การประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินงานทางการเมืองในระบบรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มการเมืองมุสลิมได้มอบหมายให้ นายเด่น โต๊ะมีนา ออกหนังสือเชิญชวนบุคคลตามเป้าหมายมาร่วมปรึกษาหารือเพื่อกำหนดนโยบายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสต่อไป
นายเด่น โต๊ะมีนา ได้ออกหนังสือเชิญนักการเมืองมุสลิม ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น และผู้สนใจ เข้าร่วมประชุมหารือ ตามหนังสือเชิญลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 โดยในเนื้อหาหนังสือเชิญประชุม นายเด่นฯได้อ้างว่า จากประสบการณ์ที่ตนเองได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมา 3 สมัย รู้สึกตระหนักดีว่า การปฏิบัติหน้าที่เป็นปากเสียงแทนประชาชนเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถกระทำได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องของศาสนา เพราะขาดการร่วมมือจากเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นมุสลิมด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหล่านั้นอยู่กันคนละพรรคการเมือง มักยึดติดกับผลประโยชน์ของพรรคมากกว่าส่วนรวม ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพที่จะทำอะไรในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับศาสนาได้ หากบทบาทของนักการเมืองระดับชาติอยู่ในสภาพเช่นนี้แล้ว ประชาชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น นายเด่นฯ จึงขอเรียนเชิญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และผู้สนใจ เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือในวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2529 เวลา 14.00 น. ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
ในวันประชุมตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น มีผู้เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือจาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ สตูล จำนวน 45 คน และในที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องต้องกันด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้งกลุ่มการเมืองขึ้น โดยให้นายเด่นฯทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มชั่วคราว และได้ข้อสรุปในที่ประชุมดังนี้
ข้อ 1. ให้เลือกคณะทำงานเพื่อดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป จังหวัดละ 3 คน ได้แก่ จังหวัดปัตตานี มี นายเด่น โต๊ะมีนา นายสุดิน ภูยุทธานนท์ นายมุข สุไลมาน จังหวัดนราธิวาส มี นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ นายสามารถ (นายฟัครุดดิน) บอตอ จังหวัดยะลา มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายอุสมาน อุเซ็ง นายอับดุลรอแม หะยีมิง จังหวัดสตูล มี นายจิรายุส เนาวเกตุ นายฮัจยีสะอาด กะดะ นายเก็ม หมีดหรน โดยคณะทำงานแต่ละจังหวัดมีภาระกิจ ทำร่าง “ข้อเสนอ” ต่อพรรคการเมืองที่ทางกลุ่มจะเข้าไปสังกัดให้เสร็จภายในวันที่ 28 มีนาคม 2529 และในการร่างข้อเสนอนี้ให้เชิญบุคคลที่มีคุณวุฒิทางศาสนาอิสลามจำนวน 2-3 คน มาประชุมร่วมพิจารณาให้ความเห็นประกอบด้วย
