มนุษย์ ศาสนา และความรุนแรง

หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่ามนุษย์มีความต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นตรงไหน? หากเรามองเพียงผิวเผินก็ดูจะไม่ต่างกันมากนัก ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็มีสัญชาติญาณการเอาตัวรอดเหมือนกัน (ในขณะที่ออกจากท้องแม่ ลูกสัตว์ต้องพยายามยืนให้ได้เพื่อที่จะเดินตามแม่เข้าร่วมฝูง ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าและดำรงชีวิตต่อไป หรือการที่เด็กทารกร้องไห้เมื่อหิวนม)   แต่หากจะมองให้ลึกลงไปสิ่งที่มนุษย์มีเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นคือ มนุษย์มีสติปัญญา มีการเรียนรู้ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง มีวัฒนธรรม มีความเชื่อ มีจารีตประเพณี มีสังคม มีการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมเพื่อสนองตอบต่อ การดำรงชีวิต มีความอยากรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ มีการตั้งข้อสงสัยและตั้งสมมติฐานมีการทดลองจนได้บทสรุป และมีวิวัฒนาการทางความรู้อย่างต่อเนื่อง

เอ็ดเวิร์ด บี ไทเลอร์(Eward B. Tylor) นักมนุษยวิทยาชาวอังกฤษ ได้กล่าวไว้ในหนังสือวัฒนธรรมในยุคดั้งเดิม (Primitive Culture) ว่ามนุษยชาติจะเริ่มต้นจากสภาพหยาบกระด้างแล้วจะพัฒนาไปสู่ความละเอียดอ่อน  คือจะมีการพัฒนาจากยุคแห่งความป่าเถื่อน(Savagery)ไปสู่สภาพที่เป็น อารยธรรม(Civilization) แต่การพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าของกลุ่มต่างๆนั้นก็อาศัยระยะเวลาไม่เท่ากัน

จากเหตุผลข้างต้นจะเห็นได้ว่ามนุษย์มีพัฒนาการมาตามลำดับ แปรสภาพจากใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนมาเป็นการใช้สติปัญญาในการใช้ชีวิตมากขึ้น  จากในยุคแรกๆที่อาศัยอยู่ในถ้ำ เข้าป่าล่าสัตว์เป็นอาหารเพื่อใช้ในการดำรงชีพ จนสามารถสร้างอารยธรรมและวัฒนธรรมต่างๆขึ้นในสังคม  มีการใช้เหตุผลและการรู้จักใช้ความคิดในการดำเนินชีวิตที่ถือว่าเป็น พัฒนาการสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ  การใช้เหตุผลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ สภาพทางสังคมมีความหลากหลายและมีความซับซ้อนมากขึ้น

ในสังคมมนุษย์ยังมีความเชื่อทางศาสนา ที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละศาสนาก็มีบทบัญญัติการดำเนินชีวิตที่ทำให้คนประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเป็นสงบสุข  ศาสนาได้กำหนดข้อห้ามในการประพฤติชั่ว จึงถือได้ว่าศาสนามีส่วนสำคัญที่อบรมสั่งสอนให้มนุษย์กระทำความดี  หลัก ธรรมคำสอนของทุกๆศาสนาไม่ได้สอนให้มนุษย์กดขี่หรือรังแกและเข่นฆ่าผู้อื่น  ดังประโยคสั้นๆที่เราทุกคนต่างก็รู้จักกันดีคือ “ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี”

ดังเช่นคำสอนศาสนาคริสต์ที่เทศนา สั่งสอนให้คนมีความรักใคร่เมตตากัน สอนให้มีความเสียสละไม่อาฆาตพยาบาทจองเวร  คำสอนที่มีชื่อมากก็คือคำสอนที่ว่า “ถ้าใครมาตบหน้าทางแก้มขวาของท่าน ก็จงหันแก้มซ้ายให้เขาตบอีกทีหนึ่ง”    ,  ศาสนาอิสลามสอนให้มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก เน้นในเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งจะเห็นได้จากคำทักทาย ” อัสลามมุอะลัยกุม (สันติจงมีแด่ท่าน)”  , ส่วนในศาสนาพุทธกับหลักศีลห้าก็ยังมีการบรรจุเรื่องการห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไว้เป็นหลักปฏิบัติข้อแรก  มีการตั้งคำถามว่าในเมื่อสังคมมนุษย์มี ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวแล้วเหตุใดจึงยังเกิดความรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อ เนื่องอีก ต้นตอของความรุนแรงและความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามมาจากคำสอนของศาสนาใช่หรือ ไม่ ?

ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของสงครามครูเสด ซึ่งเป็นสงคราม ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์จากยุโรป ในช่วงศตวรรษที่ 11 ถึง 13  อันเนื่องมาจากความต้องการที่จะครอบครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์(เยรูซาเลม) ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 200 ปี สูญเสียชีวิตผู้คนไปกว่า 7,000,000 คน   หรือความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามในกรณีที่เกิด ขึ้นในประเทศศรีลังกาปี 2013 จาก การที่กลุ่มพระสงฆ์ในศาสนาพุทธเข้าร่วมกับม็อบกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงโบดู บาลา เสนา (Bodu Bala Sena) ออกเดินขบวนเรียกร้องให้มีการปฎิบัติอย่างจริงจังในการบอยคอตธุรกิจของชาว มุสลิม  มีความรุนแรงนองเลือดปะทุขึ้น  ชาวพุทธหัวรุนแรงจุดไฟเผาร้านค้า และบ้านเรือนของชาวมุสลิมไปหลายหลัง  เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้มีชาวมุสลิมต้องสูญเสียชีวิตและ ทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก

