เลบานอนโกลาหล! ประชาชนลงถนนไล่รัฐบาล บุกรัฐสภา ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาแล้ว

RT – ฝูงชนจำนวนมากได้รวมตัวกันใกล้อาคารรัฐสภาของเลบานอน โดยกล่าวโทษรัฐบาลต่อเหตุระเบิดครั้งใหญ่จากแอมโมเนียมไนเตรต ตำรวจตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตาหลังจากผู้ประท้วงขว้างปาก้อนหินและพยายามทำลายกำแพงกั้น

วิดีโอถ่ายทอดสดจากท้องถนนเผยให้เห็นตำรวจปราบจลาจลติดอาวุธพร้อมโล่ที่พุ่งไปข้างหน้าเพื่อสลายฝูงชนจากภายนอกอาคารรัฐสภาขณะที่แก๊สน้ำตาฟุ้งไปในอากาศ ผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่สวมหน้ากากเพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด -19 กำลังขว้างก้อนหินไปที่กองกำลังรักษาความปลอดภัย โดยบางคนขว้างกระสุนแก๊สน้ำตากลับไป และไม่ยอมที่จะถอย

ผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัวกันที่จัตุรัสเบรุตถัดจากอาคารรัฐสภาเมื่อวันเสาร์ (8 ส.ค.) จากความโกรธแค้นรัฐบาลของประธานาธิบดีมิเชล อูน และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อจากเหตุระเบิดเมื่อวันอังคาร (4 ส.ค.) ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คนบาดเจ็บหลายพันคน และผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมากถึง 300,000 คน

ผู้ชุมนุมมีการจัดทำคัทเอาท์รูปนายกรัฐมนตรีอิสราเอลเบนจามิน เนทันยาฮู และฮัสซัน นัสรุลเลาะห์ เลขาธิการฮิซบุลเลาะห์ โดยมีบ่วงคล้องอยู่ที่คอ

ในวิดีโอเผยให้เห็นว่ามีผู้ประท้วงจำนวนมากเดินขบวนไปยังจัตุรัสจาก มาร์ มิคาเอล (Mar Mikhael) ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระเบิด ผู้ประท้วงกำลังเรียกร้องให้ปลดรัฐบาล โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นในประเทศนี้ในช่วงเวลาที่ประชาชนไม่พอใจกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ

การประท้วงในวันเสาร์เริ่มตึงเครียดขึ้นโดยผู้ประท้วงที่พยายามเข้าใกล้รัฐสภาและพยายามแหวกผ่านเครื่องกีดขวางที่ใช้ปกป้องอาคาร

สื่อท้องถิ่นอธิบายฉากกลางกรุงเบรุตว่าเป็นเสมือน “สนามรบ” เมื่อผู้ประท้วงวิ่งหนีจากกองกำลังรักษาความปลอดภัยและขว้างแก๊สน้ำตาคืนกลับใส่พวกเขา นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นรถฉุกเฉินได้ในพื้นที่

รายงานข่าวทางทีวียังแสดงให้เห็นว่าผู้ประท้วงหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนยาง สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุ

ในที่สุดผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปในสำนักงานใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งพวกเขาแขวนป้ายเรียกร้องให้เบรุตเป็นเขตปลอดทหารและทุบกรอบรูปมิเชล อูน ประธานาธิบดีเลบานอน

แอมโมเนียมไนเตรตที่ก่อให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ในเบรุตเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นผลมาจากความประมาท เนื่องจากสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระเบิดได้ถูกเก็บไว้ที่ท่าเรือเป็นเวลาหกปีโดยไม่มีมาตรการดูแลที่เพียงพอ