ประชาชนใน จชต. ดีใจ ศอ.บต. จัดกิจกรรมตรวจ DNA ช่วยยืนยันการมีตัวตนในทะเบียนราษฎร หลายครอบครัวซาบซึ้งลูกจะได้รับบัตรประชาชนและมีสิทธิ์เข้าเรียน
23 มีนาคม 2564 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จัดกิจกรรมตรวจสารพันธุกรรม DNA บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่อง ในโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาทางทะเบียนราษฎร เพื่อแก้ไขปัญหาคนด้อยโอกาสและขาดโอกาสทางสังคม ตลอดจนให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สัญชาติในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียให้มีบัตรประจำตัวประชาชนผ่านการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมความสัมพันธ์ทางสายโลหิต
โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายธวัชชัย นามสุมทร ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กรมการปกครอง) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมฯ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ผู้บริหาร ศอ.บต. ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธีฯ ซึ่งมีประชาชนเข้ารับบริการกว่า 250 คน
นายธวัชชัย นามสุมทร กล่าวตอนหนึ่งว่า นโยบายหรือโครงการใดก็ตามที่รัฐบาล และ ศอ.บต. ดำเนินการขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาที่ทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนเดือดร้อน เพื่อให้คนไทยเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพและบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมต่อไป
ด้านแพทย์หญิงปรียาพรรณ เพชรปราณี หัวหน้ากลุ่มนิติเวชคลินิก กองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เปิดเผยถึงขึ้นตอนการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมความสัมพันธ์ทางสายโลหิตในครั้งนี้ว่า มี 4 ขึ้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนจะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ผลที่ออกมาได้อย่างสบบูรณ์ดังนี้ ขั้นตอนแรกจะต้องลงทะเบียนและซักประวัติผู้ที่ตกหล่นและบุคคล ที่อ้างอิงหรือญาติของผู้ที่มาใช้บริการให้ครบถ้วน และเข้าสู่ขั้นตอนของการพิมพ์หลายนิ้วมือ โดยขั้นตอนนี้เพื่อเก็บลายนิ้วมือไปใช้เป็นทะเบียนราษฎรเท่านั้นว่าตรงตามที่ลงทะเบียนไว้หรือไม่ จากนั้นจะถ่ายภาพเพื่อให้รู้ว่าบุคคลที่มาใช้บริการในครั้งนี้ มีลักษณะอย่างไร จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการเก็บ DNA โดยปกติทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะเก็บจากเยื่อบุบริเวณกระพุ้งแก้ม เนื่องจากตอนนี้อยู่ในช่วงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว ในเรื่องของความสะอาดนั้นทางสถาบันฯ ได้กระหนักถึงเป็นรายบุคคลเพื่อให้ทุกคนที่ได้มาใช้บริการได้รับความปลอดภัย หลังจากได้ผ่านทุกขั้นตอนแล้ว จะนำหลักฐานที่ได้รับมาทั้งหมดเข้าสู่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อมาเทียบว่าบุคคลอ้างอิงมาทั้งหมดนั้นมีความสัมพันธ์กับคนที่ตกหล่นอย่างไรบ้าง ถ้ามีความสัมพันธ์จริงถือว่าบุคคลดังกล่าวมีสัญญาติไทย
ด้าน น.ส. อุทัยวรรณ สะรุณี ชาวบ้านจากอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ได้กล่าวความรู้สึกถึงการได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า รู้สึกดีใจมากและลูกก็จะได้ภูมิใจที่พ่อของตนเองเป็นคนไทยแบบถูกต้องตามกฎหมาย ที่ผ่านมาอยู่กันแบบลำบากโดยเฉพาะเวลาที่ไปโรงพยาบาล เพราะแฟนของตนไม่มีบัตรประชาชน และต้องจ่ายเงินค่ารักษาจำนวนมากในแต่ละครั้ง
เช่นเดียวกันกับ น.ส. อาบียะ เจ๊ะเมาะ ชาวบ้านจากอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงการรับบริการในครั้งนี้ด้วยว่า เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมากเพราะวันนี้ลูกชายคนสุดท้องจะมีบัตรประชาชน เพราะคลอดลูกชายคนนี้ที่ประเทศมาเลเซีย จึงไม่ได้แจ้งเกิดจนถึงวันนี้ ที่ผ่านมาลูกชายโดนเพื่อนๆ ล้อตลอดเวลาว่าเป็นคนต่างด้าว เสียใจที่ลูกชายโดนล้อแบบนี้ พอมาวันนี้โอกาสที่ลูกชายจะได้เป็นคนไทยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว รู้สึกดีใจและขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้โอกาส
โครงการตรวจสารพันธุกรรม DNA ได้เริ่มต้นขึ้นเพื่อกำเนิดชีวิตใหม่แก่พี่น้องที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรมาตั้งแต่ปี 2560 เนื่องด้วยความห่วงใยของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยพี่น้องในพื้นที่ ทั้งนี้ ยอดรวมระหว่างปี 2560-2564 มีพี่น้องใน 5 จังหวัด มายื่นขอความเป็นตัวตนทั้งสิ้น 1,220 คน ปัจจุบันมีผู้ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว 518 คน ซึ่งภายหลังจากได้รับบัตรแล้ว หากมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเรื่องอาชีพและความเป็นอยู่ก็จะดำเนินการดูแลในขั้นต่อไป ตามนโยบายเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในปีนี้คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาคนไทยไร้สัญชาติได้ให้เหลือน้อยที่สุด จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานในพื้นที่
ทั้งนี้ ในปี 2564 ศอ.บต. ได้ตั้งเป้าหมายการเก็บตัวอย่างและตรวจสารพันธุกรรมบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไร้สัญชาติในประเทศ จำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ในวันที่ 23 มีนาคม 2564 ณ ศอ.บต. อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีผู้เข้าร่วมตรวจสารพันธุกรรม จำนวน 250 คน จากจังหวัดยะลา สงขลา และสตูล ครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส มีผู้เข้าร่วมตรวจสารพันธุกรรม จำนวน 200 คน จากจังหวัดนราธิวาส และครั้งที่ 3 ในวันที่ 25 มีนาคม 2564 ณ สนามกีฬากลางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี มีผู้เข้าร่วมตรวจสารพันธุกรรม จำนวน 200 คน จากจังหวัดปัตตานี เพื่อเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านและออกบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้บุคคลดังกล่าวได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนวยความยุติธรรม