ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (29)

2.7 พรรคต้องให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาภายใต้บังคับในเขตการศึกษา 2 ให้สอดคล้องกับการศึกษาภาคบังคับของศาสนาอิสลาม เพื่อให้มีประสิทธิผลอย่างจริงจัง

2.8 พรรคต้องให้กระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงส่งเสริมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้สม่ำเสมอและจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

2.9 พรรคจะไม่ปฏิบัติต่อชาวไทยมุสลิมในสิ่งที่ฝืนความรู้สึกในด้านศาสนาโดยเด็ดขาด เช่น กรณีพระพุทธรูปที่จัดตั้งในโรงเรียนควนโดน จังหวัดสตูล และก่อนที่พรรคจะดำเนินการใดที่เกี่ยวกับศาสนา พรรคจะต้องปรึกษาหารือสำนักจุฬาราชมนตรีก่อน

2.10 ยกฐานะของจุฬาราชมนตรีให้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักรา 2488(ฉบับแรก)

ข้อ 3. พรรคต้องแก้ไขปรับปรุงและปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับกฎหมายอิสลามทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่

ก. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488

ข. พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ สตูล พุทธศักราช 2489

ค. พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พุทธศักราช 2490

เพราะกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ด๊งกล่าวเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่มีผลปฏิบัติตามหลักการของอิสลาม เป็นเหตุให้ชาวไทยมุสลิมในประเทศไทย คนมุสลิมในประเทศอาเซี่ยนและโลกมุสลิมทั่วไป มองว่ารัฐบาลไทยไม่มีความจริงใจต่อศาสนาอิสลาม

พรรคต้องแก้ไขในเรื่องสิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับศาสนาอิสลามให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามหลักการของอิสลามอย่างแท้จริงเท่าที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้คนไทยมุสลิมทั้งประเทศได้ใช้กฎหมายอิสลามอย่างเท่าเทียมกัน โดยถือแนวของกฎหมายอิสลามในประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศศรีลังกา และประเทศอาเซี่ยนอื่นๆ ดังตัวอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสเตียน

1. ประเทศฟิลิปปินส์มีกระทรวงกิจการอิสลามโดยเฉพาะ มีรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการเป็นผู้บริหารกิจการศาสนาอิสลาม(ประเทศไทยในระยะแรกยังไม่ต้องมีกระทรวงกิจการศาสนาอิสลาม เพียงแต่ให้ยกฐานะกรมการศาสนาขึ้นเป็นกระทรวงหรือทบวง โดยมีกรมกิจการศาสนาพุทธ กรมกิจการศาสนาอิสลาม กรมกิจการศาสนาคริสต์ ฯลฯ ก็จะเป็นที่พอใจมุสลิมทั่วโลกแล้ว)

2. มีศาลศาสนาอิสลาม

2.1 มีศาลศาสนาอิสลามประจำภาคทั้ง 5 ภาค ทั่วประเทศ

2.2 มีศาลศาสนาอิสลามประจำท้องถิ่น จำนวน 51 ศาล คือ

ในภาคที่ 1 มีจำนวน 2 ศาล

ในภาคที่ 2 มีจำนวน 8 ศาล

ในภาคที่ 3 มีจำนวน 10 ศาล

ในภาคที่ 4 มีจำนวน 12 ศาล

ในภาคที่ 5 มีจำนวน 15 ศาล

2.3 มีศาลอุทธรณ์

3. มีประมวลกฎหมายอิสลามต่างหาก

…………ฯลฯ……………

ประเทศศรีลังกา(ชนส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาพุทธ)

1. มีกระทรวงกิจการศาสนาอิสลามโดยเฉพาะ

2. มีศาลศาสนาอิสลามทั่วประเทศประมาณ 52 ศาล

3. คดีของศาลชั้นต้นสามารถอุทธรณ์ ฎีกา ไปยังศาลสูงอีกด้วย

ในปัญหาหัวข้อที่ 3 นี้ พรรคจะต้องดำเนินการภายใน 6 เดือน หลังจากจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้ว ในชั้นแรกอาจจัดให้มีการสัมมนาระดับผู้นำมุสลิมทั่วประเทศ นักวิชาการฝ่ายมุสลิม นักกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาข้อยุติ เพื่อจะได้นำไปแก้ไขตามนโยบายของพรรคที่ได้ประกาศไว้โดยชัดเจนหรือตามข้อตกลงกับกลุ่ม

ข้อ 3. พรรคต้องให้รัฐบาลส่งเสริมภาษามลายูเป็นภาษาที่สอง เพราะเป็นภาษาที่ใช้กันมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในประเทศของประชาคมอาเซี่ยน

ข้อ 4. พรรคต้องให้กระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์เผยแพร่คำชี้ขาดของสำนักจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับการปฏิบัติของทางราชการที่ขัดกับหลักการของอิสลามโดยด่วน

ข้อ 5.พรรคจะต้องจัดงบประมาณแผ่นดินจากงบกลางประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินอุดหนุนมัสยิดที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วทั่วประเทศ สำหรับปีงบประมาณแรกหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วเท่านั้น โดยให้ “กลุ่ม” เป็นผู้พิจารณาเสนอว่าจังหวัดใดควรจะได้รับเงินอุดหนุนเท่าใดภายในวงเงินดังกล่าว

ข้อ 6. พรรคจัดงบประมาณแผ่นดินประจำปี เพื่อเป็นเงินอุดหนุนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังกวัด โดยถือเกณฑ์จำนวนมัสยิดที่จดทะเบียนแล้วเป็นหลัก โดยเฉลี่ยให้มัสยิดละไม่ต่ำกว่า 200 บาท เช่น จังหวัดยะลา สมมุติว่ามีมัสยิดที่จดทะเบียนแล้วอยู่ในควบคุมดูแลของกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาจำนวน 150 แห่ง คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาจะได้รับเงินอุดหนุนปีละ 30,000 บาท

