิหารที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระศิวะ ส่วนมัสยิด Shahi Idgah ในเมืองมถุราตั้งอยู่ติดกับวิหารที่เป็นสถานที่ประสูติของเทพเจ้ากฤษณะของฮินดู องค์กรชาวฮินดูกล่าวว่า มัสยิดทั้งสองแห่งสร้างขึ้นบนวิหารที่พังทลาย