ศอ.บต. เตรียมจัดตั้งศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบ โรค COVID-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกรอบ พร้อมรณรงค์ประชาชนป้องกันตัวเองและฉีดวัคซีน
วันที่ 26 เมษายน 2564 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมเร่งด่วน เพื่อหารือประสานแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมหารือจัดตั้งศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบ โรค COVID-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกครั้ง หลังดำเนินการแล้วในห้วงโควิดระบาดรอบที่ 1 เพื่อติดตาม บริหารจัดการ กำหนดแนวทางการปฏิบัติ ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมนโยบายของรัฐบาลลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อคิดเป็น 3 เท่า จากรอบที่ผ่านมา โดยสาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากในประเทศ 97 เปอร์เซ็นต์ ติดเชื้อจากคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่รวมกว่า 50 รายทุกวัน มีผู้ติดเชื้อมากสุดใน จ.สงขลา จำนวน 492 ราย ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากประชาชนทยอยเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาล สงกรานต์และฮารีรายอ ซึ่งวันสงกรานต์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทุกส่วนจึงต้องตั้งรับในช่วงวันฮารีรายอที่จะถึง คาดการณ์ไว้ว่า จะเป็นวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2564 โดยประชาชนจะเริ่มทยอยเดินทางกลับล่วงหน้าก่อนวันดังกล่าว 1 สัปดาห์
เลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า วันนี้ต้องสร้างความตระหนักรู้ความรุนแรงของโรคโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประชาชนป้องกันตนเอง ใส่แมส ล้างมือ และอยู่ห่างจากพื้นที่แออัดมีจำนวนคนมาก อีกทั้งต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีความพร้อมในการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทุกคน เนื่องจากได้สั่งซื้อและทยอยส่งเพื่อให้ประชาชนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุด
ด้านนายประเวศ หมีดเส็น ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษเผยว่า วัคซีนที่ประเทศไทยนำเข้าและนำมาใช้ในขณะนี้มี 2 ชนิด คือ แอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยกระบวนการที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด มีผลการศึกษาในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นไปตามหลักการสากล โดยสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิดได้ 50- 60 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อติดเชื้อจะสามารถป้องกันการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 95
ทั้งนี้ ศอ.บต.ขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมรณรงค์ป้องกันตนเองจากโรคระบาดโควิด-19 โดยใส่แมส ล้างมือ และรักษาระยะห่าง เพื่อคนใกล้ตัวและพี่น้องทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกัน เพื่อลดอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคระบาดโควิด-19