ธงปาเลสไตน์ถูกนำขึ้นสู่ยอดเสาที่สหประชาชาติเป็นครั้งแรก

ธงขึ้นสู่ยอดเสาที่นิวยอร์คเป็นก้าวย่างแห่งประวัติศาสตร์ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการประณามจากอิสราเอลและสหรัฐฯ

(ภาพ) ธงถูกนำขึ้นสู่ยอดเสาในสวนกุหลาบ หลังจากประธานาธิบดีอับบาสได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

Aljazeera – ธงชาติปาเลสไตน์ได้ถูกนำขึ้นสู่ยอดเสาเป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติ หลังจากการกล่าวสุนทรพจน์โดยประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส ของคณะปกครองปาเลสไตน์ ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

ธงถูกนำขึ้นสู่ยอดเสาในสวนกุหลาบเมื่อเวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อวันพุธ (30 ก.ย.) ท่ามกลางการเฝ้ามองของนักการทูตและนักข่าวกลุ่มใหญ่

อับบาสกล่าวต่อฝูงชนด้วยการอุทิศพิธีการนี้ให้แก่ “บรรดาผู้พลีชีพ, นักโทษ และผู้ได้รับบัดเจ็บ และแก่บรรดาผู้ที่ได้สละชีวิตของพวกเขาไปในระหว่างที่พยายามจะยกธงนี้ขึ้น”

ชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคนได้มารวมตัวกันในเขตยึดครองรามัลลอฮ์ในเวสต์แบงก์ เพื่อติดตามชมการนำธงขึ้นบนจอขนาดใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นที่จัตุรัตยัสเซอร์ อารอฟัต

“มันเป็นบรรยากาศของความรื่นเริง” อิมติอาซ ตัยยับ นักข่าวของอัล-จาซีร่ารายงาน และเสริมว่า “หลายครอบครัวร่วมกันร้องเพลงประจำชาติและโบกธงปาเลสไตน์”

ความเคลื่อนไหวนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักโดยอิสราเอล และยังถูกต่อต้านจากสหรัฐฯ อีกด้วย

(ภาพ) ชาวปาเลสไตน์เฉลิมฉลองในเมืองรามัลลอฮ์ของเวสต์แบงก์ ขณะที่ธงปาเลสไตน์ถูกชักขึ้นที่สหประชาชาติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
(ภาพ) ชาวปาเลสไตน์เฉลิมฉลองในเมืองรามัลลอฮ์ของเวสต์แบงก์ ขณะที่ธงปาเลสไตน์ถูกชักขึ้นที่สหประชาชาติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ในหนังสือพิมพ์ Huffington Post อับบาสเรียกการนำธงขึ้นสู่ยอดเสานี้ว่า “นาทีแห่งความหวัง” และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้การรับรอง “ความเป็นเอกราชแห่งรัฐของปาเลสไตน์ ที่เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลโดยสันติวิธี”

มุสตาฟา บัรกูตี สมาชิกสภากลางองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์(PLO) กล่าวกับ al Jazeera โดยอธิบายว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็น “ย่างก้าวเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญก้าวหนึ่ง”

“สาระสำคัญก็คือ มันจะเป็นการมอบเกียรติยศให้แก่ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากที่ถูกอิสราเอลสังหารขณะพยายามที่จะยกธงนี้ขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครง” เขากล่าวในวันเดียวกันนั้น

สมัชชาใหญ่ได้ผ่านมติที่จะให้ยกธงนี้ขึ้นด้วยการออกเสียงข้างมากที่เห็นด้วยอย่างท่วมท้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน
การดำเนินการนี้ผ่านมาด้วยการออกเสียงเห็นชอบ 119 เสียง ในขณะที่ 45 ประเทศงดออกเสียง และแปดประเทศคัดค้าน ซึ่งในจำนวนนั้นมีอิสราเอล, สหรัฐฯ และออสเตรเลีย

แต่บัรกูตีก็ได้เรียกร้องให้ผู้นำปาเลสไตน์ดำเนินการอีกหลายอย่างเพื่อยุติการยึดครองเวสต์แบงก์, เยรูซาเล็มตะวันออก และฉนวนกาซ่า ของอิสราเอล

บัรกูตีกล่าวว่า คณะปกครองปาเลสไตน์ (PA) ควรจะ “ประกาศยุติการเจรจากับอิสราเอล เพราะการเจรจาได้เลื่อนไปตลอด” โดยให้เหตุผลว่า สราเอลได้ใช้กระบวนการสันติภาพมาเป็นฉากควันเพื่อขยายที่ตั้งนิคมชาวยิวของตนในดินแดนยึดครอง เพื่อที่จะ “ให้แนวคิดเกี่ยวกับรัฐปาเลสไตน์จบสิ้นไป”