ในขณะที่เหตุการณ์ในประเทศพม่า มี “กลุ่มเคลื่อนไหว 969” หรือกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงที่เห็นการแพร่ขยายของศาสนาอิสลามกำลังคุกคาม ศาสนาพุทธในพม่าที่มีพระวีระธุ ( Ashin Wirathu) เป็นผู้นำโดย โดยรู้จักในนาม “บินลาเดนแห่งพม่า” (ถูกจำคุกในปี 2003  จากสาเหตุที่ปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังระหว่างศาสนา และถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในปี 2012) พระวีระธุเป็นผู้ที่เผยแพร่ความเกลียดชังทางศาสนาอิสลามไปทั่วประเทศพม่า โดยพระรูปนี้ได้เสนอความเห็นผ่านทางวีดิโอและสื่อโซเชียลมีเดีย ปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความหวาดระแวงและความกลัว เต็มไปด้วยการเหมารวมทางเชื้อชาติ และยุยงให้เกิดความรุนแรง  มีการก่อจราจลเผาทำลายมัสยิด บ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวมุสลิมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

แม้กระทั่งในปัจจุบันยังมีกองกำลัง ISIS  “Islamic State of Iraq and Greater Syria”  ที่เข่นฆ่าคนต่างศาสนิก หรือแม้แต่ชาวมุสลิมด้วยกันเองและบรรดาชนกลุ่มน้อยอื่นๆอย่างโหดเหี้ยม  มีการเผาโบสถ์คริสต์   เผาทำลายและวางระเบิดมัสยิดของชาวมุสลิมสำนักคิดอื่นที่ต่างจากตน  ทำการเผานักบินจอร์แดนทั้งเป็น   ฆ่าตัดคอนักข่าวต่างชาติ   ทำการระเบิดฆ่าตัวตายใจกลางตลาดและสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆมากมาย  ซึ่งทำให้มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  กลุ่ม ISIS  ยังมีการทำลายโบราณสถานสิ่งล้ำค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นมรดกโลก  มีการทุบ ทำลายหินสลักซึ่งมีค่ามหาศาลไม่อาจประเมินเป็นตัวเงินได้ ที่เมืองนิมรุด  เมืองโบราณสมัยจักรวรรดิอัสซีเรียอายุกว่า 3,000 ปีก่อน ก่อนจะระเบิดเมืองทิ้งในที่สุด  สร้างความหวาดกลัวให้กับคนทั่วโลกจน เกิดเป็นกระแส(Islamophia)โรคเกลียดชังอิสลามทำให้ภาพลักษณ์ของศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่มาพร้อมกับความรุนแรงและการก่อการร้ายในข่าวกระแสหลัก

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นการตั้งคำถามว่าศาสนาเป็นต้นตอของความ รุนแรงใช่หรือไม่?   ตอบได้อย่างชัดเจนเลยว่าหลักคำสอนและบทบัญญัติทางศาสนา ไม่ใช่ต้นตอของความขัดแย้งและความรุนแรง  หากแต่เกิดจากความโง่เขลา  การตีความที่ผิดเพี้ยน  การใส่ร้ายป้ายสี  การหลงในอำนาจ  หลงในโลกของวัตถุ  และความมืดบอดทางสติปัญญาของมนุษย์เอง  จึงเป็นเหตุให้มีผู้นับถือศาสนาบางกลุ่มใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการทำสงคราม เพื่อแย่งชิงอำนาจ ใช้ศาสนามาสร้างผลประโยชน์เข้าหาตัวเอง  ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วกลุ่มบุคคลเหล่านี้อาจมิได้มีความเข้าใจในแก่นแท้ ของหลักคำสอนและบริบททางศาสนาของตนอย่างแท้จริงเลยด้วยซ้ำไป

จากบทนำข้างต้นที่กล่าวว่าสิ่งที่มนุษย์ต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆคือ มนุษย์มีสติปัญญาและใช้หลักของสติปัญญาในการดำรงชีวิต  การใช้เหตุผลและสติปัญญานั้นช่วยลดความรุนแรงในสังคม  ช่วยให้สังคมที่มีความแตกต่างอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  มนุษย์สามารถเลือกได้ว่าจะใช้หลักของสติปัญญาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่าง สันติหรือเลือกใช้ความรุนแรงในการกระทำการต่างๆ ดังนั้นจะกล่าวได้หรือไม่ว่าผู้ที่เลือกใช้ความรุนแรงเป็นการบ่งบอกถึงความ ไร้สามารถทางสติปัญญาของกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ?

กล่าวโดยสรุปให้เป็นข้อคิดได้ว่า คำสอนของศาสนาทุกศาสนามุ่งไปสู่ความสงบสุข สันติภาพ  การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างอย่างเกื้อกูล  ด้วยเหตุนี้เราจึงควรแยกให้ออกว่ามนุษย์บางกลุ่มบางจำพวกต่างหากที่ใช้ ศาสนาเพื่อผลประโยชน์ของตนและใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างความรุนแรง  หาใช่ข้อปฏิบัติและบทบัญญัติทางศาสนาที่สอนให้มนุษย์ใช้ความรุนแรงอย่างที่ หลายๆคนเหมารวมให้เป็นสิ่งเดียวกันไม่   เพราะไม่มีศาสนาใดในโลกที่สอนให้มนุษย์ใช้ความรุนแรง……ศาสนาไม่เคยฆ่า ใครมีแต่มนุษย์ผู้โง่เขลามัวเมากับอำนาจกิเลสตัณหาและอ่อนด้อยทางสติปัญญา ที่ฆ่ากันเอง!!!!!