ข้อ 2. กำหนดวันประชุมครั้งต่อไปในวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2529 ณ ร้านอาหารไทย-มาเลเซีย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยให้คณะทำงานแต่ละจังหวัดนำที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาอิสลามไปร่วมปรึกษาหารือด้วย เมื่อได้ข้อสรุปของ “ข้อเสนอ” เสร็จแล้วให้คณะทำงานเป็นผู้กำหนดวันประชุมใหญ่ที่จังหวัดปัตตานี และพิจารณาบุคคลที่ควรเชิญเข้าประชุมใหญ่เพิ่มขึ้นให้มากกว่าเดิม และในการประชุมใหญ่ครั้งต่อไปนี้ ให้มีหนังสือเชิญโดยกำหนดระเบียบวาระการประชุม
1. พิจารณารับรอง “ข้อเสนอ” ที่คณะทำงาน 4 จังหวัดเสนอ
2. พิจารณาเลือกตั้งคณะกรรมการกลางของกลุ่ม
3. พิจารณาเลือกตั้งคณะกรรมการของกลุ่มแต่ละจังหวัด
4. พิจารณาตั้งชื่อกลุ่ม
5. พิจารณากำหนดพรรคการเมืองที่กลุ่มจะไปต่อรองข้อเสนอของกลุ่มเพื่อจะเข้าไปสังกัด(ให้คณะทำงานเตรียมนโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรคไปด้วย)
ซึ่งในการพิจารณาพรรคการเมืองนั้น ตัวแทนจากจังหวัดสตูลที่เข้าร่วมประชุมจำนวน 15 คน ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่ารับฟังให้ในที่ประชุมเอาไปคิดเป็นการบ้าน 7 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของกลุ่ม คือ
1. มีความเข้าในเรื่องศาสนาอิสลามและมุสลิมพอสมควร
2. มีความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค และยึดมั่นในการปกครองตามประชาธิปไตย
3. มีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงแก่ผู้สมัคร( ไม่ใช่ด้านการเงินอย่างเดียว )
4. มีนโยบายเด่นชัดเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของสังคมมุสลิม
5. มีความบริสุทธิ์ใจ และจริงใจต่อปัญหาของชาวมุสลิมในประเทศไทย
6. มีโอกาสเป็นรัฐบาล หรือร่วมจัดตั้งรัฐบาล
7. เป็นพรรคที่ประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยอมรับได้
ตามข้อสังเกต 7 ข้อ จากตัวแทนจังหวัดสตูลนี้ คงได้ประมวลจากบทเรียนของชาวจังหวัดสตูลได้รับมาสดๆร้อนๆจากกรณีการประท้วงนโยบายการนำพระพุทธรูปไปจัดตั้งในโรงเรียนควนโดนของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(นายสัมพันธ์ ทองสมัคร)พรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง
ข้อ 3. เมื่อตกลงกับพรรคการเมืองใดเป็นที่แน่นอนแล้ว ให้กรรมการกลางของกลุ่มไปเผยแพร่แนวความคิดหรืออุดมการณ์ของกลุ่มไปยังจังหวัดต่างๆในภาคใต้ตอนบน เพื่อหาแนวร่วมผู้สนับสนุนและเฟ้นหาตัวผู้สมัครของกลุ่มในจังหวัดต่างๆเหล่านั้นด้วย
ข้อ 4. ให้คณะกรรมการกลุ่มประจำจังหวัดเร่งดำเนินการเผยแพร่แนวความคิดและอุดมการณ์ของกลุ่มในหมู่ประชาชนทุกระดับชั้นในจังหวัดของตน และพิจารณาเลือกเฟ้นตัวบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามของกลุ่ม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกลางของกลุ่มพิจารณาเสนอรายชื่อผู้สมัครในแต่ละจังหวัดไปยังพรรคการเมืองที่กลุ่มเข้าไปสังกัด และการเข้าไปสังกัดพรรคการเมืองตามมติเสียงเสียงส่วนใหญ่ของในที่ประชุมใหญ่ของกลุ่ม หากพรรคการเมืองนั้น ไม่ปฏิบัติตาม “ข้อเสนอ” ที่ได้ตกลงกันไว้ กลุ่มพร้อมที่จะถอนตัวออกจากพรรคการเมืองนั้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ภายหลังจากแต่งตั้งคณะทำงานของแต่ละจังหวัดๆละ 3 คน รวมเป็น 12 คนแล้ว เบื้องต้นคณะทำงานแต่ละจังหวัดได้ได้ร่างข้อกำหนดของวัตถุประสงค์ในการตั้งกลุ่มการเมืองมุสลิมและประชุมหารือที่ร้านอาหารมุสลิม ไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2529 ได้สรุปวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่ม ดังนี้
