วันที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 08.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมี นายนิวัติ น้อยผาง นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมในพิธี ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้วางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะ และจุดธูป เทียน เครื่องทองน้อย จากนั้นนำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน ถวายบังคมเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และกล่าวคำถวายราชสดุดี พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการพระราชประวัติที่จัดแสดงเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระบรมราชคุณูปการแก่ประเทศและประชาชนเป็นล้นพ้นที่จะพรรณนาได้ เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น บ้านเมืองเริ่มเผชิญปัญหาด้านสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศในยุโรปและอเมริกาแต่ด้วยพระปรีชาญานอันสุขุมลึกซึ้ง ได้ผ่อนปรนมิให้กระทบกระเทือนทั้งผลประโยชน์ของประเทศและสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ได้ทำนุบำรุงการพาณิชย์นาวี และมิให้กระทบกระเทือนทั้งผลประโยชน์ของประเทศและสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ได้ทำนุบำรุงการพาณิชย์นาวี และมีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง รายได้หลั่งไหลเข้ามาเป็นงบประมาณบำรุงแผ่นดินเต็มที่ ข้าราชการได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือนครั้งแรก ทรงเพิ่มพูนรายได้ของประเทศด้วยการปรับปรุงระบบการเก็บภาษีอากร ทั้งภาษีอากรเก่าและใหม่ และได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามที่สร้างมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 1 ซึ่งร่วงโรยลงตามกาลเวลา สำหรับพระอารามใหม่ที่ทรงสร้าง ซึ่งมีลักษณะศิลปกรรม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีอยู่มากกว่า 30 พระอาราม ซึ่งล้วนแต่วิจิตร เป็นศรีสง่ากาพระนคร นักธรรม สอบเพื่อส่งเสริมให้มีพระเถระที่ทรงคุณวุฒิสูงประดับเป็นอาภรณ์แห่งพระบวรพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าพระศาสนารุ่งโรจน์แพร่ขยายสู่ดินแดนพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกาด้วย ทรงเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นความเจริญของบ้านเมืองและประชาชน จึงโปรดให้จารึกความรู้นานาชนิดไว้ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ทั้งวิชาวรรณคดี ตำรายา โหราศาสตร์ การช่าง ฯลฯเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาอย่างกว้างขวาง จนกล่าวกันว่าวัดโพธิ์คือมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
ในส่วนการบำรุงรักษาความมั่นคงของประเทศนั้น ทรงยึดหลักการรักษาศักดิ์ศรีของประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้น พระองค์จึงทรงทุ่มเทป้องกันข้าศึกที่แผ่อิทธิพลเข้ามาทำลายความสงบสุขภายในหัวเมืองในพระราชอาณาเขตด้วยการส่งกอง ทัพไปปราบปราม ทำให้ข้าศึกระย่อหยุดยั้งลง การศึกแม้จะยืดเยื้อเนิ่นนาน แต่ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจในรัชสมัยได้จัดระเบียบไว้อย่างเรียบร้อย จึงมิได้กระทบกระเทือนสถานภาพการเงินของประเทศ ทรงทำลายฝิ่น ซึ่งเป็นยาเสพติดร้ายแรงในสมัยนั้นให้หมดไปจากประเทศ เพื่อป้องกันพสกนิกรให้รอดพ้นจากความหายนะอันเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติ น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยแผ่นดินล้นพ้นสุดที่จะคณานับได้ พระราชทานเสรีภาพให้หมู่พระบรมราชวงศ์มุขอำมาตย์ ข้าราชการเลือกสรรอัญเชิญผู้ที่เหมาะสมสืบราชสันตติวงศ์ ทรงจัดสรรพระราชทรัพย์ส่วนสำคัญที่สุดคือส่วนที่พระราชทานไว้แก่แผ่นดิน ซึ่งเก็บรักษาไว้ในถุงแดงจำนวนหลายหมื่นชั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาเป็นค่าชดใช้แลกเปลี่ยนอธิปไตยของชาติ ในกรณีพิพาทไทยกับฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ. 112 อันเป็นวิกฤตการณ์ที่คับขันล่อแหลมในสมัยนั้นอย่างยิ่งยวด จึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้ามิใช่พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานพระราชทรัพย์ไว้แล้ว ชาวไทยทั้งมวลจะภาคภูมิในความเป็นชาติเอกราชอย่างสง่าผ่าเผยเช่นปัจจุบันนี้มิได้ พระราชกรณียกิจตลอดเวลา 27 ปีแห่งการครองราชย์ทรงสร้างสรรค์คุณประโยชน์อเนกอนันต์ อันเป็นรากฐานแห่งความเจริญวัฒนาทั้งสิ้น
ขอมหิทธานุภาพแห่งพระองค์ผู้ทรงอภิรักษ์ชาติไทย ทรงอภิบาลบันดาลให้พระบรมราชจักรีวงศ์ จงสถิตเสถียรสถาพรยิ่งยืนนาน และขอพระบุญญาธิการทรงปกเกศคุ้มเกล้าพสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้เกิดสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลโดยทั่วกัน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เทิดทูน ถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารตลอดไป