สหรัฐฯ ถอนเรือรบออกจากอ่าวเปอร์เซีย ส่งสัญญาณลดความตึงเครียดกับอิหร่าน

[File: US Navy via AFP]

รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ถอนเรือบรรทุกเครื่องบินออกจากอ่าวเปอร์เซีย เพื่อเป็นลดความตึงเครียดกับอิหร่านซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อัลจาซีรารายงาน

จอห์น เคอร์บี้ โฆษกเพนตากอนกล่าวในวันอังคาร (2 ก.พ.) ว่า กองเรือจู่โจม ยูเอสเอส นิมิตซ์ ได้เดินทางออกจากหน่วยบัญชาการกลางของกองทัพสหรัฐในตะวันออกกลางมุ่งหน้าไปยังหน่วยบัญชาการภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

เคอร์บีไม่ได้ยืนยันรายงานที่ระบุ นิมิตซ์กำลังเดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกาหลังจากออกทะเลไปนานเก้าเดือน

แต่เขาระบุว่า หลังจากที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์เพิ่มจำนวนกองทัพสหรัฐฯในอ่าวเปอร์เซีย ฝ่ายบริหารของไบเดนไม่เห็นว่าการมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินอยู่ที่นั่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความต้องการด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ

เคอร์บีปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการประเมินในปัจจุบันของเพนตากอน เรื่องภัยคุกคามทางทหารของอิหร่านที่อาจเกิดขึ้นต่อฐานทัพสหรัฐฯ หรือพันธมิตรอ่าว

อย่างไรก็ตามเคอร์บีกล่าวเสริมว่า ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม “เชื่อว่าเรามีสถานะที่แข็งแกร่งในตะวันออกกลางที่จะตอบสนอง” ต่อภัยคุกคามใดๆ

อิหร่านฝึกซ้อมทางทหารและเกมสงครามในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างเตหะรานกับวอชิงตันและพันธมิตรในภูมิภาคโดยเฉพาะอิสราเอล เมื่อเดือนที่แล้วเตหะรานได้ฝึกซ้อมทางทหารครั้งที่ 5 ในรอบสองสัปดาห์ ขณะที่สหรัฐฯก็ทำการบินเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ที่สามารถยิงนิวเคลียร์ได้ในตะวันออกกลาง

อิหร่านได้เพิ่มกิจกรรมนิวเคลียร์ของตนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการแสดงความกังวลจาก แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนใหม่ เขาบอกกับ เอ็นบีซีนิวส์ เมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) ว่าเตหะรานอาจใช้เวลาอีกไม่กี่เดือนในการครอบครองวัตถุดิบที่เพียงพอสำหรับสร้างระเบิดนิวเคลียร์

แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน จาวาด ซารีฟ ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยกล่าวว่าเตหะรานไม่ได้แสวงหาอาวุธนิวเคลียร์

ฝ่ายบริหารของไบเดนได้แสดงความสนใจที่จะรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 กับอิหร่าน ซึ่งทรัมป์นำสหรัฐถอนตัวออกมาฝ่ายเดียวและซ้ำตามด้วยมาตรการคว่ำบาตร

อิหร่านได้เรียกร้องให้วอชิงตันยกเลิกการคว่ำบาตรก่อนที่การเจรจาจะดำเนินต่อไปได้

ฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน กล่าวจากกรุงเตหะรานเมื่อวันพุธ (3 ก.พ.) ว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีเพียงผู้ลงนามดั้งเดิมในข้อตกลงเท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการเจรจาใดๆ

“ หากพวกเขา [สหรัฐฯ] ต้องการก็สามารถเข้าร่วมได้ หากพวกเขาไม่ต้องการพวกเขาก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตของตัวเองได้แล้ว เราจะไปทำธุระของเรา” รูฮานีกล่าว

ขณะเดียวกันอิสราเอลก็คัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์นี้หัวชนฝา เมื่อเดือนที่แล้วนายพลระดับสูงของอิสราเอลเตือนว่า แผนการที่จะโจมตีต่ออิหร่านกำลังได้รับการแก้ไข และกล่าวว่าการที่สหรัฐฯ กลับไปสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 กับเตหะรานนั้นจะเป็นสิ่งที่ “ผิด”