ศอบารีย๊ะ หะยีเซะ หรือเชฟย๊ะ เชฟหญิงวัย 39 ปี ห้องอาหารอัลธาราแห่งโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค
อาจจะเคยมีสักครั้งหรือหลายๆ ครั้ง ที่คุณมีโอกาสเป็นรับประทานอาหารในห้องอาหารหรือโรงแรม เมื่อจานอาหารถูกวางตรงหน้า คุณจะรู้สึกว่ามันดูพิถีพิถันและสวยงาม พาให้นึกถึงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้มันจากคนที่อยู่เบื้องหลัง เรากำลังพูดถึงคนเบื้องหลังที่ปรุงเมนูถูกปากรสอร่อย หรือที่เรียกว่าเชฟ
มีเชฟท่านหนึ่งตอบคำถามที่ว่า อะไรคือเสน่ห์ของการเป็นเชฟ อะไรทำให้คุณชอบอาชีพนี้ เขาตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าประทับใจว่า “เรื่องคือในหนึ่งปีพวกคุณจะมีวันวาเลนไทน์ครั้งเดียว มีวันแม่ วันพ่อ วันฮาโลวีน วันคริสมาสต์ และวันปีใหม่ปีละครั้งเดียว แต่สำหรับผม ทุกๆครั้งที่มองไปที่โต๊ะอาหาร ผมได้พบกับวันวาเลนไทน์ทุกวัน ผมเห็นวันแม่ วันเกิด วันคริสมาสต์และวันปีใหม่แทบทุกวัน สิ่งนั้นคือความพิเศษในแบบที่อาชีพอื่นๆแทบจะไม่มีโอกาสได้เจอ สำคัญมากกว่านั้นในขณะที่คุณมองไปที่โต๊ะของลูกค้า คุณจะพบว่าอาหารของคุณเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศเหล่านั้น อาหารของคุณเหมือนมีเวทมนต์ มันบันดาลให้หลายคนยิ้ม ทำให้หลายคนอารมณ์ดีขึ้น ทำให้บางคนผ่อนคลายและหายเครียด ทำให้คู่รักรักกันยิ่งขึ้น และใครจะรู้ว่ามันอาจทำให้เพื่อนสนิทกลายเป็นอะไรที่มากกว่านั้น การได้อยู่เหนืออารมณ์และความรู้สึกของใครต่อใคร การได้เป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศแห่งความสุข การเข้าใจในความสำคัญในหน้าที่และศักดิ์ศรีของวิชาชีพการทำอาหาร นั่นคือเหตุผลที่ผมอยู่ในจุดนี้ และสำหรับคนที่ทำอาหารไม่ว่าจะทำเป็นอาชีพหรือทำเล่นๆ ทำเพื่อคนที่คุณรัก หรือทำเพื่อเหตุผลใดๆก็ตาม คุณสัมผัสได้ว่าการทำอาหารนั้นช่างมีเสน่ห์และทรงพลัง”
นั่นคือมุมมองที่สะท้อนความรู้สึกของคนเป็นเชฟ ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของเชฟฮาลาลที่พับลิกโพสต์มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ในครั้งนี้
ศอบารีย๊ะ หะยีเซะ หรือ เชฟย๊ะ เชฟหญิงวัย 39 ปี ห้องอาหารอัลธาราแห่งโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ด้วยบุคลิกที่ดูใจเย็นและพูดน้อยเธอบอกถึงที่มาของการทำอาชีพเชฟสั้นๆว่า “เพราะเป็นคนชอบและรักการทำอาหาร พอเราทำอาหารออกมาแล้วดี เห็นคนชื่นชอบในอาหารที่เราทำ มีความสุขกับการรับประทานอาหารของเรา เราก็มีความสุข” เชฟจึงนับเป็นงานที่มีเสน่ห์ในตัวเอง และนั่นเป็นเหตุผลให้ เชฟย๊ะ ตัดสินใจเลือกเรียนคหกรรมในสาขาอาหารและโภชนาการ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อจบได้เดินทางกลับไปอยู่บ้านเดิมที่นราธิวาส โดยใช้เวลานั้นไปเรียนเพิ่มเติมด้านคอมพิวเตอร์และอาหารอยู่ 1 ปี ก่อนจะมาเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งเชฟของห้องอาหารฮาลาล ที่โรงแรมเฟิร์ส เป็นระยะเวลา 5 ปี และเข้ามาทำงานที่ห้องอาหารฮาลาลอัลธารา โรงแรมเจ้าพระยาปาร์คเมื่อประมาณ ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน
เมื่อ เอ่ยถึงเชฟแล้วหลายคนคงนึกถึงภาพผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับ เชฟย๊ะ เธอกล่าวว่าแม้ในปัจจุบันจำนวนเชฟผู้ชายมีเยอะกว่า แต่เชฟหญิงก็มีจำนวนไม่น้อยและเริ่มมีบทบาทมากขึ้น และบางคนมีความสามารถก้าวไปไกลในระดับนานาชาติ ทำชื่อเสียงให้ประเทศก็มี แต่ทั้งนี้เชฟฮาลาลทั้งหมดยังมีไม่มากและนั้นยิ่งทำให้เชฟฮาลาลหญิงมีจำนวน น้อยลงไปด้วย
