กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่โดยภาพรวมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา (เมย.-มิย.2564) พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวมากจนถึงภาวะโรคอ้วนหลายรายและมีอายุน้อยยังอยู่ในวัยทำงานโดยเฉลี่ยอายุ 29 ปี ต่างจากระลอกที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและยังเป็นกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อหรือพาหะนำโรค แต่เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่นิยมการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม และ ดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติทั่วไปถึง 7 เท่า หากเป็นโรคโควิด 19
โดยคนอ้วนหรือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า นอกจากนี้ภาวะโรคอ้วนในประเทศไทย มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปหรือมากกว่า 1 ใน 3 อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และหากเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคอาเซียนพบว่าคนไทยอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซียเท่านั้น โดยมีคนไทยอ้วนถึงร้อยละ 8.5 (ประมาณ 5.6 ล้านคน) และพบว่าคนไทยร้อยละ 0.9 เข้าเกณฑ์เป็นโรคอ้วนที่พึงได้รับการผ่าตัด (ประมาณ 6.7 แสนคน)
ดังนั้นในสถานการณ์โควิด 19 ที่รุนแรงระลอกนี้ ทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะวัยทำงานต่างมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด 19 หากประมาท การ์ดตก โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิต (lifestyle) ที่มักรับประทานอาหารรสจัด เน้นหวาน มัน และเค็ม ประกอบกับไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อความปลอด ภัย จึงมีข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพ 2 เรื่องคือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารและพฤติกรรมการออกกำลังกาย ดังนี้
1. พฤติกรรมการบริโภคอาหาร เพื่อสุขภาพเสริมสร้างร่างกาย และปลอดภัยจากโรค
– ควรทานอาหารที่หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ
– เน้นทานผักหลากหลายสีและผลไม้สด
– กินอาหารไม่หวานจัด ไม่เค็มจัดและไม่มีไขมันสูง
– กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากเชื้อโรคและสารเคมี
2. พฤติกรรมการออกกำลังกายเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายและจิตใจ
– ควรเคลื่อนไหวออกแรง/ออกกำลังระดับปานกลางที่ทำให้หายใจแรงขึ้น (ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นหายใจหอบ) ทำให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน อาจออกกำลังต่อเนื่อง 30 นาทีหรือแบ่งเป็นช่วง ๆ ช่วงละ 10-15 นาที เป็นต้น
D-M-H-T-T-A คือ เว้นระยะห่าง-สวมหน้ากากทุกครั้ง-ล้างมือบ่อยๆ-ตรวจวัดอุณหภูมิ-ตรวจเร็วควบคุมไว-ไปไหนสแกนไทยชนะ ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ที่สายด่วน สบส.คอลเซ็นเตอร์1426 และเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ https://hss.moph.go.th
แหล่งข้อมูล : ผศ. นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์” หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
: ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
: กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข