เร่งเครื่องเต็มสปีดกับการสร้างกฎกติกาประเทศฉบับใหม่ กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงในรายมาตรา ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้การปรุงสูตรฝีมือ “เชฟป๊อด”บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ประชุมกันหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้เสร็จตามกรอบปฏิทินที่กำหนดไว้ คือวันที่ 17 เมษายน เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นเข้าสู่ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พร้อมไปกับการเสนอร่างต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเป็นการเดินหน้าไปตามโรดแมประยะที่ 2 ของ คสช.
จากนั้น 26 เม.ย. จะเป็นวันสุดท้ายที่สปช.ต้องพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้น และ 6 ส.ค. คือวันสุดท้ายที่ สปช.ต้องมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ วันนี้เริ่มเห็นทิศทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วว่าจะไปในทิศทางใด ขณะเดียวกันสปช.ก็เดินสายเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เริ่มที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดแรก ซึ่งเป็นการทำงานตีคู่ขนานกันไป วางกรอบ แบ่งงานอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เสียเวลา
การบ้านอีกข้อหนึ่งที่สปช.ต้องทำในช่วงเวลา 3 เดือนนับจากนี้ไปจนถึงเดือนเม.ย. เป็น“การบ้าน”ที่รัฐบาลฝากมา คือ กรรมาธิการปฏิรูปของสปช.ทั้ง 18 คณะต้องคิด “งาน”ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศออกมาให้เป็นผลงาน ดังนั้นช่วงเวลา 3 เดือนนับจากนี้จึงถือเป็นนาทีทองในการเดินหน้าปฏิรูป ที่จะใช้ห้วงเวลานี้ทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ภายใต้การกำกับของคสช.ที่ส่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวะพันธุ์ ตันยุวัฒนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาคอยกำกับทิศทางของสปช. และคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18คณะ เพื่อตอกย้ำถึงภารกิจงานปฏิรูปว่าจะต้องเห็นเป็นรูปเป็นร่างภายใน 3 เดือน ก่อนที่พิมพ์เขียวร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สปช.
ในส่วนของแม่น้ำสายสปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนัก เพราะมีร่างฉบับ “พิมพ์ชมพู”ของนายบวรศักดิ์เป็นโมเดลอยู่ น่าจะเสร็จทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เพราะไม่มีปัจจัยใดจะทำให้สะดุด ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่“บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”สำทับออกมาว่า หากดูแล้วจะไม่ทันก็จะมีการประชุมตั้งแต่เข้ายันดึกไม่เว้นแม้แต่ เสาร์-อาทิตย์ ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า ไม่มีน่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนนี้จึงเบาใจไปได้เยอะ
แต่ปมที่น่าเป็นห่วง คือ การเดินหน้าถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ทั้งจากคดีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.โดยมิชอบ และคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปล่อยปละละเลยจนก่อให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเดิมมีกระแสข่าวว่าฝ่ายขั้วอำนาจในปัจจุบัน “3 ป”แห่งบูรพาพยัคฆ์ ไม่อยากให้ประเด็นนี้สร้างแรงกระเพื่อมต่อการเดินตามโรดแม็ปคสช. และการบริหารงานของรัฐบาล จึงส่งสัญญาณไปยังกลุ่มเครือข่ายสนช.สายข้าราชการประจำและสายอดีตนายทหารในทีม “โหวตโน”หรือ“โนโหวต”ก็ได้ ซึ่งตรงจุดนี้จะทำให้เสียงถอดถอนที่จะต้องใช้อย่างน้อย 132 เสียง น่าจะไม่ถึง
แต่พลันที่หินก้อนนี้ถูกโยนออกมาถามทาง ปรากฏให้เกิดแรงเสียดทานจากกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายที่ช่วยกันโค่นล้มอำนาจรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมากดดันด้วยวาทะกรรม“ห้ามปรองดองกันคนโกง” ภายใต้การกำกับของ“อดีต 2 ผู้ยิ่งใหญ่” ที่ยังกุมเครือข่ายคนในกองทัพและมหาดไทยเอาไว้ได้เหนียวแน่น มีการเดินเกมทางลึกล็อบบี้“ต้องถอดถอนทั้ง 3 คนให้ได้”