ในขณะที่เธอ มองว่าทิศทางครัวฮาลาลนั้นมีโอกาสเปิดกว้างมากขึ้น “สมัยนี้สังคมอิสลามเริ่มเปิดมากขึ้น มีพฤติกรรมออกมารับประทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น ทั้งในลักษณะครอบครัว และมีทั้งที่เป็นแบบกลุ่ม องค์กร บริษัทต่างๆที่เป็นมุสลิม ดังนั้นการมีครัวฮาลาลจะรองรับลูกค้าได้ตรงจุด และการมีเชฟ ฮาลาลประจำห้องอาหารฮาลาลจึงมีความจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า”
เมื่อถามถึงหลักในการทำงาน เชฟย๊ะ บอกว่า “สำคัญที่การซื่อสัตย์ต่ออาชีพที่เราทำ ทำอาหารออกมาให้ดีที่สุด ถึงแม้จะอยู่ในภาวะอารมณ์ไหนก็แล้วแต่ เมื่อถึงเวลาปรุงอาหารต้องตัดทุกอย่างแล้วโฟกัสกับงานตรงหน้าทำออกมาให้ดี ที่สุด นั่นหมายถึงมาตรฐานการทำอาหารต้องคงที่ ถึงแม้มาตรฐานของอารมณ์เราจะไม่คงที่ก็ตาม” (เชฟศอบีย๊ะ กล่าวติดตลก) และในการทำงานเชฟก็ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลาต้องรอบรู้ ศึกษาการทำอาหารให้ได้หลากหลาย เช่น อาหารยุโรป จีน ญี่ปุ่น มาประกอบกันหลายๆแนว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาจากตำรา ดูรายการทีวี หรือเรียนเพิ่มเติม เพื่อนำมาพัฒนาฝีมือของเรา และเป้าหมายในการทำงาน ทุกคนก็ตั้งเป้าไปถึงขึ้นสูงสุดของตำแหน่งเชฟ ซึ่งต้องมีประสบการณ์มากพอจะจัดการกับปัญหาที่แต่ละตำแหน่งจะต้องเจอและ รับมือ
ซึ่งเชฟได้ให้ ข้อมูลเพิ่มเติมคร่าวๆเกี่ยวกับตำแหน่งระดับขั้นของเชฟจากลำดับเริ่มต้นไป ถึงตำแหน่งสูงสุด ได้แก่ cook helper, commis chef, demi chef, Chef de partie , sous chef และ executive chef ซึ่งเชฟศอบารีย๊ะอยู่ในตำแหน่ง Chef de partie มีหน้าที่ดูแลในส่วนของห้องอาหารฮาลาล
ทั้งนี้ ห้องฮาลาลอัลธาราที่เป็นอาหารไทย – มุสลิม อาหารไทย เมื่อถามถึงเมนูอาหารไทยที่ลูกค้าชื่นชอบ เชฟย๊ะ บอกว่า อาหารไทยเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคลในเรื่องของรสชาติที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมนูอาหารที่ลูกค้าสั่งเราจะปรุงให้เป็นรสชาติกลางๆ แต่คงความเข้มข้นในแบบอาหารไทย และลูกค้าสามารถแจ้งได้ว่าต้องการรสชาติ แบบไหนเช่น ลดเผ็ด เพิ่มหวาน เป็นต้น
สำหรับ เมนูของห้องอาหารอัลธาราที่ลูกค้าชอบเป็นพิเศษ คือผัดไทยกุ้งนาง (ราคา 220 บาท) จุดเด่นจะเป็นกุ้งแม่น้ำตัวใหญ่ และมีรสชาติที่ถูกใจลูกค้า รวมทั้งมีเมนูอาหารอินเดีย และข้าวผัดอินโดนีเซีย ที่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าด้วย และที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้นั่นคือ ข้าวหมก ที่ดูเหมือนเป็นเมนูธรรมดาทั่วไป แต่บางทีถ้าไม่ใช่แหล่งขายก็อาจจะหารับประทานได้ยาก ซึ่งห้องอัลธาราก็มีเมนูนี้ไว้บริการ และเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเมนูอาหารไทยอื่นๆให้ลูกค้าได้เลือกสั่งมากกว่า 30 เมนู
ท้ายสุดเชฟย๊ะได้ฝากถึงลูกค้ามุสลิมและต่างศาสนิกให้มาลองแวะมาชมมาชิมอาหารที่ ห้องอาหารอัลธารา โดยตนพร้อมให้บริการทำอาหารที่เป็นเมนูชื่นชอบของทุกคนและอยากให้มาติชมหรือ เสนอแนะเพื่อจะได้นำมาพัฒนาและปรับปรุงการทำอาหารและบริการด้านอื่นๆต่อไป
ถ้าใครอยากหาร้านนั่งสบายๆในบรรยากาศส่วนตัวเงียบสงบ พร้อมชิมรสมือจากเฟชหญิงคนนี้แวะไปใช้บริการ ที่ผู้ปรุงอาหารปรุงด้วยความสุขและใจรัก เชื่อว่าคุณจะได้ความสุขกลับไปแน่นอน