ฮาลาลกับการศึกษา

1.บทนำ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด  ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ฮาลาลมีความสำคัญมากต่อศาสนบัญญัติในอิสลามเพราะไม่ว่าจะบริโภคหรือการทำธุรกรรม  ความสำคัญดังกล่าวมีต่อตนเองและสังคมมุสลิม หากผลิตภันต์หรือการบริการใดได้รับการรับรองฮาลาลก็จะสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นสถาบันที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและความตระหนักคือสถาบันการศึกษาในทุกระดับชั้น

2.ความหมายฮาลาล

หลายคน หรือคนไทยหลายท่านอาจจะไม่เข้าใจว่า ฮาลาล คือ อะไร เพราะ คำว่า
ฮาลาลไม่มีในภาษาไทย หลายท่านจึงอยากทราบ หากทราบแล้วอาจเป็นช่องทางหนึ่งด้านเศรษฐกิจให้กับคนไทยไม่ว่ามุสลิมหรือพุทธ

“ฮาลาล” เป็นคำมาจากภาษาอารบิก แปลว่า อนุมัติ , อนุญาตในที่นี้ หมายถึง อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ หรือกล่าวอีกในหนึ่งว่าการผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า “อาหารฮาลาล” คือ อาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัตินั่นเอง เป็นการรับประกันว่า ชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้โดยสนิทใจ

โดยพื้นฐานแล้วมุสลิมมีความศรัทธาว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ศาสดามูฮัมมัดเป็นผู้สื่อ (ศาสนฑูต) ของอัลลอฮฺ” และมุสลิมมีความเชื่ออย่างมั่นใจว่า อัลลอฮฺ คือผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งในจักรวาล ดังนั้น คำบัญชาของอัลลอฮฺ (อัล-กุรอาน) คำสอนและแบบอย่างขอบศาสดามูฮัมมัด (ซุนนะห์) จึงเป็นเรื่องที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติตามด้วยความจริงใจและจริงจัง กล่าวคือ ปฏิบัติในสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นข้อห้าม (ฮารอม) ด้วยความเต็มใจและยินดี

3.ฮาลาล-ฮารอมในอิสลาม

ฮาลาล-ฮารอมในอิสลามจึงมิได้หมายความเพียงการบริโภคอาหารเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงวิถีการดำเนินชีวิตในทุกด้าน เพราะอิสลามคือระบอบแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์

อาหารฮาลาล (Halal Food) จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมในการบริโภค ส่วนผู้ที่มิใช่มุสลิม มุสลิมเชื่อว่าหากบริโภคอาหารฮาลาลก็จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นเดียวกันเพราะอาหารฮาลาลจะต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามข้อบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม ปราศจากสิ่งต้องห้าม (ฮารอม) และมีคุณค่าทางอาหาร (ตอยยิบ)

อัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้มีบัญชาไว้ในบทที่ 2 วรรคที่ 168 แห่งคัมภีร์อัล-กุรอาน ความว่า “โอ้มนุษย์ จงบริโภคสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) ที่ดี (ตอยยิบ) จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของมาร (ซัยตอน) แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า”และอัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้กำชับผู้ศรัทธาไว้ในบทที่ 2 วรรคที่ 172 ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพของพวกเจ้าจากสิ่งที่ดีทั้งหลาย และจงขอบคุณอัลลอฮฺเถิด เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพสักการะ”

อาหารฮาลาลจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทั่วโลก
ศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้เคยวัจนะความว่า “ฮาลาล คือ สิ่งที่อัลลอฮฺทรงอนุมัติให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในคัมภีร์ของพระองค์ และฮารอม คือสิ่งที่พระองค์ได้ทรงห้ามไว้ และที่เกี่ยวกับที่พระองค์ทรงนิ่งเงียบนั้น พระองค์ได้ทรงอนุมัติให้เป็นความโปรดปรานแก่ท่าน สิ่งฮาลาลย่อมชัดแจ้งและสิ่งฮารอมก็ชัดแจ้ง แต่ระหว่างทั้งสองดังกล่าวมีสิ่งที่ไม่ชัดเจนอยู่ ซึ่งคนส่วนมากไม่รู้”

ปัจจุบัน สำหรับบุคคลทั่วไปจะสามารถสังเกตผลิตภัณฑ์ว่าเป็น “ฮาลาล” หรือไม่นั้น ได้จากการประทับตรา “ฮาลาล” ที่ข้างบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นสำคัญ

“เครื่องหมายฮาลาล” คือเครื่องหมายที่คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่าง ๆ ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทำการประทับ หรือแสดงลงบนสลาก หรือผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใด ๆ โดยใช้สัญญลักษณ์ที่เรียกว่า “ฮาลาล”ซึ่งเขียนเป็นภาษาอาหรับว่า ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้ง ใต้กรอบภายในเส้นขนานมีคำว่า “สนง.คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” โดยเครื่องหมายดังกล่าวนี้ จะออกให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ฮาลาล และหรือเนื้อสัตว์ฮาลาลที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น