หลังจากการยกเลิกสนธิสัญญาออสโล (Oslo Accords) และสิ้นสุดความร่วมมือด้านความมั่นคงกับกองทัพอิสราเอล สมาชิก PLO ท่านนี้กล่าวว่า ผู้นำปาเลสไตน์ควรจะ “สนับสนุนขบวนการต้านทานของประชาชน” และ “กระตุ้นให้โลกเลิกทำการค้าขายกับอิสราเอล”

ในปี 2012 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองปาเลสไตน์ในฐานะ “ชาติผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก” ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับวาติกัน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากความล้มเหลวในการผลักดันสถานะรัฐสมาชิกอย่างเต็มตัวเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น

ซุลฟีการ์ สไวร์โจ โฆษกแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์หัวซ้ายที่อยู่ในกาซ่า กล่าวว่า “สิ่งใดก็ตามที่แสดงให้โลกเห็นว่าเรามีตัวตนอยู่ และเราคือปัจจุบัน” เป็น “พัฒนาการในแง่ดี”

แต่การเน้นไปที่การใช้เครื่องมือทางการทูตเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเพื่อให้ได้รับสถานะความเป็นรัฐ “จะส่งผลเพียงแค่การใช้หมึกบนกระดาษมากขึ้นเท่านั้น” สไวร์โจบอกกับ Al Jazeera “ความต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปาเลสไตน์ที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นเอกราช และเป็นรัฐโลกวิสัยนั้นจะคงต่อสู้ในพื้นที่ต่อไปกับโครงการของไซออนิสต์”

(ภาพ) ชาวปาเลสไตน์ชมการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส ของคณะปกครองปาเลสไตน์ ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ บนจอขนาดใหญ่ในเยรูซาเล็มตะวันออก สถานที่ซึ่งเกิดการปะทะกันหลายครั้งระหว่างชาวปาเลสไตน์และกองกำลังอิสราเอลในช่วงหลายสัปดาห์นี้
(ภาพ) ชาวปาเลสไตน์ชมการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส ของคณะปกครองปาเลสไตน์ ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ บนจอขนาดใหญ่ในเยรูซาเล็มตะวันออก สถานที่ซึ่งเกิดการปะทะกันหลายครั้งระหว่างชาวปาเลสไตน์และกองกำลังอิสราเอลในช่วงหลายสัปดาห์นี้

นายกาซี อัล-ฮามาด ผู้นำอาวุโสของกลุ่มฮามาส กล่าวว่า การชักธงขึ้นนี้เป็น “ก้าวย่างที่ดี” แต่เสริมว่า “มันยังไม่เพียงพอ”

นายฮามาดบอกกับ Al Jazeera ว่า ผู้นำปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์มุ่งเน้นมากเกินไปกับ “การดำเนินการทางสัญลักษณ์” และเสริมว่า ความเป็นปึกแผ่นระหว่างเวสต์แบงก์และฮามาสเท่านั้นที่จะสามารถทำให้ชาวปาเลสไตน์ “ประจัญหน้ากับการยึดครองของอิสราเอล และสถาปนารัฐปาเลสไตน์ที่เป็นเอกราชได้”

กลุ่มฮามาสยังได้เรียกร้องให้อับบาสยกเลิกข้อตกลงทั้งหมดกับอิสราเอลระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ของเขาเมื่อวันพุธด้วย

นายฮามาดกล่าวว่า ชาวปาเลสไตน์อยู่ใน “สถานการณ์ที่ยากลำบาก” ขณะที่นิคมชาวยิวของอิสราเอลยังคงขยายอกไปอย่างรวดเร็ว และความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นที่บริเวณมัสยิดอัล-อักศอในเยรูซาเล็มตะวันออก ที่ซึ่งเกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างชาวปาเลสไตน์กับกองกำลังอิสราเอลเกือบทุกวันในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

หลังจากที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติให้นำธงขึ้นเมื่อต้นเดือนนี้ นายรอน โปรเซอร์ ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติของอิสราเอล ได้ประณามความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็น “ความพยายามอย่างชัดแจ้งที่จะปล้นยูเอ็น” โดยเรียกร้องให้มีการกลับมาเจรจาโดยตรงกันใหม่ระหว่างคณะปกครงปาเลสไตน์กับอิสราเอล