สุดท้ายกลุ่มอำนาจ“3 ป” ก็ทนแรงเสียดทานไม่ได้ จึงได้เห็นสัญญาณจาก “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ผ่านน้ำเสียงเข้มๆ ท่าทางขึงขังว่า “ทุกอย่างต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ผิดคือผิด ไม่ต้องมาพูดถึงการนิรโทษกรรม”
นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า “บิ๊กตู่”จะวางใจ เนื่องจากมีกระบองกฎอัยการศึกอยู่ในมือ เอาไว้กำราบมวลชนของขั้วอำนาจเดิมที่จะออกแอ็กชั่นมา เพราะรู้ดีว่าถึงแม้วันนี้คลื่นใต้น้ำหน่วยงานใต้ดินยังคงนิ่งเงียบ แต่ก็เป็นการนิ่งเพื่อรอเวลาและพร้อมระเบิดออกมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งแน่นอนว่าผลการโหวตถอดถอนที่ออกมานี้ คือหัวเชื้อบ่มเพาะเร่งอาการสุกงอมของสถานการณ์ยิ่งขึ้นไปอีก
และจากผลคดีถอดถอน“ยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์-นิคม” จะเป็นการนำร่องไปสู่เกมการถอดถอนกลุ่มเครือข่ายนักการเมืองขั้วอำนาจเดิมยกแผง ซึ่งคดีถอดถอน 38 ส.ว. ประเด็นการแก้ไขที่มาส.ว. โดยมิชอบ ซึ่งทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ป้อนเข้ามาให้สนช.สอยอีก 1 คดี ซึ่งคาดว่า การลงมติถอดถอนจะอยู่ในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ และจะตามมาด้วยคดีถอดถอนกลุ่มอดีตส.ส.อีกกว่า 300 คน ตามยุทธศาสตร์“ล้างน้ำสาม” หลังจากสอยกลุ่มบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 ไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่เป็นผล ไม่อาจหยุดยั้งการเดินเข้าสู่อำนาจของคนในเครือข่าย“ทักษิณ”ได้
คดีเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาล“บิ๊กตู่”ก็ไม่ไว้วางใจ สั่งกำชับให้หน่วยงานความมั่นคงเฝ้าจับตาสถานการณ์ไม่วางตา แต่แน่นอนว่าวันนี้การเคลื่อนไหวยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดเท่าไหร่นัก แต่ในทางลึกเมื่อเครือข่ายการเมืองถูกทะลายห้างลงทุกระดับชั้น การเดินเกมใต้ดินย่อมมีแน่ เพราะไม่มีใครยอมแน่ที่จะถูกไล่ต้อนเอาฝ่ายเดียว แต่หลังฉากจะมีการตั้งโต๊ะเจรจาและรับปากรับคำกันมาตลอดก็ตาม
เกมอำนาจ… ไม่มีใครไว้ใจใครได้ เมื่อลูกไหลมาเข้าทางข้อตกลงที่เคยรับปากกันไว้ ก็อาจถูกเบี้ยวได้เสมอ และนี่ยังเป็นเพียงแค่การมองหน้าเดียวต่อกลุ่มตรงข้าม แต่ที่“บิ๊กตู่”และขั้วอำนาจ“3 ป” กังวลที่สุดก็คือ “เครือข่ายที่เสมือนเป็นพวกเดียวกัน” วันนี้เริ่มแสดงอาการอึดอัดขัดใจกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะปมร้อนที่รอวันปะทุ “ยางพารา-ปาล์ม-พลังงาน” ถือเป็นโจทย์ใหญ่ให้รอแก้อยู่ข้างหน้า
ประกอบกับรัฐบาลยังมีภาระต้องบริหารประเทศ ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มปักหัวดิ่ง ตามราคาน้ำมันโลกที่ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิกฤติความขัดแย้งระหว่าง “สหรัฐ-ยุโรป”ที่จับมือกันเล่นงานรัสเซีย ทำให้รัสเซียต้องกันมาผนึกกำลังกับจีนตอบโต้ ซึ่งนี่จะยิ่งเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นในช่วงนี้เราจึงเห็นสารพัดโปรเจกต์ที่รัฐบาลจะผุดขึ้นมาไม่เว้นแต่ละอาทิตย์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งจะไปกระตุ้นภาคเศรษฐกิจอีกต่อหนึ่ง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดนอกเหนือจากปัจจัยภายนอกดังกล่าวแล้ว ปัจจัยภายในอัน “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” ทั้งปัญหาการขบเหลี่ยมกันภายใน กระแสข่าวที่สะพัดเรื่องการชักเปอร์เซ็นต์จากโครงการต่างๆ รวมไปถึงทีมเศรษฐกิจที่วันนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามือยังไม่ถึงขั้น
หาก“บิ๊กตู่”ยังไม่สามารถควบคุมสายการผลิตที่มีคุณภาพได้ ก็เท่ากับเดินหน้าเข้าหา“หลักประหาร” แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะสามารถคุมสถานการณ์ได้ดี แต่จากนี้ไปนี่คือ “ของจริง”!!!