ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษประธานาธิบดี บันทึกข้อตกลง และคำสั่งอื่นๆ เพื่อที่จะรื้อบางนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกสิ่งที่เรียกว่า “ การแบนชาวมุสลิม” การเข้าร่วมข้อตกลงสภาพอากาศของปารีสอีกครั้ง และยุติกระบวนการถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (20 ม.ค.) ที่ผ่านมา ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร 15 รายการ ที่ทีมของเขากล่าวก่อนหน้านี้ว่ามีเป้าหมายเพื่อ “แก้ไขความเสียหายที่ร้ายแรงของรัฐบาลทรัมป์”
ไบเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ว่า“ ไม่มีเวลาให้เสียอีกแล้ว”
“ การดำเนินการบางอย่างของคำสั่งประธานาธิบดีที่ผมกำลังจะลงนามในวันนี้ จะช่วยเปลี่ยนเส้นทางของวิกฤตโควิด เราจะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแบบที่เรายังไม่เคยทำมาก่อน และพัฒนาความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติและสนับสนุนชุมชนด้อยโอกาสอื่นๆ” เขากล่าวตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ความท้าทายแรกที่ยิ่งใหญ่ของไบเดนเมื่อย่างก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวคือการรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งจนถึงปัจจุบันคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 400,000 คนทั่วสหรัฐฯ ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งเมื่อบ่ายวันพุธให้จัดตั้งหน่วยงาน “100 Days Masking Challenge” โดยสั่งให้มีการบังคับใช้หน้ากากอนามัยในอาคารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯทั้งหมดในช่วง 100 วันแรกของการบริหารงานเพื่อพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด และแต่งตั้งผู้ประสานงานโควิดเพื่อจัดการรับมือกับการระบาดของโรค
ไบเดนยังได้ยกเลิกสิ่งที่เรียกว่า “คำสั่งแบนชาวมุสลิม” ซึ่งเป็นคำสั่งของรัฐบาลทรัมป์ลงนามเมื่อปี 2560 ที่ห้ามนักท่องเที่ยวจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ
“ ประธานาธิบดียุติการแบนชาวมุสลิม ซึ่งเป็นนโยบายที่มีรากฐานมาจากความเกลียดชังทางศาสนาและโรคกลัวชาวต่างชาติ” เลขาธิการสำนักข่าวทำเนียบขาวของไบเดน กล่าวในระหว่างการบรรยายสรุปเมื่อเย็นวันพุธ
สภาความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม ยินดีกับการตัดสินใจนี้ในฐานะ “ก้าวแรกที่สำคัญในการยกเลิกนโยบายต่อต้านมุสลิมและต่อต้านผู้อพยพของรัฐบาลชุดก่อน”
“ ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญของคำมั่นสัญญาในการรณรงค์ต่อชุมชนมุสลิมและพันธมิตร” นิฮาด อาวัดผู้อำนวยการองค์กรนี้กล่าวในแถลงการณ์
นอกจากนี้ยังมีการรื้อคำสั่งอื่นๆ ของทรัมป์ เช่น หยุดการก่อสร้างกำแพงชายแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก, หยุดโครงการท่อส่งน้ำมัน 830,000 บาร์เรลต่อวัน ระหว่างจังหวัดอัลเบอร์ตาของแคนาดาและรัฐเนแบรสกาของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโครงการพลังงานที่ยังมีถกเถียง เป็นต้น
Source: Al-jazeera