4.หน้าที่ผู้ประกอบการ

สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะเป็นมุสลิมหรอไม่ควรรู้และปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ (เพื่อธุรกิจจะไม่มีปัญหาในกลุ่มผู้บริโภคมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ)

1. รักษาอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้สะอาดถูกต้องตามศาสนบัญญัติ ตลอดจนไม่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับของต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ

2. วัตถุดิบหลักในการผลิต ตลอดจนเครื่องปรุงอื่น ๆ ต้องระบุแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือได้ว่า “ฮาลาล” โดยไม่แปดเปื้อนกับสิ่งต้องห้าม

3. วัตถุดิบที่ได้จากสัตว์ต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นสัตว์ที่ศาสนาอิสลามอนุมัติ และหรือได้เชือดตามศาสนบัญญัติ

4. พนักงานผลิตอาหารฮาลาลควรเป็นมุสลิม หากมิใช่มุสลิมจะต้องไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ฮาลาลในขณะผลิตอาหารฮาลาล เช่น เนื้อสุกร เลือด แอลกอฮอล์ หรือสุนัข เป็นต้น ถ้าหากจำเป็นต้องใช้พนักงานที่มิใช่มุสลิมก็ควรมีผู้ควบคุมที่เป็นมุสลิม ที่มีความรู้เกี่ยวการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลอย่างดีเยี่ยม

5. ในระหว่างการขนย้าย ขนส่ง หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
สำหรับสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ (ห้ามใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลโดยเด็ดขาด) ได้แก่

1. สัตว์ต้องห้าม ได้แก่

1.1 สุกร สุนัข หมู ลิง

1.2 สัตว์กินเนื้อเป็นอาหารที่มีกรงเล็บ เช่น สิงโต เสือ หมี และอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

1.3 สัตว์ที่มีพิษ หรือสัตว์นำเชื้อโรค เช่น หนู ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ

1.4 สัตว์ที่ไม่อนุญาตให้ฆ่าตามศาสนบัญญัติ เช่น มด ผึ้ง

1.5 สัตว์ที่ลักษณะน่ารังเกียจ เช่น เหา แมลงวัน หนอน ฯลฯ

1.6 สัตว์ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับลา

1.7 สัตว์ที่มีพิษและเป็นอันตรายทุกชนิด

1.8 สัตว์เพื่อการบริโภคโดยทั่วไป ที่ไม่ได้เชือดตามหลักการของศาสนาอิสลาม

2. เลือดสัตว์ต่าง ๆ
3. อาหารที่มาจากพืชที่มีพิษและเป็นอันตรายทุกชนิด
4. อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายและเป็นพิษ

เพราะศาสนทูตมุฮัมมัด ได้เคยวัจนะความว่า:- “เครื่องดืมทุกชนิดที่ทำให้มึนเมาถือว่าไม่อนุมัติ” บันทึกโดย อิหม่ามอัลบุคอรีย์และมุสลิม

สำหรับเนื้อสัตว์ที่ศาสนบัญญัติให้รับประทานนั้นต้องผ่านการเชือดโดยผู้เชือดสัตว์ตามศาสนบัญญัติเพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่ฮาลาลนั้น มีคุณสมบัติและเงื่อนไขดังนี้

1. ต้องนับถือศาสนาอิสลาม

2. สัตว์ที่จะเชือดนั้น ต้องเป็นสัตว์ที่รับประทานได้ตามหลักศาสนาอิสลาม

3. ต้องไม่ปะปนสัตว์ที่จะเชือดกับสัตว์ต้องห้ามในระหว่างขนส่ง

4. ต้องไม่ทารุณสัตว์ก่อนการเชือด ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชือดต้องมีความคม

5. ให้ผู้เชือดกล่าวพระนามของอัลลอฮฺเจ้า ขณะเริ่มทำการเชือด โดยต้องเชือดในคราวเดียวกันให้แล้วเสร็จ โดยไม่ทรมานสัตว์

6. ต้องเชือดให้หลอดลม หลอดอาหารและเส้นเลือดข้างลำคอของสัตว์ที่ถูกเชือด ขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยสัตว์จะต้องตายเพราะการเชือดเท่านั้น สัตว์นั้นต้องตายสนิทเองก่อน จึงจะนำไปดำเนินการอย่างอื่นต่อได้

เพราะอัลลอฮฺทรงตรัสในอัลกุรอ่านมีความว่า “จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด) ฉันไม่ได้พบสิ่งใดที่ถูกเปิดเผยแก่ฉันเป็นที่ต้องห้ามแก่ผู้ที่จะบริโภคมัน เว้นแต่ที่ตายเอง หรือเลือดที่ไหลออกมา หรือเนื้อสุกรเพราะแท้จริงมันเป็นความโสมน หรือการฝ่าฝืนที่จะเปล่งนามอื่นไปจากอัลลอฮฺ (วลาเชือด) แต่ผู้ใดตกอยู่ในภาวะคับขัน โดยไม่เจตนาขัดขืนและไม่ใช่ละเมิด ดังนั้นพระผู้อภิบาลของเจ้าเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” อัลอันอามโองการที่ 145

นักวิชาการอิสลามให้เหตุผลของการห้ามกินสัตว์ตายเอง,เลือดและสัตว์บางชนิด เช่น สุกร ดังต่อไปนี้

1.สัตว์ที่ตายเอง เหตุผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการห้ามคือ

ก. การกินเนื้อสัตว์ที่ตายเองเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงต่อความรู้สึกของที่มีความเจริญและคนที่มีความคิด ในทุกสังคมก็ถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นการขัดต่อเกียรติยศของมนุษย์ นอกจากนี้แล้ว เราจะสังเกตเห็นว่าคนที่นับถือคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้าทุกคนจะห้ามการกินเนื้อสัตว์ที่ตายเอง และพวกเขาก็จะไม่กินเนื้อสัตว์เว้นแต่วันมันจะถูกฆ่าเสียก่อน ส่วนเรื่องวิธีการฆ่าสัตว์นั้นอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง

ข. ในการทำอะไรก็ตาม มุสลิมจะต้องมีวัตถุประสงค์และความตั้งใจ มุสลิมจะต้องไม่ใช้หรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ตั้งเจตนาหรือเป้าหมายได้ การฆ่าสัตว์ก็เช่นเดียวกัน เจตนาสำคัญของการฆ่าสัตว์ก็คือเพื่อที่ใช้มันเป็นอาหาร และเพื่อที่ทำให้มันพ้นจากสภาพของสัตว์ที่อยู่ในประเภท ? สัตว์ที่ตายเอง ? อัลลอฮฺมิทรงต้องการให้มนุษย์กินสิ่งที่เขามิได้ตั้งใจหรือคิด ดังในกรณีของสัตว์ที่ตายเอง

ค.ถ้าหากสัตว์ตายเองโดยธรรมชาติ มันก็อาจเป็นไปได้ว่ามันตายเพราะเหตุปัจจุบันทันด่วน หรือตายเพราะโรคระบาดหรือตาย แล้วพยายามที่จะไปถึงมันให้ได้เพราะกินพืชที่เป็นพิษ หรือโดยสาเหตุอื่นๆที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น การกินเนื้อของมัน จึงอาจเป็นอันตรายได้

ง. การห้ามเช่นนี้เป็นการกระตุ้นเจ้าของสัตว์ให้ป้องกันสัตว์ของตนเองให้ปลอดภัยจากโรคภัยและการให้อาหารที่ผิดหลักโภชนาการ มิเช่นนั้นแล้ว มันก็อาจตายหรือเป็นการสิ้นเปลือง ดังนั้นในกรณีของการเป็นโรค เขาจะต้องรีบเร่งรักษาหรือไม่ก็รีบฆ่ามันเสียเพื่อไม่ให้ระบาดกับตัวอื่น

2. เหตุผลห้ามกินเลือด ก็คือ มันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจต่อความรู้สึกของมนุษย์และมันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน

3. เหตุผลห้ามกินหมู เนื่องจากหมูเป็นสัตว์ที่ชอบกินของสกปรกและสิ่งปฏิกูล เนื้อของมันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ สำหรับคนที่มีรสนิยม ยิ่งกว่านั้น มีการค้นพบทางการแพทย์ว่า การบริโภคเนื้อหมูเป็นอันตรายต่อสุขภาพในทุกกาลอากาศ โดยเฉพาะในเขตอากาศร้อน และยังมีการค้นพบว่าในเนื้อหมูนั้นมีพยาธิที่เป็นอันตรายชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ตัวจี๊ด (ทริโคนา) อยู่ด้วย

ดังนั้นอาหารฮาลาลจึงมีความสำคัญสำหรับมุสลิมเพราะมันคืออาหารสุขภาวะตามทัศนะอิสลามที่ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามข้อบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม ปราศจากสิ่งต้องห้าม (ฮารอม) และมีคุณค่าทางอาหาร (ตอยยิบ)

ดั่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้มีบัญชาไว้ ความว่า “โอ้มนุษย์ จงบริโภคสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) ที่ดี (ตอยยิบ) จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของมาร (ซัยตอน) แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า”   บทที่ 2 วรรคที่ 168 แห่งคัมภีร์อัล-กุรอาน