ข้อ 7. พรรคต้องจัดงบประมาณแผ่นดินประจำปีเงินอุดหนุนฐานะของจุฬาราชมนตรีจากปีละ 30,000 บาท ให้เหมาะสมกับตำแหน่งประมุขของศาสนาอิสลาม

สำหรับข้อ 6 และ ข้อ 7 นี้ เมื่อแก้ไขกฎหมายเรียบร้อยแล้วก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับใหม่
นโยบายด้านการบริหาร

ข้อ 1. พรรคควรกำหนดนโยบายเรื่องการกระจายอำนาจให้ถึงมือปาะชาชนในท้องถิ่นให้มีส่วนปกครองตนเอง โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้วาราชการจังหวัด เช่นเดียวกับกรุงเทพฯและพัทยา

ข้อ 2. ให้ตัวแทนของกลุ่มที่เป็นมุสลิมและได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีที่นั่งในคณะรัฐมนตรี เพื่อบริหารกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง อาจจะเป็นรัฐมนตรีว่าการหรือช่วยว่าการก็ได้ เพื่อจะได้มีส่วนช่วยพรรคในการผลักดันนโยบายของพรรคที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยมุสลิมหรือศาสนาอิสลาม ให้สัมฤทธิ์ผลตามข้อตกลงกับกลุ่ม

ตัวแทนของกลุ่มที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มทุกครั้ง

ปัญหานี้ พรรคควรแถลงนโยบายให้ชัดเจนว่า หากพรรคได้จัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมในคณะรัฐบาลทุกสมัย พรรคจะต้องสำรองเก้าอี้รัฐมนตรีให้แก่ ส.ส. มุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 1 คน เพื่อแสดงให้ชาวมุสลิมเห็นว่าพรรคมีความจริงใจต่อชาวมุสลิม เหมือนกับประเทศอียิปต์ที่รัฐบาลจะสำรองเก้าอี้แก่ชาวคริสเตียนอย่างน้อย 10 % ทุกครั้งเมื่อมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

นโยบายเกี่ยวกับพรรคการเมือง

ข้อ 1. ให้พรรคเปิดที่ทำการสาขาพรรคทุกจังหวัด มีสมาชิกของกลุ่มที่เข้าสังกัดพรรคตั้งแต่ 1000 คน เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้แล้วพรรคจะต้องเปิดที่ทำการ “ศูนย์อำนวยการ” ของสาขาพรรคในภาคใต้ตอนล่างอีก 1 แห่ง เพื่อคอยควบคุมดูแลสาขาต่างๆให้เป็นเอกภาพ

ข้อ 2. “กลุ่ม” จะไม่เข้าอยู่ในอาณัติหรือภายใต้อำนาจของบุคคลใดภายในพรรค “กลุ่ม” จะต้องขึ้นตรงต่อหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อขจัดปัญหาการแบ่งกลุ่มในระดับผู้นำพรรค

ข้อ 3. ในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น พรรคจะต้องฟังมติของ “กลุ่ม” เป็นอันดับแรก หากพรรคมีความเห็นเป็นอย่างอื่น แต่เมื่อทางกลุ่มทบทวนแล้วยืนยันมติเดิม พรรคจะต้องปฏิบัติตามมติของ “กลุ่ม”

ข้อ 4. พรรคจะต้องช่วยเหลือสนับสนุนการเลือกตั้งของ “กลุ่ม” (ในนามพรรค) ในระดับท้องถิ่นทุกระดับ

ข้อ 5. ให้ตัวแทนของ “กลุ่ม” เข้าร่วมเป็นกรรมการกลางหรือกรรมการบริหารพรรคอย่างน้อย 2 คน  โดย “กลุ่ม” จะเป็นผู้คัดเลือกส่งรายชื่อให้พรรค

ข้อ 6. การรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งทุกระดับของ “กลุ่ม” พรรคจะต้องให้ความช่วยเหลือเต็มความสามารถ เช่น การปราศรัยหาเสียง ต่อต้านอิทธิพลอำนาจมืด และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ

ข้อ 7. พรรคจะต้องให้รัฐบาลแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจากคนไทยนับถือศาสนาอิสลามตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีอยู่ 10% ฉะนั้น สมาชิกวุฒิสภาที่นับถือศาสนาอิสลามจะต้องได้รับการแต่งตั้งประมาณ 30-35 คน

ข้อ 8. พรรคจะต้องช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ส. ของ “กลุ่ม” แม้นหากต่อไปไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. แล้วก็ตาม

ในการประชุมของ “กลุ่ม” ครั้งที่ 1 – 3 ทาง “กลุ่ม” คาดว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปต้นปี 2530 หรืออย่างเร็วคงปลายปี 2529 “กลุ่ม” จะมีโอกาสเผยแพร่แนวความคิดและอุดมการณ์ของ “กลุ่ม” ให้ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทราบและเข้าใจจุดยืนและแนวทางการเมืองในระบบรัฐสภา เพื่อประชาชนจะได้เห็นด้วยและสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ของ “กลุ่ม” จะต้องได้รับการคัดกรองจากสมาชิกของ “กลุ่ม” เสียก่อน แล้วเสนอต่อคณะกรรมการกลางของ “กลุ่ม” เพื่อเสนอให้กับพรรคต่อไป

แต่เป็นที่น่าเสียดาย นายกรัฐมนตรี(พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 และกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 24 กรกฎาคม 2529 ทำให้ “กลุ่ม” ไม่สามารถที่จะดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามกระบวนการของ “กลุ่ม” ได้ตามเป้าหมาย