1. เพื่อความเป็นเอกภาพของพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย
2.เพื่อพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศไทย
3. เพื่อพัฒนาสังคมมุสลิมในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา
4. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกทางการเมืองในแนวทางที่ถูกต้อง
5. เพื่อเผยแพร่ “ ระบอบอิสลาม “ ให้พี่น้องร่วมชาติได้เข้าใจอย่างถูกต้อง
6. เพื่อร่วมพัฒนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และคณะทำงานทั้ง 4 จังหวัด ได้กำหนดนัดการประชุมครั้งต่อไปในวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2529 ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
การประชุมในวันที่ 3 พฤษภาคม 2529 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 110 คน เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 11.00 น. ปิดการประชุม เวลา 19.30 น. นับว่าเป็นการประชุมที่ใช้เวลานานเป็นพิเศษ ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนมีความตั้งอกตั้งใจมีการแสดงออกความเห็นและอภิปรายอย่างเปิดกว้างในระเบียบวาระ การตั้งชื่อกลุ่ม การแต่งตั้งคณะกรรมการกลางของกลุ่ม การพิจารณาพรรคการเมืองที่ทางกลุ่มจะเข้าไปสังกัด และนโยบายของกลุ่มที่จะเสนอต่อพรรคการเมือง
การพิจารณาชื่อกลุ่ม สมาชิกในที่ประชุมได้เสนอตั้งชื่อหลายชื่อ ได้แก่ 1. กลุ่มอันซอรีมุสลิม 2. กลุ่มมุสลิมอินซอฟ 3. กลุ่มสันติธรรม 4. กลุ่มมุสลิมก้าวหน้า 5. กลุ่มเอกภาพมุสลิม 6. กลุ่มเอกภาพ(ผู้เขียนเป็นผู้เสนอ) ผลมติในที่ประชุมเสียงข้างมากเลือกชื่อ “กลุ่มเอกภาพ” เป็นชื่อของกลุ่มการเมืองมุสลิม
การพิจารณาคณะกรรมการกลางกลุ่ม “เอกภาพ” ในที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการกลางฯมีจำนวนไม่น้อยกว่า 21 คน ไม่เกิน 35 คน กำหนดอยู่ในวาระคราวละ 3 ปี กำหนดจำนวนแต่ละจังหวัด ปัตตานี 9 คน นราธิวาส 9 คน ยะลา 9 คน และ สตูล 8 คน
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการกลางฯมีดังนี้
จังหวัดปัตตานี นายอับดุลวาฮับ อับดุลวาฮับ(ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี) นายอดุลย์ อาลี สมาชิกสภาจังหวัดปัตตานี เขตอำเภอมายอ นายนิมุกตา วาบา อุสตัสอับดุเลาะ พ่อมิ่ง อุสตัสอาห์มัด ลือโฆะ กรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี อุสตัสอุสมาน สุดิน นายสุดิน ภูยุทธานนท์ นายมุข สุไลมาน นายเด่น โต๊ะมีนา
จังหวัดนราธิวาส นายเสนีย์ มะดากะกุล นายอิสมาแอ อาลี นายปริญญา เจตาภิวัฒน์ นายอนันต์ ไทยสนิท นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายสามารถ บอตอ นายซาการียา นิมิง นายประดิษฐ์ สติรักษ์ ประธานสภาจังหวัดนราธิวาส นายอับดุลเราะมาน อับดุลสมัด
จังหวัดยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายอุสมาน อุเซ็ง นายอับดุลรอแม หะยีมิง นายอุสมาน ยูโซะ นายอดินันท์ หะซะนี ดร.หะยีฮารน สุหลง กำนันนาแว การียอ นายประเสริฐ เจะเอาะ นายซาฟีอี ยูโสฟ
จังหวัดสตูล นายฮัจยีสะอาด กะดะ อดีตดะโต๊ะยุติธรรมศาลจังหวัดสตูล นายจิรายุส เนาวเกตุ นายสมัน ลำสา นายสน สาอีด นายวินัย นาทิพยเวชย์ นายใบหยน โคกทราย นายสำสูเด็น มนูญดาหวี นายเก็ม หมีดหรน
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์