โฆษก ศอ.บต. เผย ทุกภาคส่วนเดินหน้าป้องกันโควิด-19 เชิงรุก หลังได้รับรถตรวจเชื้อนิรภัยพระราชทานในพื้นที่พร้อมเปิดตัวเพลง “รวมพลัง เพื่อวันใหม่” 2 ภาษา

โฆษก ศอ.บต. เผย ทุกภาคส่วนเดินหน้าป้องกันโควิด-19 เชิงรุก หลังได้รับรถตรวจเชื้อนิรภัยพระราชทานในพื้นที่พร้อมเปิดตัวเพลง “รวมพลัง เพื่อวันใหม่” 2 ภาษา หวังสร้างกำลังใจแก่พี่น้อง จชต. ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19ไปด้วยกัน

นายธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะโฆษก ศอ.บต. กล่าวถึง พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เชื่อมั่นว่าภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำ ศอ.บต.จะยังคงเดินหน้าช่วยเหลือประชาชน และเติมเต็มหน่วยงานทุกภาคส่วน ภายใต้สถาการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ทั้งกลุ่มโรงงานและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ทำให้มี 4 จังหวัด คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ถูกจัดอยู่ในกลุ่มควบคุมสูงสุด 11 จังหวัด อีกทั้งสำนักจุฬาราชมนตรี ได้แสดงความห่วงใย และออกข้อกำหนดในการปฏิบัติศาสนกิจของชาวไทยมุสลิม ให้ปลอดภัยจากโรคโควิด 19 กอรปกับขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ได้ดำเนินการช่วยเหลือและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้ได้ผลสูงสุด จึงอยากจะฝากย้ำ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่งได้โปรดปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัดต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดูแลป้องกันตนเองและครอบครัว ให้ปลอดภัย รวมถึงพี่น้องชาวไทยมุสลิม ให้งดปฏิบัติศาสนกิจที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อของโรคโควิด 19 ได้ ทั้งนี้ยังได้กล่าวอีกว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยพสกนิกร โดยพระราชทานรถตรวจเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน ทั่วประเทศ 40 คัน และรถวิเคราะห์ตรวจ 5 คัน ซึ่งสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ได้นำรถดังกล่าว มาให้บริการประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4 คัน ซึ่งสามารถให้บริการได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน ถือเป็นการทำงานเชิงรุกและเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ ศอ.บต. จะยังคงเดินหน้าช่วยเหลือประชาชน ในการแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงานที่กลับจากมาเลเซียเมื่อต้นปีที่แล้ว ประมาณ 20,000 ราย โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้นในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง ส่วนที่ 2 ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ประสานงานกับโรงงานอุตสาหกรรมในต่างจังหวัด ส่งพี่น้องประชาชนที่มีความประสงค์จะเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งทางศอ.บต. ได้มีการจัดส่งไปแล้วกว่า 2,000 คน และส่วนที่ 3 การเตรียมความพร้อมส่งประชาชน ไปทำงานที่มาเลเซียเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง

โฆษก ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ศอ.บต.ได้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่จัดทำเพลงขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “รวมพลัง เพื่อวันใหม่” ซึ่งเนื้อหากล่าวถึงความลำบาก และความเดือดร้อนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบ แก่พี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร บุคลากรทางการแพทย์ สื่อมวลชน ท้องที่ ท้องถิ่น และอื่นๆ ต่างทุมเททำงานอย่างเต็มที่ ซึ่ง ศอ.บต.จะขอร่วมเป็นกำลังใจ ให้ทุกฝ่ายได้ต่อสู่ฝ่าฟัน เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้เพลง “รวมพลัง เพื่อวันใหม่” เป็นการขับร้อง 2 ภาษา ได้ผ่านการเรียบเรียงเนื้อหา ทำนองเพลง และขับร้อง โดย สมชาย นิลศรี แชมป์ในรายการ Thailand’s Got Talent ซึ่งเป็นนักร้องนักดนตรีจากอำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี โดยมีนายอับดุลรอยะ เจ๊ะเต๊ะ จากอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ร่วมขับร้องในภาษามลายู ขณะนี้อยู่ในช่วงถ่ายทำมิวสิควีดีโอเพื่อนำออกเผยแพร่ใน เร็วๆ นี้

และนอกจากนี้พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ได้กำหนดให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์นโยบาย และการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และรัฐบาล รวมทั้งเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีแก่คนไทยทั้งในและต่างประเทศ และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดีและประสานงานในโครงการความร่วมมือ ความช่วยเหลือและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี การสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว มีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ เสริมสร้างภาพลักษณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น โดยองค์ประกอบของคณะทำงานดังกล่าว มีทั้งบุคลากรของ ศอ.บต. หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชนจากภาคเอกชน ที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ยังได้สนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดทำโครงการการขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ต่อแนวนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย บนพื้นฐานความต้องการของชุมชน รวมถึงสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเกื้อกูลต่อการพูดคุยสันติสุข ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนได้สนับสนุนองค์กรผ่านประชาสังคม 22 องค์กร และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ศอ.บต. จะร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก รวม 42 องกร สำหรับองค์กรภาคประชาสังคม ที่ประสบผลสำเร็จ สามารถแก้ไขปัญหา สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างความสุขให้ชุมชน อาทิ องค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดยะลา โดยกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ของชุมชนบ้านบังนังกูแว อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ขณะนี้ ครัวเรือนมีรายได้จากการจำหน่ายเสื้อผ้า และส่งออกในจังหวัดต่างๆ และในอนาคตจะเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการประเทศมาเลเซียอีกด้วย และกลุ่มเยาวชนพัฒนารักสันติบ้านโคก เป็นกลุ่มเยาวชนชายขอบ ไม่มีที่ยืนในสังคม ศอ.บต. เข้าไปช่วยสนับสนุน ในการทำเกษตรผสมผสาน และดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจุบัน เยาวชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดตั้งเป็น “โคกโคตรฟาร์ม” เป็นการพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจร และสามารถช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบางได้อย่างมีความสุขต่อไป