26 พ.ค. 2564 ที่บ้านป่างาม อ.จะนะ จ.สงขลา ศอ.บต. นำภาคเอกชน และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เข้ารับซื้อฟักทองของเกษตรกรเพิ่ม 10 ตัน พร้อมประสานรับซื้อฟักทองจาก ต.ไม้แก่น อ.จะนะ 4 ตัน และ อ.เทพา จ. สงขลา อีก 4 ตัน โดยประสานหน่วยราชการ และภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมรับซื้อตั้งแต่วันที่ 15-26 พ.ค. 2564 รวมทั้งสิ้นกว่า 500 ตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่สามารถกระจายพืชผลทางการเกษตรได้ในช่วงโรคระบาดโควิด 19 เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลางไม่สามารถมารับซื้อไปขายได้ เพราะสถานที่ค้าขายหลายแห่งถูกปิด อย่างไรก็ดี ฟักทองกว่า 10 ตัน ของเกษตรกรบ้านป่างามล็อตนี้ ตกค้างมานานกว่า 2 เดือนแล้ว
นางอารมเดียน อาแว เกษตรกรบ้านป่างาม เล่าว่า ทุกปี เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ่อค้าแม่ค้าคนกลางจะขับรถมาจ่อรับซื้อทันที เพียง 10 วัน ผลผลิตก็จะถูกขายและกระจายลงสู่ตลาด แต่ปีนี้ต่างโทรมาบอกว่า ตลาดปิด บางรายบอกว่าไม่สามารถขายได้ และไม่กล้าลงทุนรับซื้อ จึงเป็นเหตุให้ผลผลิตตกค้างจำนวนมากและเป็นระยะเวลานาน ที่ผ่านมาได้ขายให้กับเพื่อนบ้านบ้างเล็กน้อย ขณะมี ศอ.บต. และ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือรับซื้อไปเกือบหมดแล้ว ขอบคุณจากใจที่นึกถึงกันและให้การช่วยเหลือ หากไม่มีคนมารับซื้อก็ต้องยอมขาดทุนและทำใจ
อย่างไรก็ตาม ฟักทองที่ ศอ.บต. รับซื้ออย่างต่อเนื่องนี้ ได้นำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ทำให้ต้องปิดหมู่บ้าน ตำบล เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ขณะนี้ทั้งสิ้น 18 หมู่บ้าน 3,572 ครัวเรือน โดย ศอ.บต.ร่วมหารือกับ ศปก.อำเภอ เพื่อให้หน่วยราชการส่วนท้องถิ่นคัดเลือกพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ส่งมอบผลผลิตเพื่อนำไปทำอาหารก่อน อาทิ ตำบลเกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง เทศบาลเมืองยะลา โรงครัวโรงพยาบาลยะลา เป็นต้น
ด้านภาคเอกชน บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ในหน่วยงานรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในครั้งนี้ด้วยนั้น จะนำฟักทองที่รับซื้อไปแจกจ่ายแก่โรงครัวที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร