อธิบดี พช. นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ น้อมถวายความอาลัย พระราชญาณมงคล “เจ้าคุณเสน่ห์” มหาเถรรามัญแห่งลุ่มเจ้าพระยา

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ พระราชญาณมงคล (เสน่ห์ ปภงฺกโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร และอดีตเจ้าคณะตำบลเกาะเกร็ด อธิบดี พช. นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ น้อมถวายความอาลัย พระราชญาณมงคล “เจ้าคุณเสน่ห์” มหาเถรรามัญแห่งลุ่มเจ้าพระยา

วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ พระราชญาณมงคล (เสน่ห์ ปภงฺกโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร และอดีตเจ้าคณะตำบลเกาะเกร็ด โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน และศิษยานุศิษย์ ร่วมพิธีฯ ในการนี้ พระสงฆ์ 10 รูป ถวายพรพระ รับพระราชทานฉันและบังสุกุล ณ ศาลาการเปรียญวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ พระราชญาณมงคล (เสน่ห์ ปภงฺกโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร และอดีตเจ้าคณะตำบลเกาะเกร็ด เป็นเวลา 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ถึง 2 เมษายน 2564 และทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน

ด้วย พระราชญาณมงคล (เสน่ห์ ปภงฺกโร) ได้มีอาการอาพาธ ปวดท้องเฉียบพลัน เมื่อรุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564 คณะศิษย์ได้อาราธนาท่านส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนนทเวช อ.เมือง จ.นนทบุรี คณะแพทย์ได้พยายามรักษาอาการและกู้สถานการณ์ของท่านเป็นการด่วน แต่ด้วยอาการของท่านเข้าสู่ภาวะวิกฤต และได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา 12.45 น. วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564 ด้วยภาวะหลอดเลือดสำคัญที่หน้าท้องโป่งพองและปริแตก เป็นเหตุให้ความดันโลหิตตกและถึงแก่มรณภาพ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของศิษยานุศิษย์ สิริอายุเข้าสู่ปีที่ 71 พรรษา 50

สำหรับประวัติพระราชญาณมงคล (เสน่ห์ ปภงฺกโร) มีนามเดิมว่า เสน่ห์ นามสกุล แดงเฟื่อง เกิดเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2493 บ้านเลขที่ 28 ม.6 ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นบุตรของนายฉ่ำ และนางสนั่น แดงเฟื่อง เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 4 เข้าพิธีบรรพชา เมื่ออายุ 12 ปี ที่วัดใหญ่สว่าง อารมณ์ ต.อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี วันที่ 4 ก.ค. 2505 โดยมีพระนันทวิริยาจารย์ (กุหลาบ ธัมมวิริโย) เจ้าคณะอำเภอปากเกร็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2513 ที่วัดเสาธงทอง ต.อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมีพระไตรสรณธัช (มาลัย ปุปผทาโม) วัดปรมัยยิกาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์,พระใบฎีกาจำปี วัดโปรดเกษ ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูใบฎีกาพร้อม วัดเสาธงทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2527 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค เป็นนักธรรมชั้นเอก ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 เป็นพระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ที่ พระครูวิมลธรรมาภรณ์ , พ.ศ.2538 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ,พ.ศ.2541 เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ในราชทินนามเดิมและเป็นเจ้าคณะตำบลเกาะเกร็ด ,5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระสุเมธมุนี และ 5 ธันวาคม พ.ศ.2559 เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชญาณมงคล โสภณศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระราชญาณมงคล (เสน่ห์ ปภงฺกโร) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เจ้าคุณเสน่ห์” เป็นพระเกจิที่ชาวบ้านเชื้อสายไทย-มอญ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเกาะเกร็ด ให้ความศรัทธาเป็นอันมาก ตลอดระยะเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสวัด ได้จัดระเบียบการปกครองวัด พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปต้องปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ในด้านการเผยแผ่ธรรม ใช้ธรรมะกล่อมเกลาชาวบ้านให้ดำรงตนด้วยความสุจริต มิให้ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข ใช้ชีวิตอย่างสมถะและพอเพียง จนรับการยกย่องให้เป็นพระนักพัฒนาที่พึ่งของชาวบ้านมีจิตที่เปี่ยมด้วยความเมตตา อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างมุ่งมั่น

สำหรับวัดปรมัยยิกาวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งในหมู่ที่ 7 บ้านโอ่งอ่าง ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เดิมชื่อ วัดปากอ่าว มีชื่อในภาษามอญว่า “เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง” หมายความว่า วัดหัวแหลม เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดังปรากฏพระเจดีย์มุเตา ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงมอญ ปัจจุบันอยู่ติดริมแม่น้ำกระแสน้ำกัดเซาะฐาน ราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง อันเป็นสัญลักษณ์ของวัดมาแต่โบราณ ต่อมาสมัยธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่เกาะมากขึ้น วัดแห่งนี้จึงเป็นศูนย์กลางของชุมชน และสถานที่จัดงานประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญบนเกาะเกร็ดจวบจนปัจจุบัน