5.สถานศึกษา

สถานศึกษาเริ่มตั้งแต่โรงเรียนไม่ว่าของรัฐและเอกชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาพบว่า วิสัยทัศน์  หลักการ จุดหมาย มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดพบว่าเรื่องฮาลาลและคุณค่าทางอาหาร (ตอยยิบ)ปรากฎแต่ในทางปฏิบัติในหลายโรงเรียนยังขาดให้ความสำคัญกับคุณค่าทางอาหาร (ตอยยิบ) เรายังเห็น น้ำอัดลม ลูกอม บะหมี่สำเร็จรูป  อาหารร้อนใส่ในโฟมและอื่นๆอีกมากมาย
สถาบันฮาลาลเชิงลึกก็มีความจำเป็นเพราะอาหารหลายอย่างไม่สามารถพิจารณาจากภายนอกแต่เมื่อใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการทดลองพบสารหลายอย่างที่ปะปนของไม่ฮาลาลและยังทราบอีกว่าผลิตภันฑ์ใดถึงแม้ฮาลาลแต่ไม่มีคุณค่าทางอาหาร (ตอยยิบ) ดังนั้นผู้เขียนจีงเสนอว่าอีกการรับรองหนึ่งคือ ฮาลาลันตอยยิบัน หรือถูกอนุมัตพร้อมทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการ

สรุป

ฮาลาลในอิสลามจะประสบความสำเร็จได้ หากโรงเรียนสามารถสร้างจิตสำนึกให้ผู้เรียนมีค่านิยมเรื่องฮาลาลันตอยยิบัน พร้อมทั้งสถาบันเชิงลึกในการวิจัย พัฒนาผลิตภันณ์ฮาลาลันตอยยิบัน จะทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาวะที่ดี ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ต้องการพึ่งตลาดชุมชนมุสลิมไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ในหรือต่างประเทศ ซึ่งประชากรมุสลิมมีมากโดยเฉพาะอาเซี่ยนและตะวันออกกลาง (ถือว่ากระเป๋าหนักและมีกำลังซื้อสูง) ใส่ใจในมาตรฐานฮาลาลันตอยยิบันจนเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติจะช่วยนำเงินตราต่างประเทศเข้าเมืองไทย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิมและอาจจะทำยอดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ฮาลาลชนะมาเลเซียหรืออินโดนีเซียก็เป็นได้ เพราะฝีมือการผลิตอาหารของเรามีความเป็นเลิศเป็นทุนอยู่แล้ว

ที่สำคัญรัฐควรพัฒนาผลิตภันต์  การท่องเที่ยวหรืออื่นๆที่ฮาลาลในประเทศไทยสู่มาตรฐานโลกโดยสนับสนุนคน บุคลากรและงบประมาณอย่างเต็มที่เพื่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

บรรณานุกรม

คัมภีร์อัลกุรอาน
ภาษาไทย
ยูซุฟ ก็อรฎอวีย. แปลโดย บรรจง บินกาซัน . หะลาลและหะรอมในอิสลาม.
วิทยาลัยอิสลามศึกษาใมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. อาหารฮาลและหะรอมในอิสลาม..สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม  2558  จาก
http://www.cis.psu.ac.th/fathoni/
สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการศึกษาที่ 12.หลักสูตรอิสลามศึกษา.สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม  2558  จาก http://www.reo12.moe.go.th/data/Isalam/4.pdf
อัสมัน   แตอาลี.2009.  อาหารฮาลาลในอิสลาม. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม  2558  จาก http://d1.islamhouse.com/data/th/ih_articles/th_asman_atemah_halal_fi_syariat_alislam.pdf
อับดุลสุโก  ดินอะ. (2553). เข้าใจอาหารสุขภาวะตามทัศนะอิสลามต้องเข้าใจอาหารฮาลาล. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม  2558  จาก http://www.oknation.net/blog/shukur/2010/06/02/entry-1

ภาษาต่างประเทศ

al –  Baidhaki, Abu Bakr Ahmad. (1991).  Tafsir  al- Baidhawi. Berut : Dar al – Kutub al – Ilmiah.

Halal in Islam. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2558, จากhttps://en.wikipedia.org/wiki/Halal

al-Qardhawi, Yusuf. (1993). Al*Halal wa al- Haram . Berut : al-Risalah.

Ibn  Majah, Muhammad  Yazid. n.d.  Sunan  Ibn  Majah.  Damascus : Dar  al – Fikr

Ibn Manzur, Jamal al – Din. ( n.d).  Lisan al – Arab.  Cairo : al – Maarif.

Muslim, Abi  al – Husain. 1995.  Sahih  Muslim.  Berut : Dar  Ibn  Hazmi