นักโบราณคดีได้ค้นพบภาพวาดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกบนผนังถ้ำ ในอินโดนีเซีย เป็นภาพวาดหมูป่าเท่าขนาดจริง ที่วาดขึ้นเมื่อ 45,500 ปีก่อน
รายงานการค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารไซเอ็นซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) เมื่อวันพุธ (13 ม.ค.) แสดงหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคนี้
แม็กซิม ออเบิร์ต จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ในออสเตรเลีย ผู้ร่วมเขียนรายงานนี้กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ภาพวาดนี้ถูกค้นพบบนเกาะสุลาเวสีในปี 2017 โดยนายบาสราน บูร์ฮัน นักศึกษาปริญญาเอก ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจที่ทีมทำร่วมกับทางการอินโดนีเซีย
ถ้ำ Leang Tedongnge ที่พบภาพวาดตั้งอยู่ในหุบเขาห่างไกลที่ล้อมรอบด้วยหน้าผาหินปูนสูงชัน ใช้เวลาเดินเท้าประมาณหนึ่งชั่วโมงจากถนนที่ใกล้ที่สุด เข้าถึงได้เฉพาะในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากมีน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน
มีรอยมือสองข้างอยู่เหนือขาหมูตัวนี้ซึ่งดูเหมือนว่าจะหันหน้าไปทางหมูอีกสองตัวที่เหลืออยู่เพียงบางส่วน
“ เจ้าหมูตัวนี้ดูเหมือนจะสังเกตเห็นการต่อสู้หรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างหมูตัวอื่น ๆ อีกสองตัว” อดัม บรัมม์ ผู้เขียนร่วมกล่าว
การอพยพของมนุษย์ในยุคแรก ๆ
มนุษย์ได้ล่าสุกรพันธุ์ดุของสุลาเวสีมาเป็นเวลาหลายหมื่นปีแล้ว และเป็นลักษณะสำคัญของงานศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้โดยเฉพาะในช่วงยุคน้ำแข็ง
ออเบิร์ตระบุว่า เมื่อนำแร่แคลไซต์ที่ก่อตัวขึ้นด้านบนของภาพวาดหมูป่าไปผ่านกระบวนการกำหนดอายุโดยไอโซโทปยูเรเนียม ทำให้มั่นใจว่าภาพดังกล่าวมีอายุไม่ต่ำกว่า 45,500 ปี
นี่คืออายุอย่างน้อยที่สุดของภาพวาดนี้ “แต่มันอาจจะเก่ากว่ามาก เพราะกระบวนการกำหนดอายุดังกล่าวเราเอาแคลไซด์ที่อยู่ด้านบนมาเท่านั้น” เขาอธิบาย
ภาพวาดศิลปะบนหินที่เก่าแก่ที่สุดก่อนหน้านี้ถูกพบโดยทีมเดียวกันในสุลาเวสี เป็นภาพของมนุษย์ครึ่งคนครึ่งสัตว์ที่กำลังล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพบว่ามีอายุอย่างน้อย 43,900 ปี
ภาพวาดถ้ำเช่นนี้ยังช่วยเติมเต็มช่องว่างเกี่ยวกับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการอพยพของมนุษย์ในยุคแรก
เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้คนมาถึงออสเตรเลียเมื่อ 65,000 ปีก่อน แต่พวกเขาอาจต้องข้ามเกาะของอินโดนีเซียที่เรียกว่า“ วอลเลเซีย” (Wallacea)
ปัจจุบันสถานที่นี้แสดงถึงหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ในวอลเลเซีย แต่หวังกันว่าการวิจัยเพิ่มเติมจะช่วยเผยให้เห็นถึงผู้คนที่อยู่ในภูมิภาคนี้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยแก้ปริศนาการตั้งถิ่นฐานของออสเตรเลียได้
ทีมงานเชื่อว่างานศิลปะนี้สร้างขึ้นโดยมนุษย์สายพันธ์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) เมื่อเทียบกับสายพันธุ์มนุษย์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเช่นเดนิโซแวน (Denisovans)แต่ก็ยังไม่สามารถพูดได้อย่างแน่นอน
ในการสร้างลายนิ้วมือบนผนังหิน ศิลปินจะต้องวางมือบนพื้นผิว จากนั้นพ่นเม็ดสีทับลงไป และทีมงานหวังว่าจะพยายามดึงตัวอย่างดีเอ็นเอจากน้ำลายที่ตกค้างออกมาได้
SOURCE : AFP, Al-Jazeera