องค์กรฮาลาลมุสลิมผนึกกำลัง ให้การรับรองฮาลาลแก่ร้านอาหารมุสลิม 3,500 ร้านทั่วประเทศ ไอแบงก์พร้อมสนับสนุนสินเชื่อ 300 ล้านบาท
วานนี้ (13 ต.ค.) ที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เพลินจิต สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว “โครงการให้การรับรองฮาลาลแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านอาหารฮาลาล 3,500 ร้านทั่วประเทศเพื่อรองรับ AEC” เพื่อยกระดับร้านอาหารฮาลาลเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ประธานสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีมุสลิมเป็นผู้ประกอบการนับแสนราย แต่ที่มีการรับรองฮาลาลเพียงแค่หลักพันราย ดังนั้นในปีนี้เราตั้งเป้าหมายจะสนับสนุนให้มีการรับรองฮาลาลให้ได้ถึง 3,500 ราย ตามโครงการให้การรับรองฮาลาลแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านอาหารฮาลาล 3,500 ร้านทั่วประเทศเพื่อรองรับ AEC” โดยจะมีการอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงการลดในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ นอกจากนี้จะมีการจัดทำแอพพลิเคชันมารองรับในส่วนนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวโดยจะมีการแนะนำชุมชนมุสลิม มัสยิด ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว
“สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 39 จังหวัด และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันผนึกกำลังในการที่จะยกระดับผู้ประกอบการร้านอาหาร ให้ได้รับการรับรองฮาลาลจำนวน 3,500 ร้านทั่วประเทศ โดยภายใต้ภายใต้โครงการนี้ทางสถาบันมาตรฐานฮาลาลและ สกอท.ได้สร้างความเข้าใจไว้กับตัวแทนกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั้ง 39 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว โดยจะเริ่มดีเดย์ออกตรวจตราตามกระบวนการรับรองในวันที่ 14 ตุลาคม 2558 โดยจะเริ่มทำการรับรองในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและกระบี่เป็นการนำร่อง แล้วจะทยอยออกตรวจตราให้การอบรมและรับรองให้ครบ 39 จังหวัดภายในสิ้นปีนี้โดยมีเป้าหมายร้านค้าที่จะต้องให้ผ่านการรับรองจำนวน 3,500 ร้าน”
“การทยอยกันจัดการอบรมดังกล่าว จะมีการทยอยจัดการอบรมในแต่ละภูมิภาคให้เข้าใจในหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานร้าน อาหารฮาลาล จากนั้นจะมีการตรวจประเมิน เพื่อออกใบรับรองมาตรฐานฮาลาล เพื่อให้สอดคล้องเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ฮาลาลไทย พร้อมนี้เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือที่จะสนับสนุนทางการเงินแก่ ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าว
ด้านนายสติ ศังขวณิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่มงานธุรกิจรายย่อย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยังคงมุ่งเน้นในพันธกิจ ที่จะทำธุรกิจกับพี่น้องมุสลิมในประเทศ และธุรกิจต่างๆ ที่อยู่รอบๆ พี่น้องชาวไทยมุสลิมที่เป็นธุรกิจฮาลาล”
“โครงการสินเชื่อ ยกระดับร้านอาหารมุสลิม เป็นโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ภายใต้หลักการมุรอบาฮะฮ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมทั่วประเทศ ที่เข้ารับการตรวจประเมินผล มาตรฐานร้านอาหารที่ผู้ประกอบการเป็นมุสลิม โดยเราให้ประเภทสินเชื่อเป็น สินเชื่อธุรกิจรายย่อย MSMEs แบบไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อธุรกิจรายย่อย MSMEs แบบมีหลักประกัน โดยให้วงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 50,000 สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยมีกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี”
“ โดย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ให้ความร่วมมือพร้อมสนับสนุนทางเงิน ภายใต้โครงการ “สินเชื่อยกระดับร้านอาหารมุสลิม” วงเงินรวม 300 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้”
“สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และนับถือศาสนาอิสลาม จะต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อายุของผู้ขอสินเชื่อเมื่อรวมกับระยะเวลาผ่อนชำระจะต้องไม่เกิน 65 ปี เป็นผู้ประกอบกิจการร้านอาหารมุสลิมมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีขึ้นไป และต้องเป็นร้านค้ามุสลิมในประเทศที่เข้ารับการตรวจประเมินมาตรฐานร้านอาหาร ฮาลาลที่จากโครงการให้การรับรองฮาลาลแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านอาหารฮาลาล 3,500 ร้านทั่วประเทศเพื่อรองรับ AEC ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอรับการบริการโครงการได้ตามสถานที่เขารับการ อบรมหรือสำนักงานสาขาทั่วประเทศ” นายสติ กล่าว.